Governance Token คือ โทเคนที่ DeFi Protocol สร้างขึ้นเพื่อใช้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่นสิทธิในการโหวตเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆในแพลตฟอร์มตลอดจนใช้เป็น Reward จากการใช้งาน ซึ่ง Governance Token นี้จะซื้อขายในตลาดรองอย่าง Exchange ต่างๆ
โดย Governance Token เหล่านี้จะถูกสร้างขึ้นภายใต้เชนที่ DeFi Protocol นั้นๆเลือกใช้อย่างเช่นถ้าเลือกใช้เชนของ ETH ก็จะสร้างขึ้นภายใต้เทคโนโลยี ERC-20 หรือบางแพลตฟอร์มที่ใช้ Binance Smart Chain ก็จะใช้เทคโนโลยี BEP-20 เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : IDO และ IFO การระดมทุนรูปแบบใหม่บน DEX
จำนวน Governance Token ที่สร้างขึ้นจะขึ้นอยู่กับว่า DeFi Protocol นั้นๆจะ Mint ขึ้นมาจำนวนเท่าไรโดยไม่จำเป็นต้องมีสินทรัพย์ดิจิทัลรองรับก็ได้ เราจึงได้เห็นแพลตฟอร์มเปิดใหม่มีการแจก Governance Token ให้กับผู้ใช้งานตลอดจนแจกจ่ายให้กับทีมงานนักพัฒนาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
อาจมองว่า Governance Token ไม่มีประโยชน์ใดๆนอกจากไปเทรดเก็งกำไรใน Exchange แต่ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถประเมินมูลค่าของ Governance Token เพื่อวิเคราะห์ในการลงทุนได้เช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : 7 Blockchain Games ที่กำลังร้อนแรงอยู่ในเวลานี้
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับโทเคนอีกประเภทหนึ่งที่ใช้ภายใน DeFi Protocol ของตัวเองซึ่งอาจจะเรียกว่า Native Token อย่างเช่นผู้ที่นำเหรียญมาวางใน Pool เพื่อที่จะทำ Yield Farming ภายใน Uniswap ก็จะได้รับ LP Token หรือผู้ที่นำเหรียญมาปล่อยกู้ใน Compound ก็จะได้รับเหรียญ cETH
โทเคนเหล่านี้ทาง DeFi Protocol จะแปลงจากสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผู้ใช้งานนำมาวางไว้ในแพลตฟอร์มเช่นนำเหรียญ USDT BUSD หรือ ETH มาเป็น Native Token ซึ่งทำงานภายใต้ Smart Contract ของ DeFi Protocol นั้นๆ และหลังเมื่อสิ้นสุดการใช้งานทางแพลตฟอร์มอาจจะแปลง Native Token ให้เป็น Governance Token เพื่อนำไปขายทำกำไรใน Exchange ต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : คู่มือเริ่มต้นลงทุน Yield Farming สำหรับมือใหม่
สิทธิประโยชน์ของ Governance Token
การที่ Governance Token คือ Reward ที่ได้จากการใช้งาน DeFi Protocol ทำให้คนส่วนใหญ่ที่ได้รับเหรียญ Governance Token มาก็จะทำการขายทำกำไรทันที จึงทำให้แพลตฟอร์มต้องสร้างสิทธิประโยชน์ที่ให้กับผู้ถือเหรียญเพื่อจูงใจให้ยังคงถือ Governance Token นั้นๆต่อไปแทนที่จะขายทำกำไร โดยส่วนมากจะประกอบไปด้วย
1.สิทธิในการโหวตเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆใน DeFi Protocol
2.นำเหรียญไปวางทำ Staking หรือ Yield Farming เพื่อรับรายได้อีกทาง
3.เผาเหรียญทิ้งเพื่อลดซัพพลายให้เหรียญ Governance Token มีมูลค่ามากขึ้น
กล่าได้ว่า Governance Token มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับการถือหุ้นของบริษัทที่ให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นสามารถออกเสียงโหวตได้ มีการจ่ายปันผล ตลอดจนการทำกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) เมื่อบริษัทหรือแพลตฟอร์มนั้นๆเติบโตขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : พรีวิว 7 DeFi Protocol สัญชาติไทยที่น่าจับตา
หลักการวิเคราะห์เหรียญ Governance Token เพื่อการลงทุน
หากเราเปรียบเทียบ Governance Token คือ การถือหุ้นของบริษัทหรือแพลตฟอร์มที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือธุรกรรมเกิดขึ้นจริง เราก็สามารถจะประเมินมูลค่าของ Governance Token ที่ซื้อขายในตลาดรองได้เช่นกัน
โดยเวบไซต์ Glassnode ได้อธิบายทฤษฎีที่นำมาใช้วิเคราะห์มูลค่าของ Governance Token เอาไว้สี่รูปแบบคือ
มูลค่าเหรียญรวมที่ล๊อกไว้ (TVL)
ก็คือมูลค่าของเหรียญที่ผู้ใช้งานนำมาวางไว้ใน DeFi Protocol ซึ่งจะถูกล๊อกไว้อยู่ในแพลตฟอร์มนั้นๆ หาก Protocol ไหนที่มีมูลค่าของเหรียญที่นำมาเก็บไว้เพิ่มสูงขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อราคาของเหรียญ Governance Token ได้เช่นกัน
ตัวอย่างเช่นได้จากมาร์เกตแคปของ AAVE และ COMP ที่มีแนวโน้มเติบโตไปพร้อมกับมูลค่าของ TVL ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามวิธีการวิเคราะห์แบบนี้อาจไม่ได้ผลทุกครั้งเพราะกรณีของ YFI ที่มาร์เกตแคปสูงขึ้นแต่ TVL ออกทรงๆตัว
รายได้ที่เกิดขึ้นใน Protocol (Revenue)
รายได้ที่เกิดขึ้นใน Protocol ก็คือตัวสะท้อนว่าแพลตฟอร์มนั้นๆมีมูลค่าการทำธุรกรรมต่างๆเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด โดยรายได้ที่เกิดขึ้นก็คือค่าธรรมเนียมการใช้งานแพลตฟอร์มนั้นเอง อย่างเช่น DEX ก็จะมีค่าธรรมเนียมในการแลกเปลี่ยนเหรียญ Lending มีรายได้จากค่าธรรมเนียมปล่อยกู้
หากแพลตฟอร์มใดสร้างรายได้ในระดับสูงก็จะทำให้เกิดกระแสเงินสดภายในมากขึ้นซึ่งจะเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือโทเคนของแพลตฟอร์มนั้นๆมากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น AAVE ที่มีมาร์เกตแคป 5,200 ล้านดอลลาร์ รายได้ย้อนหลังสามสิบวันอยู่ที่ 2.5 ล้านดอลลาร์ จึงมีสัดส่วนมาร์เกตแคปต่อรายได้อยู่ที่ 2,080 สูงกว่า COMP ที่ทำได้ 1,040
มูลค่าเหรียญที่ล๊อกไว้เทียบกับรายได้ที่เกิดขึ้น
อีกวิธีในการเปรียบเทียบมูลค่าของ DeFi Protocol นั่นคือการเปรียบเทียบมาร์เกตแคปกับรายได้ที่เกิดขึ้นในแพลตฟอร์ม ซึ่งจะช่วยเปรียบเทียบความสามารถในการสร้างรายได้เมื่อเทียบกับมูลค่าเหรียญที่ถูกล๊อกไว้
ตัวอย่างเช่นกรณีของ AAVE กับ COMP ที่มีรายได้เท่ากันแต่ AAVE มีมูลค่าเหรียญที่ล๊อกไว้มากกว่า เท่ากับว่า COMP มีความสามารถในการสร้างรายได้เมือ่เทียบกับมูลค่าเหรียญที่ล๊อกไว้ที่ดีกว่า AAVE พูดง่ายๆคือถ้ามูลค่าเหรียญที่ล๊อกไว้ของสองแพลตฟอร์มเท่ากัน COMP จะสร้างรายได้ต่อหน่วยได้ดีกว่า AAVE
มูลค่าตลาดเทียบกับจำนวนผู้ใช้งาน
จำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม (Users) ก็เป็นตัวชี้วัดถึงมูลค่าของ DeFi Protocol โดยสามารถนำมาเปรียบเทียบกับมูลค่าตลาดเพื่อวิเคราะห์ถึงมูลค่าของแพลตฟอร์มนั้นๆได้
อย่างเช่นกรณีของ COMP ที่มีจำนวนผู้ใช้งานรวมมากกว่า AAVE แต่เมื่อนำมาเทียบกับมาร์เกตแคปจะเห็นได้ว่าตัวเลขของ COMP อยู่ที่ 7,900 แต่ AAVE สูงกว่าอยู่ที่ 750,000 แบบนี้เราพอจะตีความได้ว่า COMP ยังมีมูลค่าตลาดเทียบกับจำนวนผู้ใช้งานต่ำกว่าความเป็นจริง (Undervalue)
ขณะที่ AAVE มีมูลค่าตลาดสูงกว่าแต่จำนวนผู้ใช้งานน้อยกว่าจึงอาจมองได้ว่ามูลค่าตลาดเทียบกับผู้ใช้งานสูงเกินจริง (Overvalue)
เห็นได้ว่ามีวิธีการประเมินมูลค่าของ Governance Token อยู่หลายวิธีเลยทีเดียวจึงไม่อาจมองว่า Governance Token เป็นเพียงแค่การขายทำกำไรหลังจากได้รับเป็น Reward มาเท่านั้น แต่ถ้าเราเลือกเหรียญที่มาจาก DeFi Protocol ที่ดีและมีศักยภาพก็มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีเช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของ DeFi Project