ยื่นภาษี

คู่มือยื่นภาษี 63 เช็คสิทธิลดหย่อน-ขอคืนภาษี สำหรับ มนุษย์เงินเดือน-ผู้มีรายได้

โดย SM1984

ยื่นภาษี 63 คนทำงานประจำ มนุษย์เงินเดือน และผู้ที่มีรายได้ เป็นหน้าที่ต้องรวบรวมเอกสารภาษีทั้งหมดเพื่อยื่นภาษี หรือแบบ ภ.ง.ด. ให้กับกรมสรรพากรเป็นประจำทุกปี ปีนี้มีกฎเกณฑ์และสิทธิลดหย่อนใหม่เพิ่มขึ้น ไปเช็คสิทธิของตัวเองดูว่าต้องเสียภาษีเท่าไรและจะสามารถขอลดย่อนได้เท่าไรบ้าง

อย่าลืม!! ปีนี้พิเศษตรงที่สามารถทำเรื่องยื่นภาษีได้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนทุกช่องทาง เนื่องจากรัฐบาลต้องการแบ่งเบาภาะประชาชน หลังจากเกิดปัจจัยลบทางเศรษฐกิจมากมายตั้งแต่ต้นปี

ใครบ้างต้องเสียภาษีและเสียเท่าไหร่บ้าง

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรม ปีภาษี 2562 เป็นการจัดเก็บแบบขั้นบันได 5-35% ของรายได้สุทธิ หรือ รายได้ทั้งหมดหักค่าลดหย่อนทุกอย่างแล้ว  โดยผู้ที่มีรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่ปีจะเป็นผู้ได้รับยกเว้นภาษี

หรือหากเป็นผู้ที่มีรายได้ที่มาจาก เงินเดือนหรือค่าจ้างทั้งปีรวม 310,000 บาท หักค่าใช้จ่ายส่วนตัว 100,000 บาท (วงเงินหักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) บวกกับค่าลดหย่อนส่วนตัวอีก 60,000 บาท คุณก็จะมีรายได้สุทธิ 150,000 บาท ก็เท่ากับว่าคุณคือผู้ได้รับยกเว้นภาษี 

ถ้ารวมรายได้ทั้งปีไม่ถึง 310,000 บาท หรือมีเงินเดือนไม่เกินเดือนละ 25,833.33 บาท คุณก็ไม่จำเป็นต้องไปหาสิทธิลดหย่อนภาษีอื่นๆ มาเพื่อประหยัดภาษี (แต่สำหรับใครไม่ได้มีรายได้พึงประเมินจากเงินเดือนหรือค่าจ้าง การหักค่าใช้จ่ายจะมีสัดส่วนและวิธีการที่แตกต่างกันออกไป

ข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมสรรพากร >> คลิกเพื่อดูการหักค่าใช้จ่าย)

เช็คสิทธิลดหย่อนเพื่อประหยัดภาษี

สำหรับผู้ที่คำนวณแล้วมีรายได้เกิน 310,000 บาทต่อปี  สามารถหาสิทธิลดหย่อนเพื่อช่วยประหยัดภาษีได้  ซึ่งสิทธิการลดหย่อนจะประกอบไปด้วยสิทธิเหล่านี้

ค่าลดหย่อนส่วนตัว

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท ลดได้ทันทีที่ยืนแบบแสดงรายได้
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส ลดหย่อนได้ 60,000 บาท ต้องเป็นกรณีคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรส และไม่มีรายได้  หรือมีรายได้แต่เลือกคำนวณภาษีพร้อมกัน ในส่วนนี้ควรเตรียมเอกสารทะเบียนสมรสไว้ด้วย
  • ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท ต่อลูก 1 คน นอกจากนี้ยังมีค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี 2561 จะได้รับสิทธิลดหย่อนเพิ่มอีก 60,000 บาท (ตามนโยบายส่งเสริมให้มีลูกเพิ่มขึ้น) ส่วนนี้ควรเตรียมเอกสารสูจิบัตร หรือใบรับรองบุตรไว้ยืนพร้อมการ ยื่นภาษี
  • ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ลดหย่อนได้ไม่เกินปีละ 60,000 บาท (หากเป็นคุณสามีสามารถนำค่าใช้จ่ายนี้ไปหย่อนในรายการของตัวเองได้ ในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้)
  • ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ซึ่งต้องอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน (รวมพ่อแม่ของคู่สมรส) แต่หากมีพี่น้องและพี่น้องของเราใช้สิทธิ์ไปแล้ว เราจะไม่สามารถใช้สิทธิตรงนี้ได้ ในส่วนนี้ให้เตรียมเอกสารรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
  • ค่าอุปการะคนพิการหรือคนทุพพลภาพ ลดหย่อนได้ 60,000 บาทต่อคน หากเป็นผู้พิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ และระบุชื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการ  ส่วนคนทุพพลภาพ  จะต้องเป็นผู้ทุพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน  มีใบรับรองแพทย์ที่ออกในปีภาษีขอใช้สิทธิหักลดหย่อน  และมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ 

ค่าลดหย่อนกลุ่มประกัน เงินออมและการลงทุน

  • ประกันสังคม ที่ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาทต่อปี
  • เบี้ยประกันชีวิต หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
  • เบี้ยประกันสุขภาพ หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท แต่เมื่อรวมกับประกันชีวิตแล้วจะต้องไม่เกิน100,000 บาท
  • เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ได้ไม่เกิน 15,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตคู่สมรส หากคู่สมรสไม่มีเงินได้ 10,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้และต้องไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และ กองทุน RMF จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้และไม่เกิน 490,000 บาทจะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเอาไปคำนวณภาษี
  • เงินสะสมกองทุน กบข.และกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือ ไม่เกิน 500,000 บาท
  • เงินสะสม กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 13,200 บาท
  • กองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยต้องซื้อและถือครองเอาไว้อย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน ( ปีสุดท้ายสำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนในการ ยื่นภาษี )
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชี้หรือ RMF ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท และต้องลงทุนต่อเนื่องถึงอายุ 55 ปี

ในค่าลดหย่อนกลุ่มประกัน เงินออมและการลงทุน จะมีเอกสารรับรองเพื่อใช้ในการ ยื่นภาษี ซึ่งบางแห่งอาจมีจดหมายส่งมาถึงบ้าน หรือบางแห่งอาจให้คุณดาวน์โหลดเอกสารเองจากเวปไซต์ ลองตรวจเช็คเอกสารส่วนนี้ด้วย

ค่าลดหย่อนด้านอสังหาริมทรัพย์

  • ลดหย่อนดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย สำหรับผู้ที่กู้เงินซื้อบ้านหรือคอนโด  สามารถนำดอกเบี้ยที่จ่ายไปมาลดหย่อนได้ตามจริง  แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • ลดหย่อนภาษีโครงการบ้านหลังแรกปี 2558 ในกรณีที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท  คุณสามารถนำราคาบ้านมาลดหย่อนได้ปีละ 4% ในเวลา 5 ปี รวม 20%
  • ลดหย่อนภาษีโครงการบ้านหลังแรกปี 2562 สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท  สามารถนำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 200,000 บาท

เงินบริจาค

  • เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาสถานพยาบาลของรัฐสนับสนุนการกีฬาและเงินบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ สามารถหักได้ 2 เท่า ตามที่จ่ายจริงแต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 10% ของรายได้พึ่งประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆแล้ว
  • เงินบริจาคช่วยเหลืออุทกภัยน้ำท่วมจากพายุปาบึก ลดหย่อนได้ตามบริจาคจริง
  • เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย
  • เงินบริจาคให้พรรคการเมือง ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

ในส่วนของเงินบริจาคต้องเป็นการบริจาคที่เกิดขึ้นในรอบปี 2562 ลองตรวจเอกสารยืนยันการบริจาคให้ครบ เพื่อนำมาประกอบการ ยื่นภาษี

ค่าลดหย่อนพิเศษตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

  • ซื้อสินค้าการศึกษาและกีฬา ไม่เกิน 15,000 บาท
  • ซื้อหนังสือ ไม่เกิน 15,000 บาท
  • ซื้อสินค้าโอทอป ไม่เกิน 15,000 บาท
  • ท่องเที่ยวเมืองหลัก 15,000 บาท ท่องเที่ยวเมืองรอง 20,000 บาท (แต่รวมกันทั้งเที่ยวเมืองหลักและเมืองรองไม่เกิน 20,000 บาท)
  • ค่าซ่อมบ้านหรือรถ กรณีประสบภัยจากพายุปาบึก พายุโพดุล พายุคาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตามจริง กรณีค่าซ่อมบ้านลดหย่อนได้ตามค่าใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนซ่อมรถ ตามค่าใช้จ่ายแต่ไม่เกิน 30,000 บาท

ยื่นภาษีเสร็จเตรียมรับภาษีคืนหรือจ่ายเพิ่ม

หลังจากที่ยื่นเอกสารเอกสารภาษีครบ จะมีสิ่งที่เกิดขึ้นสองทางคือได้รับภาษีคืนจากสิทธิต่างๆที่ได้ยื่นไปหรืออาจต้องเสียภาษีเพิ่ม  เนื่องจากภาษีที่เสียไปในรอบปี  ยังไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด หรือเงินภาษีซึ่งหัก ณ ที่จ่ายตลอดทั้งปีที่ผ่าน ยังน้อยกว่าจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายตามเกณฑ์รายได้ที่สรรพากรกำหนด 

กรณีต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ต้องทำอย่างไร??

ชำระด้วยเงินสด กับเจ้าหน้าที่สรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ต่างๆ จ่ายด้วยบัตรเครดิต ต้องไปยื่นชำระกับเจ้าหน้า ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ แต่เราต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมการจ่ายผ่านบัตรเอง โดยมีเพียง 9 จังหวัดเท่านั้นที่รับชำระด้วยบัตรเครดิต คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ระยอง นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี และก็ไม่ใช่ทุกสาขาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนั้น  

ชำระด้วยเช็คหรือดราฟ โดยมีเช็คที่ชำระได้อยู่ 4 ประเภทคือ เช็คธนาคารแห่งประเทศไทย (เช็คประเภท ก.) , เช็คที่มีธนาคารค้ำประกัน (เช็คประเภท ข.) , เช็คที่ธนาคารเซ็นสั่งจ่าย (เช็คประเภท ค.) และ เช็คที่ผู้มีหน้าที่ชำระเงินภาษีอากรเป็นผู้เซ็นสั่งจ่าย และใช้ชำระโดยตรง (เช็คประเภท ง.) 

แต่การชำระด้วยเช็คหรือดราฟต์ จะมีเงื่อนไขที่สำคัญคือเรื่องเวลา โดยห้ามใช้เช็คลงวันที่ล่วงหน้า ห้ามใช้เช็คหรือดราฟต์โอนสลักหลัง  และห้ามใช้เช็คหรือดราฟต์ที่มีจำนวนเงินสูงกว่าจำนวนภาษีอากรที่ต้องชำระ

ชำระด้วยธนาณัติ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ 

จ่ายเงินก้อนไม่ไหวขอผ่อนชำระภาษีได้ 3 งวด

กรมสรรพากรกำหนดว่า ถ้ามีจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไปสามารถขอผ่อนชำระภาษีได้ โดยสามารถผ่อนชำระได้ 3 งวด แบ่งจ่ายงวดละเท่าๆ กัน  โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม

โดยสามารถติดต่อขอผ่อนชำระกับเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา  โดยสามารถ ยื่นภาษี หรือยื่นแบบแสดงรายการ พร้อมกับชำระเงินในงวดแรกได้เลย

แต่หากไม่ได้ชำระภายในเวลาที่กำหนดในงวดใดงวดหนึ่ง จะถูกตัดสิทธิการผ่อนชำระภาษีทันที  และต้องเสียเงินเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ

ไม่จ่ายภาษีมีโทษอย่างไร?

กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษีและยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี

หากไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท

กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท

กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : มนุษย์เงินเดือนจะรวยจากตลาดหุ้นได้อย่างไร?

Related Posts