วิเคราะห์พื้นฐาน DeFi

วิธีการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของ DeFi Project

โดย SM1984

ช่วงที่ผ่านมาเราจะได้เห็นโปรเจกต์ด้าน DeFi (Decentralized Finance) ออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้แต่คนไทยเองก็ได้พัฒนาผลงานออกมาไม่น้อย อย่างไรก็ตามเราได้เห็นหลายๆโปรเจกต์ที่ประสบความล้มเหลวสร้างความเสียหายให้ผู้ลงทุนและบางโปรเจกต์ก็เข้าข่ายหลอกลวง (Scam)

หลายคนอาจจะคิดไปว่าเราไม่สามารถ วิเคราะห์พื้นฐาน DeFi ได้ แต่จริงแล้วยังมีดัชนี้ชี้วัดต่างๆที่บ่งบอกถึงพื้นฐานของแต่ละ Defi Project ได้เช่นกัน ก่อนที่จะคิดตัดสินใจลงทุนอย่างน้อยควรจะศึกษาสิ่งเหล่านี้เสียก่อน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเงินที่เราลงทุนไปจะไม่สูญเปล่า

ตรวจดูมูลค่าเงินลงทุนที่อยู่ในโปรเจกต์นั้นๆ (TVL)

แม้ว่าจะมี DeFi Project เกิดขึ้นนับร้อย แต่เราควรจะเลือกลงทุนในโปรเจกต์ที่มีผู้ลงทุนจำนวนมากหรือมีเงินลงทุนอยู่ในนั้นเป็นมูลค่าที่สูงมากกว่าโปรเจกต์ที่มีผู้เล่นเพียงจำนวนน้อย เพราะการที่มีผู้เล่นจำนวนมากเข้ามาลงทุนอย่างน้อยเป็นการพิสูจน์ว่าโปรเจกต์ดังกล่าวมีคุณภาพและความน่าเชื่อถืออยู่ระดับหนึ่งรวมถึงควรจะเป็นโปรเจกต์ที่เปิดดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง

บทความที่เกี่ยวข้อง : ภัยอันตรายใน DeFi ที่อาจทำให้คุณหมดตัวได้

ตัวเลขที่สามารถชี้วัดได้คือมูลค่าเงินลงทุนที่ถูกล๊อกไว้ในโปรเจกต์นั้นๆหรือ Total Value Lock ซึ่งเราสามารถตรวจเช็คได้ที่เวบไซต์ defipluse.com ซึ่งเป็นเวบไซต์กลางที่คอยรวบรวมสถิติต่างๆของวงการ DeFi ซึ่งโปรเจกต์ที่ติดอยู่ในสิบอันดับแรกถือว่ามีความน่าสนใจในการเข้าลงทุน

เช็คจำนวนผู้ใช้งานและปริมาณการซื้อขาย

สำหรับสาย Yield Farming ใน Decentralized Exchange หรือ DEX มีสถิติที่จะต้องพิจารณาก่อนลงทุนก็คือจำนวนผู้ใช้งานและปริมาณการซื้อขาย (Trading Volume) เนื่องจากที่มาของผลตอบแทนจากการนำเงินลงทุนใน Pool ก็คือวอลลุ่มซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญในแต่ละคู่นั่นเอง เช่น USDT/BNB ถ้าหากมีคนนำสองเหรียญดังกล่าวมาซื้อขายบน DEX ทางระบบก็จะนำส่วนต่างราคาที่เกิดขึ้นมาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับผู้นำเงินมาฝากไว้ใน Pool

บทความที่เกี่ยวข้อง : Binance Smart Chain และสนามแข่งขัน DeFi Protocol

ถ้าหากจำนวนผู้ใช้งานมีไม่มากและวอลลุ่มซื้อขายน้อย ในทางปฎิบัติผลตอบแทนที่จ่ายหรือ APR จะต้องน้อยกว่าโปรเจกต์ที่มีวอลลุ่มซื้อขายในระดับสูง แต่ทั่วไปแล้ว DEX ที่เกิดใหม่มักจะจูงใจนักลงทุนด้วย APR สูงๆแต่มากจากการแจก Governance Token ให้ฟรีซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ยั่งยืน ผู้ลงทุนจึงควรลงทุนในโปรเจกต์ที่จ่ายผลตอบแทนที่ให้ APR ตามพื้นฐานที่เกิดขึ้นจริงมากกว่า

มีจุดขายในตัวเองและพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆต่อเนื่อง

การคัดเลือก DeFi Project ไม่ได้ต่างอะไรกับการเลือกหุ้นที่จะต้องหากิจการที่มีจุดขายในตัวเอง มีความโดดเด่นทางด้านโปรดักต์ตลอดจนมีการพัฒนาธุรกิจอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในโลกของ DeFi ก็เช่นกัน โปรเจกต์ที่ไม่ได้พัฒนาโปรดักต์ให้แตกต่างจากรายอื่นคอยแต่ก๊อปปี้โค้ดจากโปรเจกต์ดังๆและสร้าง APR สูงๆมาล่อนักลงทุนอาจจะน่าสนใจลงทุนเพียงระยะสั้นเท่านั้น ระยะยาวโปรเจกต์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างไรก็ดูน่าสนใจกว่า

ควรจะผ่านการออดิทแล้ว

ในโลกของการลงทุนแบบดั้งเดิมจะมีบริษัทบัญชีที่ตรวจสอบสถานะทางการเงิน แต่ในโลกของ DeFi จะมีบริษัทออดิทที่จะทำการตรวจโค้ดของโปรเจกต์นั้นๆว่ามีความโปร่งใสและเป็นไปตามที่ประกาศไว้กับผู้ใช้งานหรือไม่ โดยออดิทที่มีชื่อเสียงและตรวจสอบโค้ดให้กับโปรเจกต์ใหญ่ๆมาแล้วมีชื่อว่า Certik 

บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 ความเสี่ยงของการลงทุน Yield Farming ใน DeFi

เหตุผลเพราะ DeFi ทำงานด้วย Smart Contract ซึ่งไม่ได้ควบคุมการทำงานด้วยมนุษย์แต่ใช้โค้ดคอมพิวเตอร์ทำงานแทน หากโค้ดที่อยู่ในโปรเจกต์มีความไม่โปร่งใสหรือสามารถแก้ไขได้จะเกิดเป็นช่องว่างให้เจ้าของโปรเจกต์ปิดเวบและเชิดเงินหนีไปได้

ทั้งหมดนี้คือการ วิเคราะห์พื้นฐาน DeFi Project ที่นักลงทุนทุกคนควรต้องวิเคราะห์ให้ละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน อย่าลืมว่าในโลกของ DeFi ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลที่จะไปเรียกร้องความเสียหายได้ นักลงทุนจึงต้องดูแลตัวเองให้ดีเท่านั้น

Related Posts