หุ้นกลุ่มฟินเทค

หุ้นกลุ่มฟินเทค การเงินแห่งอนาคตที่แฝงอยู่ในทุกอุตสาหกรรม

โดย Admin .

หุ้นกลุ่มฟินเทค คือผู้ให้บริการทางการเงินที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจทำให้บริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินสามารถให้บริการทางการเงินได้ ทำให้โลกของการเงินไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แต่เฉพาะธนาคารอีกต่อไป แต่อาจจะเป็นบริษัททางด้านเทคโนโลยีที่มาเป็นผู้เล่นใหม่แทน

เทคโนโลยีการเงินที่มา Disrupt การเงินดั้งเดิม

ฟินเทค หรือเทคโนโลยีการเงิน (Financial Technology) คือการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้กับบริการทางการเงินเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงโปรดักต์ทางการเงินได้ง่ายขึ้นและมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลงตลอดจนสถาบันการเงินสามารถลดต้นทุนและเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น

กระแสของฟินเทคเกิดขึ้นมาได้หลายปีแล้วจากสตาร์ทอัพในช่วงแรกสามารถเติบโตจนก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นให้นักลงทุนสามารถเข้าลงทุนได้นอกจากบริษัททางด้านฟินเทคโดยตรงแล้วยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่ได้นำเอาฟินเทคเข้าไปเป็นส่วนสำคัญอย่างเช่นอีคอมเมิร์ซที่พัฒนาระบบการชำระเงินเป็นของตัวเองก็ถือว่าเป็นบริษัทฟินเทคได้เช่นกัน

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : วิเคราะห์การเติบโต “หุ้นกลุ่มกัญชา” และ Plant Based Food

หรือแม้แต่บริษัท Apple ที่ได้ให้บริการรับฝากเงินและให้ดอกเบี้ยกับผู้ที่เปิดบัญชี Apple Pay ก็ถือว่าได้นำเอาฟินเทคมาปรับใช้กับธุรกิจ ทำให้ฟินเทคกลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่มีโอกาสเติบโตในยุคนี้

ฟินเทครูปแบบต่างๆ

ฟินเทคมีอยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบหรือจะกล่าวได้ว่าระบบการเงินดั้งเดิมเป็นอย่างไรก็สามารถนำฟินเทคเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งได้เสมอ แต่โดยหลักแล้วบริษัทด้านฟินเทคมักจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจดังนี้

เทคโนโลยีการชำระเงิน (Payment)

การชำระเงินถือเป็นธุรกรรมการเงินที่เบสิคที่สุดและมีวอลลุ่มมากที่สุดแต่มี Pain Point หลายจุดอย่างเช่นค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างประเทศ ทำให้มีฟินเทคที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการชำระเงินเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างเช่น Paypal ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มชำระเงินออนไลน์อันดับสามของโลก หรือผู้ให้บริการ Digital Wallet ต่างๆซึ่งจะทำงานร่วมกับธนาคารในการให้บริการแบบเฉพาะทาง

หุ้นกลุ่มฟินเทค

บริหารความมั่งคั่ง (Wealth Tech)

หุ้นกลุ่มนี้จะแบ่งเป็นสองแบบคือกลุ่มให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ที่เน้นการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการซื้อขายอย่างเช่น Robinhood ซึ่งเป็นแอปเทรดหุ้นในสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมการเทรดกับลูกค้าหรือจะเป็นกลุ่ม Robo Advisor หรือบริการจัดการเงินลงทุนลูกค้าบนออนไลน์ ซึ่งจุดแข็งของหุ้นกลุ่มนี้คือบริการที่รวดเร็วและค่าธรรมเนียมซื้อขายต่ำ

ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง Buy Now Pay Later

ถือเป็นนวัตรกรรมการเงินที่มาใหม่และมาแรงที่สุดในตอนนี้ โดยหลักการของ Buy Now Pay Later จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่สามารถทำบัตรเครดิตได้สามารถที่จะผ่อนจ่ายค่าสินค้าต่างๆได้ โดยบริษัทฟินเทคที่รับผิดชอบจะทำงานร่วมกับสถาบันการเงินในการบริหารจัดการหนี้ของลูกค้าโดยไม่ต้องไปขอไลเซ่นส์ทางการเงินเองทำให้ยังคงเป็นบริษัทเทคโนโลยีไม่ใช่บริษัทการเงิน หรือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหลายแห่งก็หันมาพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวของตัวเอง โดยหุ้นที่ให้บริการ Buy Now Pay Later รายใหญ่ก็คือ Affirm ที่มีตลาดหลักอยู่ในสหรัฐอเมริกา

กู้ยืมออนไลน์ Digital Lending

ปกติแล้วการที่เราจะขอกู้เงินจะสามารถทำได้ผ่านธนาคารเท่านั้นแต่ปัจจุบันได้มีบริษัทฟินเทคที่เปิดให้คนทั่วไปรวมถึงเอสเอ็มอีสามารถขอกู้เงินได้ผ่านทางแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่ธนาคารโดยสามารถทำธุรกรรมต่างๆได้ทางออนไลน์ทั้งหมดส่วนวิธีการประเมินเครดิตเพื่อปล่อยกู้จะไม่ใช้เกณฑ์ทั่วไปของธนาคารแต่จะใช้ข้อมูลต่างๆที่มีอยู่ในออนไลน์เช่นโซชียลมีเดีย

รวมถึงประวัติการทำธุรกรรมการเงินบนออนไลน์และข้อมูลการขายสินค้าบนอีคอมเมิร์ซสามารถนำมาใช้ประเมินวงเงินกู้ได้ทั้งหมดทำให้ Digital Lending สามารถเข้าถึงคนที่ไม่เคยได้รับบริการทางการเงินได้ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนมาก

ธนาคารดิจิทัล

คือธนาคารรูปแบบใหม่หรือ Virtual Bank ที่ไม่มีสาขาแม้แต่แห่งเดียวแต่เปิดให้สามารถทำธุรกรรมต่างๆได้เหมือนกับธนาคารแต่อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหมด ผู้เล่นในกลุ่มนี้มีตั้งแต่ธนาคารแบบดั้งเดิมที่เข้ามาเปิดตลาดใหม่และผู้เล่นใหม่ที่ไม่ใช่ภาคธนาคาร จุดเด่นของธนาคารดิจิทัลคือต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลงเพราะไม่มีสาขาทำให้สามารถเสนอดอกเบี้ยที่สูงกว่าธนาคารปกติได้

หุ้นกลุ่มฟินเทค

ETF ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจฟินเทค

ETF ที่เน้นลงทุนในธุรกิจด้านฟินเทคคือ FINX ซึ่งมีนโยบายลงทุนตามดัชนี Indxx Global FinTech Thematic Index ครอบคลุมมากกว่า 50 บริษัทในธุรกิจฟินเทค โดยพอร์ตฟอร์ลิโอหลักจะเน้นบริษัทในสหรัฐอเมริกาและยุโรป และอีกกองทุนคือ ARK Fintech Innovation ETF หรือ ARKF ซึ่งเน้นลงทุนในบริษัทฟินเทคขนาดเล็กที่อาจจะยังมีสถานะเป็นสตาร์ทอัพอยู่

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : 6 ข้อสงสัยสำคัญกับการลงทุนต่างประเทศ

แนวโน้มการเติบโตของบริษัทฟินเทค

การที่ธุรกิจต่างๆมีการนำเทคโนโลยีการเงินเข้าไปปรับใช้ตลอดจนการเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานในวงกว้างมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เคยเข้าถึงบริการทางการเงินซึ่งมีจำนวนนับพันล้านรายทั่วโลกทำให้ฟินเทคมีโอกาสที่จะขยายตัวไปได้อีกมาก โดยรายได้ของบริษัทฟินเทคส่วนใหญ่จะมาจากส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรม

อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีการเงินบางประเภทอาจจะขัดแย้งกับการกำกับดูแลจากหน่วยงานทางการเงินซึ่งอาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ รวมถึงการเข้าถึงบริการการเงินที่ง่ายกว่ารูปแบบปกติอาจทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่จนนำไปสู่วิกฤติทางการเงินได้

จุดแข็ง

** ฟินเทคถูกนำไปใช้ในแทบจะทุกอุตสาหกรรมจึงยังมีอัตราการเติบโตสูง

**  กลุ่มคนที่ยังไม่เข้าถึงระบบการเงินในประเทศกำลังพัฒนายังมีอีกจำนวนมากซึ่งกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้ฟินเทค

จุดอ่อน

** บางครั้งฟินเทคอาจถูกกฎหมายการเงินกำกับดูแลจนไม่สามารถให้บริการได้

** ภาวะฟองสบู่และกฎเกณฑ์ที่ไม่เข้มงวดอาจทำให้เกิดวิกฤติทางการเงินได้

หุ้นกลุ่มฟินเทค ยังคงเป็นเมกะเทรนด์ที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคตและธุรกรรมการเงินยังเป็นบริการพื้นฐานที่คนทั่วโลกจำเป็นต้องใช้งานจึงอาจจะมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจโลกไม่มากนัก แต่จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงินแทน

สนใจเรียนหลักสูตรออนไลน์ด้านการลงทุนคลิ๊กที่นี้

Related Posts