Yield Farming คือ

5 ความเสี่ยงของการลงทุน Yield Farming ใน DeFi

โดย SM1984

Yield Farming คือ การลงทุนที่กำลังมาแรงในเวลานี้ด้วยผลตอบแทนที่สามารถทำได้ถึงระดับหลักร้อยเปอร์เซ็นต์ต่อปีและบางช่วงเวลาก็สามารถทำได้ถึงระดับพันเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ตัวเลขที่ดูเยอะนี้ทำให้เกิดกระแสของการแห่มาลงด้วยการทำ Yield Farmimg ในโลกของ DeFi กันอย่างมาก

แต่ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงโดยเฉพาะโลกของ DeFi ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน ก่อนที่จะเริ่มต้นลงทุนจึงควรต้องศึกษาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นดังนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง : พรีวิว 7 DeFi Protocol สัญชาติไทยที่น่าจับตา

ความเสี่ยงจากการถูก Hack

แม้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะสามารถป้องกันการถูก Hack ได้แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงดังกล่าวอยู่ดีเพราะผู้ให้บริการ Wallet หรือ Exchange ที่ไม่มีระบบ Security ที่ดีพออาจเกิดช่องว่างให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาทำการ Hack ดึงเงินใน Wallet ออกไปจนหมดได้เช่นกัน จึงควรเลือกลงทุนผ่าน Exchange หรือ Wallet ที่มีมาตราฐานสูง

อย่าลงทุนในโปรเจกต์ที่ยังไม่ได้ Audit

โปรเจกต์ DeFi ที่มีมาตราฐานและความน่าเชื่อถือในระดับสูงจะต้องได้รับการตรวจสอบโค้ดหรือ Audit จาก Third Party เสียก่อนว่า Smart Contract ที่เขียนไว้สามารถแก้ไขภายหลังได้หรือไม่ เพราะถ้ามีการแก้ไขได้ จะเป็นช่องว่างให้เจ้าของแพลตฟอร์มสามารถทุจริตกับธุรกรรมต่างๆของลูกค้าได้เช่นดึงเงินออกจาก Wallet ได้โดยที่เจ้าของเงินไม่รู้ตัว หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการลงทุนจนทำให้เกิดความเสียเปรียบ จึงไม่ควรลงทุนในโปรเจกต์ที่ยังไม่ถูก Audit

ถูกชักชวนให้ลงทุนใน Scam Project

แม้ว่าการถูกหลอกให้ลงทุนในโปรเจกต์ที่เข้าข่ายหลอกลวงหรือ Scam จะซาลงไปค่อนข้างมากแล้วหลังจากยุคของ ICO ที่เฟื่องฟู และพื้นฐานของ DeFi Project จะดูดีกว่า ICO จากการที่อย่างน้อยก็ต้องมีแพลตฟอร์มพร้อมใช้งานแล้ว ต่างจาก ICO ที่อาจจะขายเพียงแค่ Whitepaper 

อย่างไรก็ตามในโลกออนไลน์ยังเห็นโปรเจกต์ Scam ชักชวนให้ลงทุนใน DeFi อย่างต่อเนื่อง โดยชูเรื่องของผลตอบแทนจำนวนมากเพื่อล่อนักลงทุน จึงต้องระมัดระวังหลงไปลงทุนใน DeFi Protocol ที่ดูไม่น่าเชื่อถือเพราะมีโอกาสที่จะปิดเวบและหนีไปอย่างไร้ร่องรอยพร้อมกับเงินของเรา

ความผันผวนของราคาเหรียญ

แม้ว่า Yield Farming คือ การลงทุนที่อาจจะดูไม่มีความเสี่ยง แต่แท้จริงแล้วยังมีความเสี่ยงในเรื่องของความผันผวนของราคาเหรียญที่เรานำมาทำการฟาร์มหรือที่เรียกว่า Impermanent Loss กล่าวคือเป็นผลขาดทุนชั่วคราวที่เกิดขึ้นจากราคาเหรียญคริปโตที่นำไปทำ Yield Farming มีราคาในตลาดที่ลดลง 

ตัวอย่างเช่น นำเหรียญ BTC มาทำการฟาร์มคู่กับ ETH แต่ราคา BTC ในตลาดปรับตัวลดลงจนทำให้แพลตฟอร์มต้องเพิ่มสัดส่วนของเหรียญ ETH ใน Pool จนทำให้จำนวน BTC ที่เราใส่ลงไปใน Pool ลดลง 

การลดความเสี่ยงในส่วนนี้สามารถทำได้โดยเลือกใช้ Stablecoin ทำฟาร์มเท่านั้นเนื่องจากมีความผันผวนของราคาที่ต่ำ 

บทความที่เกี่ยวข้อง : พรีวิว “โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน สิริฮับ” real estate-backed ICO ดีลแรกของไทย

ค่าธรรมเนียมที่แพง

อีกหนึ่งความเสี่ยงที่หลายคนมองข้ามไปนั่นคือค่าธรรมเนียมในการใช้แพลตฟอร์ม โดยหากเป็นเชนของ Ethereum จะเรียกว่าค่า Gas ซึ่งค่าธรรมเนียมที่จะผันแปรไปตามมูลค่าและความซับซ้อนของธุรกรรม เช่น วงเงินลงทุนจำนวนมากและยังมีปัจจัยเรื่องของจำนวนธุรกรรมที่เกิดขึ้นในระบบของ Ethereum หากมีจำนวนธุรกรรมที่สูงก็จะทำให้ค่า Gas สูงขึ้น จนทำให้ผลตอบแทนที่ควรจะได้จากการทำ Yield Farming ลดลงไปอย่างมาก เรื่องของค่าธรรมเนียมจึงเป็นปัจจัยที่นักลงทุนไม่ควรจะมองข้าม 

การที่มีผู้พัฒนา DeFi Protocol หน้าใหม่เกิดขึ้นจะมีส่วนทำให้ค่าธรรมเนียมการใช้งานมีโอกาสปรับลดลง รวมถึงผู้เล่นเดิมที่ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างภายในให้มีค่าธรรเนียมที่ถูกลงด้วยเช่นกัน

นี่คือ 5 ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากคิดที่จะเข้าลงทุนใน Yield Farming นักลงทุนที่จะเข้ามาควรคิดถึงผลขาดทุนที่จะเกิดขึ้นก่อนที่จะคิดถึงผลตอบแทนที่สูง

** คอร์สออนไลน์  “มือใหม่เริ่มลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” นอกจากเรียนทฤษฎีทางออนไลน์แล้วยังได้เรียนสดทาง Zoom กับผู้สอนทุกสัปดาห์อีกด้วย รายละเอียดคลิ๊กที่นี้

Related Posts