สมาคมฟินเทคประเทศไทย ส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังรัฐบาลเพื่อเสนอมาตรการช่วยเหลือฟินเทคสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยมีสามใจความสำคัญคือเรื่องการสนับสนุนเงินทุน สนับสนุนแพลตฟอร์มของคนไทยและส่งเสริมการใช้ E-signature
เรื่อง เสนอมาตรการช่วยเหลือฟินเทคสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมช่วงวิกฤตโควิด-19
เรียน รัฐบาลไทย
สมาคมฟินเทคประเทศไทย ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 และดำเนินการเรื่อยมา โดยมีพันธกิจหลักเพื่อส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาและผลักดันอุตสาหกรรมฟินเทคของประเทศไทย โดยในปัจจุบันสมาคมฟินเทคประเทศไทยมีสมาชิกทั้งหมด 111 ราย
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 โรคติดต่อที่ร้ายแรงและยังไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเจอกับปัญหามากมาย นับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากทั้งในด้านการดำรงชีวิตและด้านระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้กิจกรรมทางธุรกิจหยุดเคลื่อนไหวและผลผลิตทางเศรษฐกิจลดลง
รวมถึงผู้ที่ทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มสัญชาติไทย ที่กำลังมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยตามแนวทาง “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นผลให้ผู้ที่ทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตครั้งนี้เช่นกัน
ทางสมาคมฯ จึงเล็งเห็นความสำคัญของฟินเทคสตาร์ทอัพที่เป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของชาติ ให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีทางการเงินที่สามารถแข่งขันและเทียบเท่ากับนานาประเทศได้ อีกทั้งสตาร์ทอัพเหล่านี้สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศและยังช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยได้อีกด้วย
ในปัจจุบันสตาร์ทอัพของต่างประเทศเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจของไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางการเงินผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น บริการชำระเงิน บริการประกันภัย บริการการปล่อยสินเชื่อ เป็นต้น หากสตาร์ทอัพของไทยไม่ได้รับการสนับสนุนการใช้แพลตฟอร์มจากคนไทยด้วยกันเอง สตาร์ทอัพจากต่างประเทศเหล่านี้จะเข้ามาควบคุมโครงสร้างพื้นฐานโดยผูกขาดตลาดในประเทศไปโดยสิ้นเชิงส่งผลกระทบทางด้านลบทั้งต่อภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน
เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าฟินเทคสตาร์ทอัพ รวมถึงผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีนั้นคือกลุ่มธุรกิจที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์วิกฤตนี้ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐให้ผ่านจากวิกฤตนี้ไปได้ จะส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างงานและสูญเสียธุรกิจที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีทางการเงินของประเทศไปด้วย
สมาคมฟินเทคประเทศไทย จึงใคร่ขอเสนอมาตรการในการขอความช่วยเหลือฟินเทคสตาร์ทอัพ รวมถึงผู้ประกอบการด้านนวัตกรรม ดังต่อไปนี้
มาตรการ/นโยบายช่วยเหลือสตาร์ทอัพช่วงวิกฤต
1. มาตรการแหล่งเงินทุน Soft Loan (เงินกู้ผ่อนปรน) แบบ Fast Track
1.1 รัฐปล่อย Soft Loan สำหรับ Startup ที่ยังไม่เคยระดมทุน
เสนอให้จัดตั้งกองทุนขึ้น แล้วแต่งตั้งกองทุน Startup ที่มีอยู่ในปัจจุบันเข้ามาช่วยบริหารและพิจารณาอนุมัติวงเงินให้ Startup ที่ยังไม่เคยระดมทุน โดยเลือกจากกองทุนเอกชนไทย เช่น กองทุน Inno Space, กองทุน 500 Tuktuks, กองทุน Krungthai Ventures , CVC, กองทุนของธนาคารทั้งภาครัฐและเอกชน แล้วให้สมาคม VC, สมาคมฟินเทคประเทศไทย และ สมาคมไทยเทคสตาร์ทอัพ มีหน้าที่ในการตรวจสอบรายชื่อบริษัท Startup ว่าเป็น Startup ที่ดี มีความน่าเชื่อถือและทำธุรกิจจริง เพื่อพิจารณาการอนุมัติเงินทุนแบบ Fast track
1.2 รัฐปล่อย Soft Loan เป็น Co-Investment / Matching Fund กับนักลงทุนอื่นๆที่สนใจลงทุนเพื่อช่วย Startup
ลักษณะเป็น Co-Investment โดยให้รัฐปล่อย Soft Loan มาให้ก่อนแล้วให้ Startup นั้นๆ สามารถหานักลงทุนในรูปแบบใดๆ ก็ตาม เช่น Angel investor, VC, CVC, บริษัท, กลุ่มบริษัท, ธนาคาร หรือ กองทุนทั้งภาครัฐและเอกชนใดๆ ที่มีหลักฐานทางการลงทุน มี Track Record การลงทุนที่น่าเชื่อถือมาร่วมลงทุนด้วย
โดยหากเอกชนลงทุนเท่าไรภาครัฐจะลงทุนสมทบในสัดส่วนเดียวกัน โดยวงเงินลงทุนรวมต้องไม่เกิน 30 ล้านบาท เช่น หาก Startup ต้องการเงินลงทุน 30 ล้านบาท ให้ยื่นเสนอขอ Soft Loan จากภาครัฐในเบื้องต้น โดยกรอบการพิจารณาไม่ควรเกิน 15 วัน เมื่อภาครัฐอนุมัติแล้ว Startup สามารถนำการอนุมัตินี้ไประดมทุนในลักษณะ Matching Fund กับนักลงทุนรูปแบบใดๆ โดยหากนักลงทุนตัดสินใจลงทุน 15 ล้านบาท ภาครัฐจะสมทบอีก 15 ล้านบาทในรูปแบบ Soft Loan
ทั้งนี้ภายหลังรัฐอาจจะพิจารณาเปลี่ยน Soft Loan เป็นหุ้นหรือพิจารณาขายให้กับนักลงทุนรายอื่นที่สนใจ (เพื่อรับเงิน Soft Loan คืน)
กรณีนี้จะช่วยให้ทั้งนักลงทุนมีความมั่นใจในการร่วมลงทุน ภาครัฐเองก็ลดความเสี่ยงในการคัดกรองการลงทุนเนื่องจากนักลงทุนช่วยคัดกรองให้ระดับหนึ่งแล้ว ทั้งยังสามารถช่วยให้บริษัท Startup มีระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจ (Runway) ที่ยาวพอในการก้าวผ่านวิกฤตและสร้างการเติบโตหลังวิกฤตโควิด-19 ได้
1.3 รัฐปล่อย Soft Loan ให้ Startup ที่เคยระดมทุนมาแล้วแต่ขาดสภาพคล่องในช่วงวิกฤตนี้
กำหนดให้ Startup ที่เคยได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุนในรูปแบบใดๆ เช่น Angle Investor, VC, CVC, บริษัท, กลุ่มบริษัท, ธนาคารหรือกองทุนทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถนำหลักฐานการได้รับเงินลงทุนนั้นๆ (Track Record) มาอ้างอิงเพื่อขออนุมัติเงินลงทุนจากภาครัฐในลักษณะ Soft Loan หรือ Convertible Note เพิ่มเข้าไป
โดยให้สัดส่วนสูงสุดเท่ากับจำนวนเงินระดมทุนรวมที่เคยได้รับ แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท เช่น หาก Startup ใดๆ เคยได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุนมาก่อนหน้ารวม 30 ล้านบาท สามารถยื่นขอ Soft Loan หรือ Convertible Note จากภาครัฐได้ในวงเงินสูงสุด 30 ล้านบาทเช่นกัน
ทั้งนี้การสนับสนุนรูปแบบนี้จะช่วย Startup ที่กำลังเติบโตแต่ประสบปัญหาจากภาวะวิกฤตได้มาก เนื่องจาก Startup ระดับนี้ มักเป็นช่วงเวลาการเติบโตที่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในการ Scale ธุรกิจ จึงไม่สามารถทำกำไรในช่วงระยะเวลานี้ได้ ซึ่งทำให้ไม่สามารถผ่านการพิจารณาโดยเกณฑ์ปกติของธนาคารโดยทั่วไป
แต่การที่ Startup สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีนักลงทุนที่มีหลักฐานทางการลงทุนมี Track Record การลงทุนที่น่าเชื่อถือมาร่วมลงทุนด้วยมาก่อน แสดงว่าบริษัท Startup นั้นๆ มีมูลค่าในการลงทุนและมีศักยภาพในการสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจของประเทศไทยได้จริง การช่วยให้บริษัท Startup เหล่านี้ได้ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 นี้ไปได้ จะช่วยให้ประเทศไทยเกิดขุนพลด้านเศรษฐกิจนวัตกรรมอันจะช่วยให้ประเทศไทยเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในอนาคต
2. Grant Base (การให้เงินทุนสนับสนุน)
2.1 รัฐช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของ Startup
เสนอให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของ Startup จากทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน โดยที่รัฐเป็นผู้ช่วยสนับสนุนเงินในส่วนดังกล่าว เช่น
- บริการจัดส่งอาหารและเอกสารแก่ประชาชน, บริษัท, หน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ โดย Startup จะจัดทำคูปองส่วนลดให้ลูกค้าได้ใช้ฟรี (แต่รัฐเป็นผู้ Subsidise)
- การส่งเสริมให้ธุรกิจ SME และ Startup สามารถระดมทุนหรือกู้ยืม Soft Loan ผ่านช่องทาง Fintech Startup โดยภาครัฐจะเป็นผู้สนับสนุนทั้งในส่วนของ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม รวมถึงเป็นแหล่งเงินให้กับธุรกิจที่เข้ามาใช้บริการเพื่อให้ได้รับเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
- การส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในการก้าวเข้าสู่โลก Digital ใน Platform ต่างๆ เช่น e-learning, e-commerce, ทักษะการ Coding Programming, การ Upskills และ Reskills ต่างๆ โดยให้ประชาชนและผู้สนใจใช้ฟรี (แต่รัฐเป็นผู้ Subsidise) เป็นต้น
2.2 รัฐช่วยสนับสนุนเรื่องเงินเดือนพนักงาน
หากบริษัท Startup ไม่สามารถอยู่ได้ พนักงานและแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ย่อมอยู่ไม่ได้เช่นกัน และจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียแรงงานคุณภาพในการพัฒนาประเทศเข้าสู่โลกนวัตกรรม ดังนั้นรัฐจึงควรสนับสนุนบริษัท Startup ในเรื่องการจ้างงานพนักงานให้สามารถทำงานอยู่ได้ ภายใต้มาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ในการแก้ไขภาวะวิกฤตโควิด-19 โดยอ้างอิงจากตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์ ที่มีการช่วยเหลือบริษัทในการจ่ายเงินเดือนพนักงานในอัตรา 25% , 50% , 75%
จึงขอเสนอให้รัฐช่วยเหลือด้านเงินเดือนพนักงานในอัตรา 50% ของจำนวนค่าจ้างรวม โดยให้ใช้เงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 (ช่วงที่วิกฤติยังไม่ส่งผลกระทบมากนัก) มาสนับสนุนเงินเดือนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเริ่มช่วยเหลือตั้งแต่เดือน เม.ย. 2563 เป็นต้นไป (ช่วงที่ได้รับผลกระทบหนัก) เช่น
- หากบริษัทจ่ายเงินเดือนพนักงานทั้งบริษัทรวมกันเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านบาท รัฐจะสนับสนุนให้ 500,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) โดยระยะเวลาการสนับสนุน อาจขยายต่อเป็น 6 เดือนตามมาตรการใดๆ ของภาครัฐ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจ้างงานในอนาคต หากทำเช่นนี้เราเชื่อมั่นว่าจะสามารถคงอัตราการจ้างงานไม่ให้ลดน้อยลงตลอดช่วงการสนับสนุนมาตรการได้
ในขณะเดียวกัน ในฐานะที่รัฐ Subsidise เงินเดือนพนักงานของบริษัท Startup ที่เข้าร่วมโครงการ เรายินดีที่จะจัดกำลังทรัพยากรบุคคลของเราที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมที่หลากหลาย มาเป็นอาสาสมัครในการสนับสนุน ช่วยเหลือ โครงการต่างๆ ของรัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆ ทั้งในเรื่อง Fintech, Innovation และ Technology ในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยเข้าสู่โลก Digital
รวมทั้งการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศไทยให้สามารถก้าวเข้าสู่ยุค Digital Transformation อย่างไม่ต้องทิ้งใครไว้ข้างหลังตามนโยบายที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อน
โอกาสจากภาวะวิกฤตและ Recovery Idea
ทางสมาคมฟินเทคประเทศไทยขอเสนอ Recovery Idea ที่จะช่วยให้เราคว้าโอกาสหลังวิกฤตครั้งนี้ได้คือ
1. ส่งเสริมให้คนไทยใช้ Platform นวัตกรรมของ Startup ไทยอย่างแพร่หลาย
– เช่น การจัดส่งอาหาร, e-learning, e-commerce และ Future Skills ต่างๆ
2. เปิดระบบนิเวศของเงินกู้ให้ครอบคลุมถึง Fintech Startup และ SMEs
– เสนอรัฐให้เปิดโอกาสให้ช่องทางอื่นๆ เช่น Non Bank และรวมทั้ง Fintech Startup สามารถปล่อยเงินกู้ หรือ Solf Loan ให้เข้าถึง Startup และ SMEs ที่เป็นกลุ่มที่ต้องการเงินในการสนับสนุนธุรกิจ ทั้งนี้เสนอให้แก้กฎหมายกลุ่มระบบนิเวศที่มีอยู่ให้สามารถใช้งานระบบของ NCB และ บสย. ได้
3. เสนอให้มีการบังคับใช้ลงนามเอกสารในรูปแบบ e-signature อย่างจริงจัง
– ในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นความจำเป็นในการเซ็นเอกสารต่างๆ แบบออนไลน์ (การใช้ e-signature) ซึ่งในทางกฎหมายสามารถใช้งานได้อย่างถูกต้องตาม พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงขอเสนอให้หน่วยงานของรัฐทั้งหมดยอมรับเอกสารในรูปอิเล็กทรอนิกส์และไม่เรียกเอกสารกระดาษ
เราเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยจะสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติครั้งนี้ให้ผ่านพ้นไปได้ จึงขอส่งกำลังใจ ข้อเสนอแนะ และโอกาสในการพื้นฟูหลังวิกฤติ ทั้งหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลไทย คณะรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องจะรับฟังข้อเสนอของเรา เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหา ช่วยเหลือ เยียวยาความเดือดร้อนให้กับฟินเทคสตาร์ทอัพ รวมถึงผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ให้อย่างทั่วถึงโดยถ้วนหน้ากัน ไม่ให้ประเทศต้องสูญเสียธุรกิจไทยที่จะเป็นกําลังสําคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมอันเป็นหัวใจในการพัฒนาประเทศไทยตามแผนยุทธศาสตร์ของชาติในอนาคต
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาอนุเคราะห์ และกราบขอบพระคุณล่วงหน้าไว้ ณ โอกาสนี้ ด้วยความเคารพอย่างสูง
ขอแสดงความนับถือ
(โอฬาร วีระนนท์)
นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : เริ่มแล้ว สแกนใบหน้ายืนยันตัวผ่านระบบ NDID รองรับ 7 ธนาคารเปิดบัญชีผ่านโมบายแอป