ราคาน้ำมันโลก

เบื้องลึก “ซาอุดิอาระเบีย” หวังคุมเกมส์ราคาน้ำมันโลก

โดย SM1984

เมื่อคืนที่ผ่านมา (2 มีนาคม) ราคาน้ำมันดิบปรับตัวพุ่งกว่า 40% จากความคาดหวังว่าซาอุดิอาระเบียได้เจรจากับรัสเซียจะยุติสงคราม ราคาน้ำมันโลก ได้ แต่ปรากฎว่าฝั่งรัสเซียได้ออกมาบอกว่า “ยังไม่มีการเจรจา” ส่งผลให้ราคาน้ำมันลดช่วงบวกลงเหลือ 20% เคลื่อนไหวที่ระดับ 25  เหรียญต่อบาร์เรล 

สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบ WTI ได้ลดลงไปแตะระดับ 19.20 ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 17 ปี จากการที่ซาอุดิอาระเบียเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันทั้งๆที่ไม่มีดีมานด์เพิ่ม และไตรมาสแรกที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับตัวลดลงถึง 68% เป็นสินทรัพย์การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุด 

ราคาน้ำมันโลก โดนผลกระทบจากทั้งไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจสายการบินตลอดจนการเดินทางคมนาคมต้องหยุดชะงักลงและยังมาเจอสงครามราคาน้ำมันระหว่างรัสเซียและซาอุดิอาระเบีย สองชาติยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตน้ำมันที่เห็นไม่ตรงกันเรื่องการลดการผลิตน้ำมัน 

ทำให้ซาอุดิอาระเบีย หั่นราคาน้ำมันโดยใช้กลไกของซาอุดิอารามโก บริษัทน้ำมันแห่งชาติที่เพิ่งจะขายไอพีโอในปีที่แล้ว ลดราคาขายน้ำมันให้ชาติในเอเชียลงอย่างฉับพลันเพื่อที่จะกดราคาน้ำมันลง อาศัยข้อได้เปรียบที่มีต้นทุนการผลิตน้ำมันที่ต่ำที่สุดในโลกคือต่ำกว่า 10 เหรียญต่อบาร์เรล 

ขณะที่รัสเซียมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 30 เหรียญต่อบาร์เรล และสหรัฐฯมีต้นทุนอยู่ที่ 40 เหรียญต่อบาร์เรล แม้จะกดราคาน้ำมันขายแค่ 20 เหรียญต่อบาร์เรลก็ยังมีกำไร แต่ชาติอื่นๆที่มีต้นทุนสูงกว่าจะประสบปัญหาขาดทุน

ราคาน้ำมันโลก

รักสามเส้าสหรัฐฯซาอุฯรัสเซีย

ราคาน้ำมันโลก ถือเป็นเกมส์การเมืองระดับโลกที่มีเบื้องลึกคือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งในและนอกโอเปก โดยเฉพาะชาติในตะวันออกกลางที่มีปัญหาความขัดแย้งกันมายาวนาน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีชาติตะวันตกคอยหนุนหลังอยู่แบบลับๆเพื่อให้เกิดสงครามตัวแทน (Proxy War) 

สองชาติที่ว่าคือ สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลในตะวันออกกลางมายาวนานตั้งแต่หลังสงครามเย็น เพราะหวังทรัพยากรน้ำมันที่มีอยู่อย่างมากมายในภูมิภาค สองชาตินี้จะมีพันธมิตรที่แตกต่างกันตามอุดมการณ์ทางการเมือง เช่น รัสเซียสนับสนุนอิหร่าน ทำให้สหรัฐฯต้องหันไปสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามแทน

แต่เกมส์การเมืองนี้ก็พลิกได้ตลอดเวลา เช่น ในอดีตสหรัฐฯเคยเป็นพันธมิตรกับ “โอซามะ บินลาเดน” เพื่อทำการขับไล่รัสเซียออกไปจากอัฟกานิสถาน แต่เวลาต่อมาสหรัฐฯก็เป็นฝ่ายไล่ล่าบินลาเดนแทน

ซาอุดิอาระเบีย ในอดีตเคยเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ ในปี 1945 ไล่มาจนถึงสงครามอ่าวเปอร์เซีย

สหรัฐฯ บุกโจมตีอิรัก ซาอุฯได้ถูกใช้เป็นฐานบัญชาการสำคัญของกองกำลังตะวันตก ก่อนที่ความสัมพันธ์จะหายไปในช่วงที่ประธานาธิบดีจอร์จ บุช (คนลูก) และ บารัก โอบามา อยู่ในตำแหน่ง 

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและซาอุฯกลับมาดีกันอีกครั้งหลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ตัวเขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับมกุฏราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ซึ่งคุมการบริหารประเทศแทนพระบิดาทั้งหมดและพระองค์มีแนวคิดทันสมัยแบบตะวันตก

ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างซาอุฯกับสหรัฐฯ ทำให้รัสเซียซึ่งเป็นปรปักษ์กับสหรัฐฯมายาวนานตั้งแต่สงครามเย็นอาจตัดสินใจตีตัวออกห่างซาอุฯจนกลายเป็นสงครามราคาน้ำมันในเวลาต่อมา

ซาอุฯเข้าตาจนขอคุมราคาน้ำมันโลกในโค้งสุดท้าย

เป็นที่รู้กันดีว่าแนวโน้มการใช้น้ำมันจากฟอสซิลมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากกระแสรักษ์โลกและการมาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และ ราคาน้ำมันโลก หลังจากขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 141 เหรียญต่อบาร์เรลในปี 2008 ก็ไม่ได้เห็นราคาดังกล่าวอีกเลยและตั้งแต่ปี 2011 ที่ผ่านมาราคาน้ำมันได้เป็นขาลงมาต่อเนื่อง

ชาติที่เดือดร้อนน่าจะเป็นตะวันออกกลางเนื่องจากรายได้ของประเทศส่วนใหญ่มาจากการขายน้ำมัน เราจึงได้เห็นชาติในภูมิภาคนี้ปรับตัวเพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันอย่างเร่งด่วนเช่น ดูไบที่พัฒนาเมืองให้เป็นศูนย์กลางการค้าและการท่องเที่ยวรวมถึงกาตาร์ที่เข้าไปลงทุนธุรกิจอื่นๆทั่วโลก 

ซาอุดิอาระเบีย ในยุคก่อนที่มกุฏราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน จะเข้ามาบริหารประเทศ ดำเนินนโยบายที่อนุรักษ์นิยมมาตลอด จนกระทั่งพระองค์ได้ตั้งวิชั่นในการนำประเทศลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันขนานใหญ่ 

อย่างไรก็ตาม การพัฒนายังต้องใช้เวลาอีกหลายปี ก่อนที่จะสามารถเก็บเกี่ยวการลงทุนได้ ซาอุฯอาจจะต้องทำอะไรสักอย่างกับทรัพยากรน้ำมันที่มีอยู่จำนวนมหาศาลกว่า 266 ล้านบาร์เรล ถือเป็นปริมาณสำรองที่มากที่สุดอันดับสองของโลก

ราคาน้ำมันโลก

หมายเหตุข้อความหลังจากนี้ไปคือการวิเคราะห์ด้วยความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่วิเคราะห์ก็เป็นได้

ปัจจุบัน ซาอุดิอาระเบีย เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันใหญ่อันดับที่สามของโลกคือ 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 12.1% ของกำลังผลิตทั้งหมดของโลก ตามหลังสหรัฐฯที่มีกำลังผลิต 12.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 15.6% ของกำลังผลิตทั้งหมดของโลก ส่วนที่สองคือรัสเซียอยู่ที่ 11.2  ล้านบาร์เรล หรือ 13.7% 

แต่สองประเทศดังกล่าวมีต้นทุนการผลิตน้ำมันที่แพงกว่าซาอุฯ การที่ซาอุฯเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันและลดราคาขาย จะเป็นการเพิ่มสัดส่วนการผลิตน้ำมัน (Supply) ของซาอุฯในตลาดโลกให้สูงขึ้นซึ่งอาจจะแซงหน้าสหรัฐฯและรัสเซียได้ไม่ยาก

สหรัฐฯกับรัสเซีย อาจจะยอมถอยไม่เข้าไปสู้ในเกมส์นี้ เพราะยิ่งผลิตออกมามากในขณะที่ต้นทุนการผลิตยังขาดทุน ก็เท่ากับว่าเป็นการทำให้ตัวเองเลือดไหลออกไปเรื่อยๆ รัสเซียยังคงพึ่งพารายได้จากน้ำมันในสัดส่วนที่สูงและเคยถูกโจมตีค่าเงินรูเบิลจนตกต่ำมาแล้วจากการทุบราคาน้ำมัน 

ส่วนสหรัฐฯก็ต้องระวังหนี้และหุ้นกู้ของบริษัทพลังงาน Shale Oil ที่อาจจะ Default ได้หากยังผลิตน้ำมันออกมาในราคาขาดทุนต่อไป

เมื่อซาอุฯสามารถคุมกำลังการผลิตน้ำมันไว้ได้โดยยึดสัดส่วนมาจากสหรัฐฯและรัสเซีย อาจจะดันราคาขายน้ำมันให้เพิ่มขึ้นในช่วงยุคสุดท้ายของการใช้น้ำมันของโลกเพื่อกอบโกยกำไรให้เต็มที่ ซึ่งหากกุมกำลังผลิตหรือ Supply ไว้ในมือมากพอก็อยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ ด้วยหน้าตักที่มี (กำลังเงินและน้ำมันสำรอง) ซาอุฯสามารถทำได้ไม่ยาก

ย้ำว่านี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน สถานะการณ์อาจไม่ได้เป็นไปตามที่วิเคราะห์ก็เป็นได้

ล่าสุด ซาอุดีอาระเบีย เรียกร้องให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรวมทั้งรัสเซียและประเทศพันธมิตร จัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน

ขณะที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เปิดเผยว่าได้หารือกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เมื่อวานนี้ และมกุฏราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ในวันนี้ ซึ่งเขาคาดว่าทั้งสองประเทศอาจปรับลดกำลังการผลิตราว 10 ล้านบาร์เรล หรืออาจมากถึง 15 ล้านบาร์เรล เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด นอกจากนี้ ทรัมป์ยังกล่าวว่า เขาเชื่อว่าประเทศทั้งสองจะบรรลุข้อตกลงในการยุติการทำสงครามราคาในอีกไม่กี่วัน

การประกาศดังกล่าวของซาอุดีอาระเบียเป็นการส่งสัญญาณว่าซาอุดีอาระเบียพร้อมที่จะยุติการทำสงครามราคาน้ำมันกับรัสเซีย ต้องจับตากันต่อไปว่าสงคราม ราคาน้ำมันโลก จะเป็นอย่างไรต่อไป และจะก่อตัวเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตหรือไม่

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ซาอุฯ-รัสเซีย ทุบราคาน้ำมันเล่นงานสหรัฐฯ แต่อาจจะเดี้ยงซะเอง

Related Posts