ตลาดหุ้น

สำรวจสภาพตลาดหุ้นทั่วโลกกับไตรมาสแรกของปีนี้ที่ไม่น่าจดจำ…

โดย SM1984

ไตรมาสแรกของปีนี้ถือเป็นช่วงเวลาสามเดือนที่เลวร้ายที่สุดของโลกการเงิน จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สินทรัพย์การลงทุนทั่วโลกถูกเทขายอย่างหนักจนสร้างสถิติใหม่ (ที่ไม่น่าจดจำซักเท่าไหร่) ตลาดหุ้น ทั่วโลกเข้าสู่สภาวะหมีอย่างเต็มตัว

อ้างอิงจาก CNBC ตลาดหุ้น สหรัฐฯได้สิ้นสุดการเป็นตลาดขาขึ้น (Bullish) ที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 11 ปี ในวันที่ 12 มีนาคม 2563 ราคาน้ำมันร่วงแรงจนทำจุดต่ำสุดในรอบ 17 ปี และอื่น ๆ อีกมากมาย

ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯอย่าง Dow Jones ที่ -23.2% และ S&P500 ที่ -20% รวมถึงตลาดหุ้นยุโรปที่ติดลบเฉลี่ยประมาณ 20% โดยตลาดหุ้นสเปนติดลบมากที่สุด 30% และที่แย่ที่สุดคือน้ำมันดิบ WTI ที่ -67% YTD

ตลาดหุ้นจีน Shanghai Composite ถือว่าทำผลงานได้ดีโดยติดลบเพียงแค่ 10% หากมองว่าเป็นประเทศที่เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นติดลบ 20% เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 ขณะที่สินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุดในไตรมาสแรกของปีนี้ก็คือทองคำที่ทำได้ +4%

ขณะที่ดัชนี SET Index ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาถึง 31.14% จากราว 1,600 จุด มาปิดที่ 1,087.82 จุด เมื่อวันที่ 30 มี.ค.กลุ่มปิโตรเคมี ลดลง 46% กลุ่มสื่อ ลดลง 44.13% และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ลดลง 41.78% ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ติดลบน้อยที่สุดคือ กลุ่มเทคโนโลยี ติดลบ 17.77%

ตลอดไตรมาสแรกที่ผ่านมานั้น นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทย 1.13 แสนล้านบาท เทียบกับปีก่อนทั้งปี ซึ่งเทขายไป 4.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ กลุ่มสื่อสารถือเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวได้เร็วที่สุดโดยบวกขึ้น 8.6% ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา นำมาโดยหุ้นกลุ่มสื่อสารทั้งสามตัวคือ ADVANC DTAC TRUE 

แนวโน้มต่อไปจะเป็นอย่างไร??

หากวิเคราะห์ด้วยปัจจัยทางเทคนิค SET Index ทำจุดต่ำสุดไว้ที่ระดับ 966 จุด ใช้จุดนั้นเป็นแนวรับสำคัญ อย่างไรก็ตามแนวโน้มหลักของ ตลาดหุ้น ไทยยังถือว่าเป็นขาลง

ตลาดหุ้น ไทย

มุมมองจาก บล.ทิสโก้ ยังคงกลยุทธ์การทยอยสะสมหุ้นแบบแบ่งซื้อในช่วงตลาดผันผวน แต่ในขณะเดียวกัน ช่วงตลาดรีบาวด์ก็ควรขายล็อกกำไรไว้บ้าง รอย่อตัวซื้อคืน หุ้นเด่นที่แนะนำในเดือนเมษายน คือ BAM, BJC, DTAC, PTTEP, RBF, SCC และ TVO  ด้านแนวรับสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่  1,070 จุด และแนวรับถัดไปที่ 1,010-1,020 จุด แนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,165-1,170 จุด และแนวต้านถัดไปที่ 1,190 จุด 

แม้ว่าความไม่แน่นอนยังมีอยู่ แต่ก็มีลุ้นมากขึ้นว่าดัชนีหุ้นไทยอาจผ่านจุดต่ำสุดของภาวะหมีรอบนี้ไปแล้วที่บริเวณ 970 จุด หรือคิดเป็นอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (P/BV) ที่ 1.1-1.2 เท่า ซึ่งเป็นระดับเทียบเคียงเส้นแนวโน้ม P/BV ระยะยาวในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 ที่บริเวณ 0.5-0.6 เท่า และ 0.8-0.9 เท่า ตามลำดับ ผสานกับหุ้นไทยมีตัวช่วยเข้ามาพยุงตลาดมากขึ้น เช่น การประกาศซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียน ที่นับตั้งแต่ต้นปีนี้มีวงเงินซื้อคืนรวมมากกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

กองทุนเพื่อการออมระยะยาว (SSF) แบบพิเศษที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินทยอยไหลเข้าตลาดประมาณ 2 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (เมษายน – มิถุนายน) และประเด็นสุดท้ายคือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาตรการชั่วคราวเพื่อควบคุมความผันผวนของตลาด เช่น การปรับเกณฑ์การขายชอร์ตจากราคาไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย เป็นราคาสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย, การปรับเกณฑ์ Ceiling & Floor และปรับเกณฑ์การหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราว (Circuit Breaker) จาก 2 ระดับ เป็น 3 ระดับ

ทางด้านทองคำ ลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 1448 เหรียญและมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แม้จะมีการย่อตัวแรงแต่ก็มีแรงซื้อกลับ แสดงว่ามีนักลงทุนมองว่าเป็น Safe Haven ที่น่าลงทุนในภาวะวิกฤต ยังมีโอกาสที่จะกลับไปทดสอบจุดสูงสุดที่ 1704 เหรียญได้

ตลาดหุ้น ทองคำ

ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ลงมาทำจุดต่ำสุดหลุดระดับ 20 เหรียญต่อบาร์เรลที่ 19.20 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 17 ปี แนวโน้มหลักยังเป็นขาลง ยังไม่สามารถลงทุนได้ในตอนนี้ 

ตลาดหุ้น น้ำมัน WTI

ปิดท้ายที่ดัชนี Dow Jones ตลาดหุ้น สหรัฐฯลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 18138 จุดและมีการฟื้นตัวขึ้น ระยะสั้นแนวรับ 20843 หากรับอยู่ได้ก็มีโอกาสฟื้นตัวกลับขึ้นไปได้

ตลาดหุ้น Dow Jones

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : Economic Shutdown วิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีต้นเหตุมาจาก COVID-19

Related Posts