ประกันชีวิต

อายุเท่านี้ ทำประกันชีวิตแบบไหนดี จึงจะเหมาะกับตัวเองมากที่สุด

โดย SM1984

ประกันชีวิต กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลาย ๆ คน และยิ่งอยู่ในช่วงอายุที่แตกต่าง ลักษณะงานที่ต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงมากขึ้น รายได้ที่มีมากขึ้น ความรับผิดชอบที่มีเยอะขึ้นกว่าเดิม ทำให้หลายคนเริ่มมองหาประกันชีวิตที่ตอบโจทย์ตามวัย ตามรายได้ และภาระในชีวิตตัวเอง ลองมาดูกันว่า คนแต่ละช่วงวัย ต้องการประกันแบบไหนกันบ้าง

วัยเด็กและวัยเรียน (0 – 20)
วัยนี้จะเน้นเรื่องของประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุเป็นหลัก เพราะเป็นวัยที่มีความเสี่ยงในการเจ็บป่วยสูง โดยเฉพาะจากอุบัติเหตุ และโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นกับเด็กมากกว่าวัยอื่น ๆ และโดยเฉพาะ เด็กอายุตั้งแต่ 0 ถึง 5 ขวบที่ร่างกายยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอ และวัยนี้ เป็นวัยซุกซน จนถึงช่วงวัยรุ่นที่เล่นกีฬาผาดโผน และมักจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ 

ดังนั้น วัยเด็กจึงเป็นวัยที่ต้องทำประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุเพื่อแบ่งเบาค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ส่วนในเรื่องของเบี้ยประกันนั้นจะสูงกว่าผู้ที่เอาประกันที่มีอายุสูงกว่าทั่วไป แต่เมื่อโตขึ้น เบี้ยประกันก็จะลดลง เพราะโอกาสที่จะเกิดการเจ็บป่วย หรือมีอุบัติเหตุลดลง


วัยเริ่มทำงาน (21 – 29)
คนวัยนี้เป็นวัยที่ยังมีค่าใช้จ่ายไม่เยอะมาก หลายคนยังเป็นโสดจึงไม่มีภาระมากนัก และอีกหลายคนยังต้องอาศัยเงินของพ่อแม่อยู่ ไม่มีภาระ ไม่มีหนี้สิน คนวัยนี้ จึงเหมาะกับการวางแผนทางการเงินมากกว่า เช่น การซื้อ ประกันชีวิต การซื้อประกันสุขภาพ การเก็บเงินเพื่อสร้างฐานะในอนาคต แต่สำหรับบางคน เมื่อทำงานในบริษัท ก็จะได้สวัสดิการประกันสุขภาพไปในตัว 

อย่างไรก็ตาม วัยนี้ต้องเริ่มเสียภาษี ประกันชีวิตที่คนวัยนี้เริ่มมองหาคือประกันที่สามารถเข้ามาช่วยลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งอาจจะไม่ต้องกังวลเรื่องความคุ้มครองที่สูงมากนัก ประกันที่โดนใจคนกลุ่มนี้ ได้แก่ ประกันแบบสะสมทรัพย์ ที่มีระยะเวลาคุ้มครองนาน ๆ แต่สำหรับคนที่กู้เงินมาเรียนในระดับปริญญาตรีก็ยิ่งต้องมองหาประกันชีวิตและประกันสุขภาพเพื่อมาลดหย่อนค่าใช้จ่าย หากเกิดกรณีที่ต้องเข้าโรงพยาบาลกระทันหัน ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ที่ไม่ต้องหวังพึ่งแค่ประกันสังคม และจากเงินเดือนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานใหม่ ๆ ได้

ประกันชีวิต

วัยสร้างครอบครัว (30 – 34)
คนวัยนี้เริ่มคิดเรื่องขยับขยายที่อยู่อาศัยเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว เริ่มคิดเรื่องการดูแลภรรยาและบุตร อาจมีภาระหนี้สินเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เงินกู้ส่วนบุคคล บัตรเครดิต ดาวน์รถ และซื้อบ้าน ดังนั้น คนวัยนี้จึงมองหาหลักประกันให้กับตัวเองและคนในครอบครัวมากขึ้น


ประกันชีวิตที่เหมาะกับคนวัยนี้ ได้แก่ ประกันชีวิต แบบตลอดชีพ หรือประกันชีวิตแบบระยะยาว เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัว นอกจากประกันชีวิตแล้ว คนวัยนี้ก็ต้องมองหาประกันตัวอื่นด้วย เช่น ประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพราะหากเกิดอะไรขึ้นกับหัวหน้าครอบครัว คนในครอบครัวก็ยังมีที่อยู่อาศัยต่อไป


นอกจากนี้แล้ว ประกันชีวิตสำหรับคนช่วงวัยนี้ควรให้มีความคุ้มครองสูงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในเรื่องของประกันสุขภาพที่ควรจะคุ้มครองกันยาว ๆ คนวัยนี้ แม้จะยังไม่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ แต่ก็ไม่ควรประมาท อีกทั้งเบี้ยประกันในวัยนี้จะยังไม่สูงมาก ก็ควรทำไว้

วัยกลางคน (35 – 44)
คนช่วงวัยนี้ยังต้องมีภาระอยู่ เช่น ต้องส่งลูกเรียน ต้องเลี้ยงดูภรรยาและคนในครอบครัว หนี้สินก็ยังมีอยู่ เช่น บัตรเครดิต เงินกู้ส่วนบุคคล ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ภาระย่อมสูงขึ้น เนื่องจากครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น แม้คนวัยนี้ จะไม่ต้องกังวลเรื่องภาระทางการศึกษาและเงินผ่อนรถ แต่อาจจะยังต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อผ่อนบ้านอยู่


คนช่วงวัยนี้ จึงต้องมองหาประกันชีวิตที่คุ้มครองเรื่องรายได้ ประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และประกันให้บุตรและภรรยา และคนในครอบครัวที่ตัวเองรัก  ส่วนประกันแบบบำนาญเพื่อประกันรายได้อย่างต่อเนื่องเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณพร้อมให้ประโยชน์ทางภาษีก็ควรเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนวัยนี้ เพราะจะช่วยการันตีเงินที่ได้หลังเกษียณแล้ว


วัยกลางคนพร้อมครอบครัว (45 –  55)
ภาระสำหรับคนวัยนี้ยังเป็นเรื่องของการศึกษาของบุตร ส่วนภาระผ่อนบ้านก็อาจจะใกล้หมด ประกันต่าง ๆ ก็ยังต้องมีความคุ้มครองที่สูงอยู่ ประกันที่เหมาะสำหรับคนวัยนี้ ได้แก่ ประกันคุ้มครองรายได้ ประกันที่ช่วยแบ่งเบาภาระเงินกู้และการตั้งเป้าในอนาคตอื่น ๆ เช่น อยากออกไปท่องเที่ยวก็ซื้อประกันการเดินทาง


แม้ว่าภาระหนี้ของคนในช่วงวัยนี้จะเริ่มลดลงแล้ว แต่การซื้อประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองสูงก็ยังจำเป็นอยู่ เพื่อคุ้มครองตัวเองในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น เจ็บป่วยจากการมีโรคประจำตัวเพราะอายุมากขึ้น เกิดอุบัติเหตุ หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย


วัยก่อนเกษียณ (อายุ 55 ปีขึ้นไป)
คนในวัยนี้ ภาระต่าง ๆ ลดลง ลูก ๆ โตกันหมดแล้ว และบางรายก็เข้าสู่วัยทำงาน เงินดาวน์บ้านหมดแล้ว หากบุตรหลานกู้เงินมาเรียนเพิ่มอาจจะยังต้องมีภาระส่วนนี้อยู่

อย่างไรก็ตาม ประกันชีวิต ในช่วงนี้ควรจะเป็นความคุ้มครองที่ต่ำลง จำกัดแผนในกรมธรรม์ให้น้อยลง และเน้นประกันสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประกันที่มอบเงินก้อน หรือให้ค่ารักษาพยาบาล หรือคุ้มครองโรคร้ายแรงบางประเภท เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็เจ็บป่วยไข้ง่าย หากมีอาการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงก็อาจจะต้องเจอกับค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก การทำประกันชีวิตถึงแม้จะมีความคุ้มครองต่ำ แต่ทำประกันสุขภาพตามไปด้วย ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของค่าใช้จ่ายได้อีกทาง  


ทั้งนี้ บริษัทประกันแต่ละแห่งทำทุนประกันไม่เท่ากัน และมีวิธีคิดในรายละเอียดต่างกัน ดังนั้น การชำระเบี้ยประกันที่เหมาะสมควรชำระเบี้ยประกัน 10 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ของผู้เอาประกันต่อปี และวงเงินความคุ้มครองก็ให้พิจารณาตามภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินต่าง ๆ ของผู้ที่เอาประกัน และผู้เอาประกันเองก็ต้องพิจารณาว่าประกันแบบใดเหมาะสำหรับตัวเองมากที่สุด

ไม่ว่าจะเป็น ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ประกันชีวิต แบบตลอดชีพ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือประกันชีวิตแบบเงินบำนาญ กล่าวคือ ก่อนซื้อประกันควรถามตัวเองก่อนว่าเป้าหมายคืออะไร จึงจะได้ประกันชีวิตที่ตอบโจทย์ตัวเองได้มากที่สุด

เรื่อง : วณิชชา สุมานัส

ขอขอบคุณข้อมูล Luma Health Thailand

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ประกันโควิด เริ่มต้นเพียง 99 บาท เลือกเลยปลอดภัยไว้ก่อน


Related Posts