DW คือ

ผลวิจัยเผยรายย่อยเทรด DW กว่า 80% ขาดทุน เหตุเทรดสถานะ Out Of The Money

โดย SM1984

DW คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (derivative warrants) มีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 1.65 ล้านล้านบาท ในปี 2563 ทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 11 ปี และยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นจนถึงสิ้นเดือนกันยายนปี 2564 มีมูลค่าซื้อขายแล้ว1.58 ล้านล้านบาท ขณะที่จำนวนบัญชีที่มีซื้อขาย (active account) ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

จากการศึกษาพฤติกรรมและลักษณะการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ โดยใช้ข้อมูล big data ของการซื้อขายรายธุรกรรม (transaction data) พบว่า ในปี 2559-2562 มีจำนวนบัญชีที่มีซื้อขาย DW อยู่ประมาณ 40,000 – 50,000 บัญชี แต่ในปี 2563 จำนวนบัญชีซื้อขายเพิ่มขึ้นไปถึง 97,933 บัญชี หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปี 2562 และสิ้นเดือนกันยายนปี 2564 มี 115,058 บัญชี โดย 99% เป็นบัญชีผู้ลงทุนบุคคล (retail investor) และกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนบัญชีที่เพิ่มขึ้นในปี 2563 เป็นบัญชีของผู้ลงทุนรายใหม่ที่ไม่เคยมีการซื้อขายใน DW มาก่อน

ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของ DW คือ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความผันผวนของตลาดหุ้นไทยที่เพิ่มมากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 เพราะยิ่งมีความผันผวนมาก ยิ่งมีโอกาสทำกำไรจาก DW ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนใน DW ได้ง่าย ใช้เงินลงทุนน้อย และมีอัตราทด (gearing) สูง ขณะเดียวกัน ผู้ออก DW ยังออก DW ที่มีราคาถูกและมีอัตราทดสูง เพื่อจูงใจให้ผู้ลงทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้นอีกด้วย

DW สถานะ deep OTM: โอกาส หรือ ความเสี่ยง

สำหรับผู้ลงทุนใน DW จะรู้ว่า DW มีค่าสถานะ (moneyness) ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างราคาหุ้นหรือดัชนีอ้างอิงกับราคาใช้สิทธิ์ของตราสารอนุพันธ์ อยู่ 3 สถานะคือ In-the-money (ITM) At-the-money (ATM) และ Out-of-the-money (OTM) โดยที่การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นหรือดัชนีอ้างอิงจะส่งผลถึงสถานะของ DW ทำให้สถานะของ DW แต่ละตัวจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดช่วงอายุของ DW โดยลักษณะและความสัมพันธ์ของแต่ละสถานะสามารถสรุปได้ตามตารางเปรียบเทียบ

ตารางเปรียบเทียบลักษณะของ DW ในแต่ละสถานะ (moneyness)

 ราคาใช้สิทธิราคา DWความเสี่ยง(gearing)
In-the-money (ITM)Call: ราคาใช้สิทธิ < ราคาตลาดPut: ราคาใช้สิทธิ > ราคาตลาดมากที่สุดต่ำสุด
At-the-money (ATM)Call: ราคาใช้สิทธิ = ราคาตลาดPut: ราคาใช้สิทธิ = ราคาตลาดปานกลางปานกลาง
Out-of-the-money (OTM)Call: ราคาใช้สิทธิ > ราคาตลาดPut: ราคาใช้สิทธิ < ราคาตลาดน้อยที่สุดสูงสุด

จากความสัมพันธ์ค่าสถานะของ DW สามารถสรุปได้ว่า DW ที่มีสถานะ OTM จะมีราคาน้อยที่สุด เนื่องจากราคาของ DW นั้นจะเหลือเพียงแค่มูลค่าทางเวลาและยิ่งราคาของหุ้นอ้างอิงห่างกับราคาใช้สิทธิมากเท่าใด (ในสถานะ OTM) ราคา DW ก็จะยิ่งลดลง โดยจะเรียกสถานะนี้ว่า deep OTM” ซึ่งเกิดจากราคาหลักทรัพย์อ้างอิงต่ำกว่าราคาใช้สิทธิเป็นจำนวนมาก (ในกรณี call) หรือ ราคาใช้สิทธิต่ำกว่าราคาหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นจำนวนมาก (ในกรณี put) ทำให้มีราคาถูกและอัตราทดสูง จึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้ลงทุน เพราะใช้เงินลงทุนน้อย แต่มีโอกาสได้กำไรในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับเงินที่ลงทุนไป

เมื่อวิเคราะห์ “ค่าสถานะ” ของ DW ณ วันที่ยื่นขออนุญาตและวันซื้อขายวันแรก* พบว่าในปี 2561 – 2562 มีสถานะเป็น OTM โดยมีค่าเฉลี่ย -4% ถึง -5% แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ค่าความผันผวนในตลาดหุ้นเพิ่มสูงขึ้น ผู้ออก DW ได้ออก DW ในลักษณะ OTM ค่อนข้างสูง โดยในปี 2563 มีค่าเฉลี่ยถึง -22% และบางรายออก DW ที่มีค่าสถานะ deep OTM มากถึง -114.90% 

การที่ผู้ลงทุนเข้าไปซื้อ DW ที่เป็นแบบ deep OTM นั้นมีโอกาสที่จะขาดทุนจาก DW ตัวนั้นสูงมาก เพราะแม้ว่า DW ที่เป็นแบบ deep OTM จะมีราคาถูกที่สุดและอัตราทดที่สูง แต่ต้องแลกกับความเสี่ยงที่สูงด้วยเช่นกัน ความเสี่ยงที่ว่านั้นคือ การที่ราคาของ DW นั้นไม่ขยับตามหุ้นอ้างอิง ซึ่งเกิดได้จากราคาของหุ้นอ้างอิงมีการแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบ หรือมีความผันผวนที่ต่ำ จะทำให้มีโอกาสที่จะขาดทุนมากกว่ากำไร เนื่องจากมูลค่าของ DW จะลดลงตามค่าเสื่อมเวลา (time decay) ที่ลดลงในแต่ละวันที่ผู้ลงทุนถือข้ามวัน

ผู้ลงทุน DW ส่วนใหญ่ กำไร หรือ ขาดทุน 

เมื่อศึกษาภาพรวมกำไรและขาดทุนก่อนหักค่าใช้จ่ายในการซื้อขายของผู้ลงทุนใน DW ตั้งแต่ปี 2559 – 2563 พบว่า จำนวนบัญชีมากกว่า 80% ขาดทุนสุทธิ และเมื่อจำแนกตามประเภทผู้ลงทุนพบว่า บัญชีผู้ลงทุนบุคคลจะขาดทุนสุทธิทุกปี ส่วนบัญชีหลักทรัพย์และบัญชีผู้ลงทุนต่างชาติได้กำไรสุทธิทุกปี โดยบัญชีผู้ลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลพฤติกรรมการซื้อขายของผู้ลงทุน DW พบว่า บัญชีผู้ลงทุนบุคคล มีค่าเฉลี่ยการลงทุนใน DW ที่มีลักษณะ OTM มากที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ลงทุนกลุ่มอื่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การซื้อ DW ที่มีความเสี่ยงสูงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ลงทุนบุคคลส่วนใหญ่ขาดทุน

นอกจากนี้ DW เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนสูง ผู้สนใจลงทุนควรศึกษาทำความเข้าใจถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงของ DW ในแต่ละประเภทก่อนเริ่มลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกลงทุน
ใน DW ที่เป็นแบบ deep OTM เพราะแม้จะมีโอกาสทำกำไรได้มาก แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน

หากสนใจศึกษาข้อมูลเบื้องต้นสามารถรับชมคลิป รู้จัก DW (Derivative Warrant) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ให้มากขึ้น” ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=F_b2Cx9760g หรือสอบถามข้อมูลที่ “ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต.” โทร 1207 หรือผ่านช่องทางเฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต.

*********************************

หมายเหตุ : * ข้อมูลที่นำมาคำนวณค่าสถานะ คือ DW ที่มี SET50 เป็น underlying โดยใช้ underlying price และexercise price ณ วันซื้อ-ขายวันแรกของ DW แต่ละตัว

คลิกอ่านบทความประกอบ : เรื่อง “เปิดข้อมูล Big Data การซื้อขาย DW ในตลาดหุ้นไทย” ได้ที่ https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2564/041164.pdf

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

บทความที่เกี่ยวข้อง : กลยุทธ์เทรดให้กำไรบนตลาดผันผวนด้วย Options

Related Posts