IMF หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกดำเนินมาตรการด้านการคลังและการอัดฉีดสภาพคล่อง คิดเป็นมูลค่ารวมเกือบ 14 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะลดผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นายลีเซตจา กันยาโก ประธานคณะกรรมการจัดการกองทุนการเงิน (IMFC) ของ IMF เปิดเผยว่า “จากการติดตามนโยบายของประเทศต่างๆ พบว่า มาตรการด้านการคลังในการรับมือกับโควิด-19 ทั่วโลกจนถึงขณะนี้ มีมูลค่าราว 8 ล้านล้านดอลลาร์ และการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก มีมูลค่ารวมกันกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว”
หนี้ท่วมโลกจากการมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่า หนี้สินทั่วโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 13% แตะระดับ 96.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ทำให้ผู้คนใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่รายได้ลดลงอย่างหนัก
วิเตอร์ กาสปาร์ ผู้อำนวยการแผนกกิจการการคลังของ IMF กล่าวในงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อเปิดตัวรายงาน Fiscal Monitor ซึ่งมีขึ้นบนระบบออนไลน์ว่า การแพร่ระบาดและมาตรการล็อกดาวน์ที่ตามมา ส่งผลให้หนี้สินเพิ่มขึ้นและขาดดุลมากขึ้นมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นสมัยวิกฤติการเงินโลก
“การปรับตัวเพิ่มขึ้นของหนี้สินเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นเป็นปกติจากมาตรการทางการคลังที่กำหนดขึ้นเพื่อสู้โรคระบาด” กาสปาร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว “เมื่อการแพร่ระบาดบรรเทาลงและเศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งหวังว่าจะเป็นเช่นนั้นในปี 2564 อัตราหนี้สินสาธารณะก็ควรจะกลับมาทรงตัวอีกครั้ง”
นายกาสปาร์ ได้เรียกร้องให้เหล่าผู้กำหนดนโยบาย “ทำทุกอย่างที่ทำได้” ในช่วงเวลาฉุกเฉิน แต่ “อย่าลืมเก็บบันทึกการใช้จ่ายทั้งหมดด้วย”
นายกาสปาร์ เปิดเผยว่า ประเทศต่าง ๆ ได้ใช้มาตรการทางการคลังรวมกันถึงประมาณ 8 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและความเสียหายต่อเศรษฐกิจ โดยมีกลุ่ม G20 เป็นผู้นำ
คาดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ยังคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะประสบกับวิกฤตการเงินที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1930 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 3% ในปีนี้ ซึ่งสวนทางการคาดการณ์ในเดือนม.ค.ที่ระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.3% ในปีนี้ อย่างไรก็ดี กองทุนการเงินระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 5.8% ในปีหน้า จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัว 3.4%
การที่ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวกว่า 5% ในปีหน้า มีสาเหตุจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในปี 2020 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะหดตัวในปีดังกล่าว
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวลง 5.9% ในปีนี้ แต่จีนจะมีการขยายตัว 1.2%นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัว 7.5% ในปีนี้ ขณะที่อิตาลีและสเปน ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 จะหดตัวลง 9.1% และ 8% ตามลำดับ
IMF ยังระบุว่า วิกฤตการณ์ในปีนี้แตกต่างจากวิกฤตการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และทำให้ได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากประเทศสมาชิกมากเป็นประวัติการณ์ โดยมีสมาชิกกว่า 90 ประเทศ จากทั้งหมด 189 ประเทศที่เรียกร้องขอความช่วยเหลือทางการเงินในปีนี้
ขณะที่การเปิดเผยมุมมองการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ชี้เศรษฐกิจมีแนวโน้มหยุดนิ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19
นายชางยอง รี ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิกของไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า รัฐบาลประเทศต่างๆ ในภูมิภาคควรใช้ประโยชน์จากนโยบายที่มีอยู่ทั้งหมดเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศ ระหว่างที่ต้องเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กไปพร้อมกัน
กลุ่ม G20 พร้อมอัดฉีดสู้โควิด-19
กลุ่มประเทศ G20 ประกาศอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 7 ล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกเพื่อปกป้องเศรษฐกิจจากผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 นายโมฮัมเหม็ด อัล-จาดาน รัฐมนตรีคลังของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประธาน G20 ในปีนี้ กล่าวว่า การอัดฉีดเงินดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องการจ้างงาน, ภาคธุรกิจ รวมทั้งระบบเศรษฐกิจ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นายอัล-จาดานยังระบุว่า สมาชิก G20 ยังได้เห็นพ้องกันในการพักการชำระหนี้ของกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดของโลก พร้อมกับการให้เงินช่วยเหลือจำนวน 2 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องแก่กลุ่มประเทศดังกล่าว
ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เตรียมเงินสำหรับกองทุนช่วยเหลือเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ไว้เพิ่มอีก 2 เท่า แตะที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เนื่องจากลูกค้ามีความต้องการเพิ่มมากขึ้น
การตัดสินใจครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่มีลูกค้าเข้ามาขอกู้เงินเป็นมูลค่ารวมกันเกินกว่าวงเงินช่วยเหลือฉุกเฉินที่ทางธนาคารได้จัดสรรไว้จำนวน 5 พันล้านดอลลาร์ โดยลูกค้าต่างก็ต้องการความช่วยเหลือต่าง ๆ ในทันที โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขและการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่เพื่อบรรเทาแรงกดดันด้านการดูแลสุขภาพ
ทั้งนี้ AIIB ได้เผยแพร่แถลงการณ์ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยระบุว่า ขณะนี้ธนาคารกำลังตรวจสอบโครงการต่างๆ ของสมาชิก และหลายๆ โครงการก็อยู่ภายใต้ความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งอื่นๆ
โครงการเหล่านั้นรวมถึง โครงการในอินเดียเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์และเพิ่มศักยภาพการตรวจหาเชื้อ ตลอดจนเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบสุขภาพแห่งชาติในอินเดียมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ยังมีตุรกีที่ได้ยื่นขอสินเชื่อวงเงิน 500 ล้านดอลลาร์ให้กับธนาคารเพื่อการพัฒนาสองแห่งในประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนและชดเชยผลกระทบด้านสภาพคล่องอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียก็ขอกู้เงิน 250 ล้านดอลลาร์เพื่อใช้ในการเตรียมโรงพยาบาลให้มีความพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดใหญ่และปรับปรุงประสิทธิภาพการตรวจหาเชื้อให้ดีขึ้น
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : ซีไอเอ็มบี ไทย มองวิกฤติไวรัสโควิดฟื้นตัวแบบลงลึก ฟื้นช้า และโตต่ำ