BDMS BH

พลิกดีล BDMS เทคโอเวอร์ BH โอกาสมากน้อยเพียงใด??

โดย SM1984

ข่าวใหญ่ที่สุดในวงการธุรกิจไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาต้องยกให้ดีลที่เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ หรือ BDMS  ของ “ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” ได้ยืนขอซื้อหุ้นโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หรือ BH  ทั้งหมด โดยจะต้องใช้เงิน 85,612.73 ล้านบาทเข้าซื้อในราคา 125 บาทต่อหุ้น

“หมอเสริฐ” ไม่ปฎิเสธว่าสนใจที่จะซื้อหุ้น BH โดยได้เข้าซื้อหุ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2554 หรือว่า 9 ปีมาแล้ว ตอนนั้นเข้าซื้อในสัดส่วน 11.1% ในราคา 29 บาท โดยให้เหตุผลว่านักลงทุนต่างชาติได้ทะยอยขายหุ้น BH ออกมา แต่ยังมองว่าบำรุงราษฎร์ มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีและราคาหุ้นอยู่ในระดับน่าสนใจ ขณะเดียวกันยังให้สัมภาษณ์ว่าเป็นการเข้าซื้อหุ้นแบบตรงไปตรงมา ไม่ใช่วิธีการแบบ Hostile Takeover 

“ไม่ได้ดอดเข้าซื้อ ซื้อตรงๆและไม่เคยคิดเทคโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร ในชีวิตไม่เคยทำ”

นับตั้งแต่วันนั้น BDMS ได้ทะยอยเก็บหุ้น BH มาโดยตลอดจนกระทั่งได้ถือหุ้นในสัดส่วน 24.92% ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หมอเสริฐ ต้องการเป็นเจ้าของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เพื่อต่อยอดอาณาจักรโรงพยาบาลของตัวเองให้เป็น “เบอร์หนึ่ง” แต่เพียงผู้เดียว

เพราะหลังจากที่กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพได้เข้าควบรวมกิจการกับเครือโรงพยาบาลพญาไทและเปาโลของ “วิชัย ทองแตง” ในช่วงปี 2554 กลุ่ม BDMS ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเครือข่ายสถานพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยกินรวบทั้งตลาดกลางล่างและกลางบนไปจนถึงตลาดบน ขาดแต่เพียงตลาดพรีเมียมที่ยังมีบำรุงราษฎร์ เป็นคู่แข่งสำคัญ

หากดีลนี้สำเร็จกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพจะทิ้งห่างคู่แข่งที่เป็นโรงพยาบาลเอกชนในปะเทศไทยชนิดไม่เห็นฝุ่น!!

โสภณพนิช” มีไพร่พลน้อยกว่า “ปราสาททองโอสภ” ในหุ้น BH

ปัจจุบันโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีนายชัย โสภณพนิช นั่งในตำแหน่งประธานกรรมการ แต่ไม่มีคนของตระกูลโสภณพนิชนั่งเป็นผู้บริหารระดับสูง

หากดูจากรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดของ BHพบว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดคือ BDMSที่ถืออยู่ 24.92% อันดับที่สองคือ บริษัท กรุงเทพประกันภัย ถืออยู่ 14.65% UOB Kay Hian Hongkong  8.44% โดยมีกองทุนรัฐบาลสิงคโปร์ GIC ถือหุ้นด้วย 1.74% 

หากนับเฉพาะการถือหุ้นของคนในตระกูลโสภณพนิช (รวมส่วนของกรุงเทพประกันภัย) จะประกอบด้วย บริษัท วัฒนโสภณพนิช ที่ถืออยู่ 3.59% นายชัย โสภณพนิช 1.40% นายชาลี โสภณพนิช 0.72% นายชาตรี โสภณพนิช 0.51% (เสียชีวิตไปแล้ว) นับรวมแล้วมีสัดส่วนการถือหุ้นรวมกันเพียง 20.87% ที่เหลือเป็นนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย ที่ถือหุ้นเพียงรายละประมาณ 1% เท่านั้น

หากหมอเสริฐสามารถรวบหุ้นที่รายย่อยถือรวมกันทั้งหมด 49.69% ไปได้ ก็จะขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วนประมาณ 75-80% ในBH ก็เรียกได้ว่ามีความเป็นเจ้าของมากกว่าตระกูลโสภณพนิชไปแล้ว

แต่จะได้เข้าไปนั่งในบอร์ดบริหารหรือถือหุ้นได้ทั้งหมด 100% หรือไม่ เกมส์นี้ยังต้องจับตากันต่อไป เพราะผู้บริหารของบำรุงราษฎร์ ก็เดินเกมส์ของตัวเองเช่นกัน ตั้งแต่การแถลงว่าไม่ยอมรับการเทคโอเวอร์ของBDMS ในครั้งนี้ รวมถึงยื่นเรื่องต่อกรรมการแข่งขันทางการค้าว่าดีลนี้เข้าข่ายการผูกขาดทางการค้า

แถลงการณ์ของ BH ระบุตามนี้

ตามที่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) แจ้งว่าจะเข้าซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข (Conditional Voluntary Tender Offer) ในหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท ทางผู้บริหารของ BH ไม่คาดคิดและไม่เคยทราบเรื่องดังกล่าวมาก่อน

โดยระบุว่าในอดีต BH และ BDMS ต่างดำเนินธุรกิจอย่างอิสระต่อกันและปราศจากการประสานความร่วมมือทางธุรกิจใดๆ  นอกจากนี้บริษัทเห็นว่าทั้งสองกลุ่มโรงพยาบาลดำเนินธุรกิจที่แข่งขันกัน และต่างก็เป็นผู้นำในธุรกิจด้านการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ (Medical Tourism) และการบริการทางการแพทย์ตติยภูมิให้กับกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงระดับสูง

ทั้งนี้ บริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญที่ผู้บริโภคพึงได้รับการบริการทางการแพทย์ตติยภูมิภายใต้การแข่งขันอย่างเป็นธรรมดังนั้น บริษัทจะขอเข้าปรึกษาและให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เพื่อชี้แจงถึงสภาพการแข่งขันในธุรกิจด้านการแพทย์ในปัจจุบัน และขอความชัดเจนในเชิงนโยบายเกี่ยวกับการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท โดย BDMS ดังกล่าว

หมอเสริฐ” เคยพลาดมาแล้วกับการทำ Hostile Takeover

ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ได้ชื่อว่าเป็น “ราชาเทคโอเวอร์” คนหนึ่งของประเทศไทย ในอดีตที่ผ่านมาได้นำเครือโรงพยาบาลกรุงเทพเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลอื่นๆมาแล้ว ตั้งแต่โรงพยาบาลสมิติเวช (SVH) ที่สุดท้ายได้เป็นเจ้าของในสัดส่วน 95.76% 

รวมถึงการดอดเข้าซื้อหุ้นโรงพยาบาลธนบุรีหรือ KDH ในสัดส่วนถึง 34.43% ซึ่งอาจจะเป็นเป้าหมายในการเทคโอเวอร์ครั้งต่อไปก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ในอดีตหมอเสริฐเคยทำดีลเข้าเทคโอเวอร์โรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) โดยการไล่ซื้อหุ้นในตลาดจนได้เป็นเจ้าของหุ้นสัดส่วน 38.24% มาแล้ว แต่ได้รับการต่อต้านจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมทำให้ไม่สามารถที่จะเข้าเทคโอเวอร์ได้จนกระทั่งได้เทขายหุ้นออกไปทั้งหมดเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้วนี่เอง โดยได้ผลตอบแทนเป็นเงินสด 12,800 ล้านบาท

ถึงตอนนี้ ตระกูลโสภณพนิช ซึ่งกลายเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นอันดับสองแต่เป็นเจ้าของอาณาจักรมาก่อนจะยอมเสียดินแดนให้ผู้รุกรานหรือไม่ หากวัดกันที่กำลังพล (เงินในหน้าตัก) อาจจะสู้เศรษฐีหุ้นเมืองไทยอันดับสองไม่ไหว อาจจะต้องใช้กลยุทธ์การศึกอื่นเพื่อที่จะรอดจาการศึกครั้งนี้ให้ได้!!

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : พลิกวิกฤตหาโอกาสลงทุนตลาดหุ้นจีน

Related Posts