CISA คืออะไร ?
CISA หรือชื่อเต็มว่า Certified Investment and Securities Analyst อธิบายแบบย่อๆ เป็นหลักสูตรหรือคุณวุฒิด้านการเงิน ที่มุ่งหวังให้ผู้ศึกษาและทดสอบมีความสามารถในการวิเคราะห์และบริหารการลงทุน เพื่อให้สามารถประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ตลอดจนความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เพื่อการตัดสินใจลงทุนอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนเข้าใจหลักปฏิบัติและจรรยาบรรณในวิชาชีพ
อธิบายง่ายๆCISA เปรียบเสมือน CFA ภาคไทย มีเนื้อหาและข้อสอบภาษาไทย แต่ CISA เป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทย จึงได้รับการยอมรับในประเทศไทยเท่านั้น พูดง่ายๆคือCISA และ CFA ต่างกันที่ภาษาในหลักสูตรและการยอมรับในระดับสากล หากใครที่อ่อนเรื่องภาษาอังกฤษ การสอบCISA จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
แต่หากไม่มีปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษ การสอบ CFA ได้เปรียบกว่าในแง่การได้รับการยอมรับในระดับสากลครับ นอกจากนี้ CISA มีข้อได้เปรียบเรื่องค่าสมัครสอบที่ถูกกว่า และสามารถทยอยสอบเป็นกลุ่มวิชาได้ ซึ่งต่างจาก CFA ที่ต้องสอบทั้งหมดในวันเดียว
หลักสูตรCISA ได้รับการพัฒนาตามกรอบของหลักสูตร CFA ซึ่งมีบางครั้งที่หลักสูตร CISA ปรับตามไม่ทัน ทำให้ผู้สอบ CISA จำเป็นต้องอ่านตำราCISA ที่เป็นภาษาไทยและตำรา CFA ที่เป็นภาษาอังกฤษควบคู่กันไป จึงอาจทำให้เกิดความสับสนได้
ปัจจุบัน TSI รับผิดชอบหลักสูตรCISA ทั้งด้านการพัฒนาข้อสอบ บริหารจัดการคลังข้อสอบ และให้บริการด้านการจัดสอบ รวมถึงการจัดพิธีมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้สอบผ่านเป็นประจำทุกปี
CISA เหมาะสำหรับใคร ?
ผู้ที่ต้องการจะประกอบอาชีพเป็นนักวิเคราะห์การลงทุน ด้านหลักทรัพย์ และด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้ที่ต้องการเป็นผู้จัดการกองทุน ผู้ที่ต้องการความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมการเงิน
เนื้อหาและหัวข้อการทดสอบ
หลักสูตรCISA จะยึดกรอบเนื้อหาของหลักสูตร CFA (Chartered Financial Analyst) ของ CFA Institute ซึ่งแบ่งเป็น 3 ซึ่งแต่ละระดับประกอบไปด้วยองค์ความรู้ 4 ด้านที่เหมือนกัน คือ
1. จรรยาบรรณและมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Ethical & Professional Standards)
– จรรยาบรรณและมาตรฐานการปฏิบัติงาน
– มาตรฐานการวัดการดำเนินงานระดับสากล
– กฎระเบียบที่เกียวข้องและการให้คำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสม (จากเดิมจะเป็นหนังสือ “แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ทำหน้าที่ติดต่อกับผู้ลงทุน” ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้ว มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2561)
– กฎหมายไทย
หมวดนี้เป็นหมวดที่ชิลที่สุด เนื่องด้วยเนื้อหาที่ไม่มาก และไม่มีเนื้อหาคำนวณ สามารถใช้เซนส์ได้(บ้าง) แต่ทางที่ดีก็ควรจะอ่านไป และฝึกทำแนวข้อสอบไปด้วย เพราะบางข้ออาจมีข้อสอบแนวที่ต้องใช้ความจำ แต่ก็ไม่มากเท่าไหร่ (ถ้าไม่อ่านไปเลยอาจมีหนาวๆบ้างเหมือนกัน 555) แนะนำว่าหมวดนี้เอาไว้สอบท้ายๆได้เลยครับ
2. เครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์การลงทุน (Investment Tools)
– เศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาค และเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ
– การวิเคราะห์เชิงปริมาณ
– การวิเคราะห์งบการเงิน
– การเงินธุรกิจ
หมวดนี้ขึ้นชื่อว่ายากมากที่สุด เนื่องด้วยปริมาณเนื้อหาทั้งความจำและการคำนวณจำนวนมาก และหมวดนี้ขึ้นชื่อว่าคนจะสอบไม่ค่อยผ่านกันในครั้งแรก แนะนำให้สอบในหมวดนี้ก่อน เพื่อจะได้ทุ่มเทพลังงานให้ได้อย่างเต็มที่ (ถ้าผ่านแล้วจะชิลๆ 55) เพราะถ้าเราเลือกสอบหมวดง่ายๆก่อน อาจไม่เหลือพลังงานสมองมาใช้ในหมวดนี้ก็เป็นได้
3. การประเมินมูลค่าสินทรัพย์ (Asset Valuation)
– ตลาดหลักทรัพย์
– การลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้ และตราสารอนุพพันธ์
– การลงทุนในทางเลือกอื่น
หมวดนี้ คิดว่าปริมาณและความยากของเนื้อหาจะรองลงมาจากหมวดที่ 2 แต่ก็ไม่ถือว่ายากมากนัก (ส่วนตัวคิดว่าเรื่องตราสารอนุพันธ์เนื้อหาไม่มาก แต่จะเข้าใจยากหน่อยสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ในเรื่องตราสารอนุพันธ์มาก่อน) แนะนำว่าให้สอบเป็นหมวดแรกๆ พยายามอย่าสอบพร้อมกับหมวดที่ 2 เพราะสมองอาจรับไม่ไหว แต่ถ้าใครไหวก็จัดเลยไม่ว่ากัน
4. การบริหารกลุ่มสินทรัพย์ลงทุน (Portfolio Management)
– ทฤษฏีตลาดทุน
หมวดถือว่าง่ายรองมาจากหมวดที่ 1 เนื่องด้วยปริมาณเนื้อหาที่น้อย และเข้าใจได้ง่าย อีกทั้งจำนวนข้อสอบน้อยที่สุด(เพียง 30 ข้อ หมวดอื่นๆจะมี 70 ข้อ) แนะนำว่าเก็บไว้สอบเป็นหมวดปิดท้ายการสอบเลยก็ได้ครับ
โดยในCISA ระดับ 1 เนื้อหาจะมุ่งให้เข้าใจเครื่องมือพื้นฐาน เพื่อการวิเคราะห์งบการเงิน การวิเคราะห์หลักทรัพย์ และการบริหารกลุ่มสินทรัพย์ จะยังไม่มีการประยุกต์ใช้เครื่องมือต่างๆครับ
ปล. เนื้อหาในข้อสอบคิดว่าคงไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากอาจผิด “จรรยาบรรณและมาตรฐานการปฏิบัติงาน” ได้ครับ^^
สอบผ่านแล้วได้อะไร?
แน่นอนว่าอันดับแรกที่ได้คือ ความรู้ในการบริหารเงินลงทุนของตนเอง จากขั้นพื้นฐานไปถึงระดับสูง รวมถึงความรู้ในการบริหาร Portfolio ของกองทุนรวม ทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ
ในด้านของสายงานอาชีพ จะสามารถขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่อทำงานในตำแหน่งที่สำคัญในสายการเงิน โดยCISA level I สามารถทำงานในสายงาน “ผู้วิเคราะห์หลักทรัพย์” ได้ (โดยต้องมีประสบการณ์ด้านการลงทุน 1 ปี) และงาน “ผู้ขายหลักทรัพย์” (ไม่ต้องมีประสบการณ์)
(แหล่งข้อมูลอ้างอิง: http://www.tsi-thailand.org/index.php…)
การเตรียมตัวสอบ
การเตรียมตัวของแต่ละคนก็อาจแตกต่างกันออกไป เนื่องจากความรู้พื้นฐาน ทักษะ ภารกิจหน้าที่ รวมถึงเวลาของแต่ละคนก็ต่างกันไป ที่จะแชร์นี้ถือเป็นแนวทางส่วนตัว อาจลองนำไปปรับใช้กันดูครับ
1) ศึกษาข้อมูลต่างๆอย่างละเอียดและหัวข้อการสอบทำความเข้าใจให้ดี
สามารถศึกษาเบื้องต้นได้ที่ :
– รายละเอียดภาพรวม : https://www.set.or.th/professio…/Download/career/CISA_A4.pdf
– มุมคุณวุฒิ : https://www.set.or.th/set/professional/html.do…
– หลักสูตร : https://www.set.or.th/set/professional/html.do…#
– โครงสร้างการสอบ : https://www.set.or.th/set/professional/html.do…
– ระเบียบการสมัครทดสอบ : https://www.set.or.th/set/professional/html.do…
– การจัดทดสอบ : https://www.set.or.th/set/professional/html.do…
– รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบ : https://www.set.or.th/set/professional/html.do…
2) หาซื้อหนังสือเตรียมสอบ (ตำรา + แบบทดสอบ)
– หนังสือเตรียมสอบ
https://www.set.or.th/set/professional/html.do…
(บางพาร์ทมีให้โหลดอ่านได้ฟรีครับ)
– สั่งซื้อหนังสือ (E-book)
https://www.mebmarket.com/index.php…
(ส่วนตัวสั่งจากเวบไซต์ Meb เพราะจะได้ลดราคา ไม่ต้องแบกเป็นเล่มๆ แต่จะลำบากตอนที่จดโน้ตลง)
– แบบฝึกหัดเตรียมสอบ
https://www.set.or.th/set/professional/html.do…
หรือสามารถซื้อได้ที่:
– ร้าน INVESTORY Shop อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ
(เวลา 09:00 – 20:00 น ปิดวันจันทร์) หรือ ดาวน์โหลดหนังสือในรูปแบบ e-Book
– ร้านหนังสือ SE-ED Book Center ทุกสาขา หรือ สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ www.se-ed.com
แบบฝึกหัดเตรียมสอบ : https://www.set.or.th/set/professional/html.do…
3) วางแผนการอ่านหนังสือ
ในแต่ละหัวข้อของแต่ละหมวด จะมีปริมาณการออกข้อสอบไมเท่ากัน
ต้องจัดสรรเวลาให้เหมาะสมในการอ่าน ควรมุ่งโฟกัสในหัวข้อที่ปริมาณการออกข้อสอบมากๆก่อน โดยควรทำโน๊ตย่อ(ในจุดที่สำคัญๆ)ไว้อ่านทวน และฝึกทำข้อสอบใน Workbook ด้วย
ทริคการวางแผนการอ่านหนังสือส่วนตัว
– ก่อนจะอ่านเนื้อหา ให้ลองฝึกทำ Workbook ก่อน (เหมือนทำ Pre-test) เพื่อที่จะจับประเด็นโฟกัสได้ว่าข้อสอบจะออกแนวไหน และควรจะโฟกัสเนื้อหาส่วนไหนเป็นหลัก แล้วจดโน้ตย่อไว้
– พอฝึกทำ Workbook แล้ว ก็ถึงเวลาอ่านเนื้อหา ก่อนอื่นควรอ่านสารบัญเพื่อให้เห็นโครงสร้างเนื้อหาในภาพรวม และก่อนจะอ่านเนื้อหาแต่ละบทแนะนำให้อ่านสรุปในแต่ละบทก่อน เพื่อจับประเด็นหลักๆที่สำคัญ จากนั้นก็อ่านเนื้อหาได้ครับ
– พออ่านเนื้อหาเราจะพอทราบได้แล้วว่าควรโฟกัสที่จุดไหน จากนั้นก็จดสรุปเพื่อเอาไว้อ่านทบทวน
– หลังจากอ่านจบในแต่ละหมวด ก็ลงมือฝึกทำ Workbook ได้ (Post-test) โดยให้ลงมือทำแบบห้ามดูเฉลยก่อนให้เสร็จ หลังจากนั้นก็ตรวจคำตอบ ดูเฉลย แนะนำว่าควรจดโน้ตไว้ในข้อที่เราติดหรือไม่เข้าใจ และทำสรุปเนื้อหา+สูตรที่ควรจำจากข้อสอบ Workbook (ตรงนี้จะเป็นจุดสำคัญที่ควรโฟกัสเลย) เพื่อเอาไว้อ่านทบทวน
– ควรจะทำให้เสร็จไปทีละหมวดๆ ไม่อ่านสลับหมวดไปมา เพื่อจะได้ไม่สับสน
ปล. โดยปกติจะมีการอบรมอยู่เป็นระยะๆ แต่ผมไม่ได้เข้าอบรม และไม่ทราบข้อมูลหรือรายละเอียดแน่ชัด จึงไม่ขอลงรายละเอียดครับ
สามารถศึกษารายละเอียดการเข้าอบรมCISA ได้ที่
https://conc.tbs.tu.ac.th/inde…/program/detailenrollment/151
http://mba.nida.ac.th/cbi/th/contact-us.html
4) อย่ายอมแพ้
ด้วยเนื้อหาที่ยาก และปริมาณเยอะมาก บางท่านอาจสอบไม่ผ่านในรอบแรก
แต่อย่าเพิ่งท้อถอยหรือล้มเลิกไปครับ ทุกอย่างเป็นบทเรียนที่ทำให้เราเห็นถึงจุดอ่อนของตนเอง ขอแค่เราไม่หยุดเรียนรู้ และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป ล้มได้ ท้อได้ แต่ไม่เลิกครับ สู้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายผมเชื่อว่าทุกคนจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้อย่างแน่นอน
สุดท้ายนี้หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจการสอบ CISA รวมถึงผู้อ่านทุกท่านไม่มากก็น้อย ส่วนตัวเห็นว่าการสอบนี้นอกจากที่จะได้ความรู้แล้ว ยังเป็นตัวช่วยสร้างความมุ่งมั่น อดทน และการมีวินัยให้เราอย่างมาก นอกจากนี้ยังเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขประตูโอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพนี้ ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่กำลังเตรียมตัวสอบ และขอแสดงความยินดีกับผู้ที่สอบผ่านแล้วด้วยครับ
สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบ CISA ได้ที่
References :
https://www.set.or.th/set/professional/html.do…
https://www.set.or.th/professio…/Download/career/CISA_A4.pdf
http://www.tsi-thailand.org/index.php…)
http://www.jobpub.com/articles/showarticle.asp?id=1493
http://cfathailand.blogspot.com/2011/11/cisa.html
.—————
ติดตาม “คลินิกการลงทุน” ได้ที่
>> https://www.facebook.com/WealthInvestmentClinic/
>> https://wealthinvestmentclinic.wordpress.com