นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ได้เผยข้อสรุปการลงทุนตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมาว่า “การลงทุนในสตาร์ทอัพทั่วโลกช่วงปี 2018-2020 นั้นจะมีตัวเลขการลงทุนเท่าๆ กัน โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมต่อปีอยู่ที่เฉลี่ยปีละ 290 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปี 2021 นั้น นับเป็นปีทองของการลงทุน โดยทั่วโลกมีมูลค่าการลงทุนรวมแตะถึง 620 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ซึ่งสำหรับในไทยที่แม้ว่าจะอยู่ในช่วงวิกฤตโควิดแต่ก็มีมูลค่าการลงทุนสูงเช่นเดียวกัน ส่วนทาง กรุงศรี ฟินโนเวต เองก็เป็นปีที่ลงทุนมากที่สุด โดยมีเหตุและปัจจัยที่เอื้อต่อการตัดสินใจลงทุนที่เพิ่มขึ้นในปี 2021 คือความมั่นใจในการลงทุนในบริษัทที่สามารถอยู่รอดได้ในวิกฤตที่ผ่านมา รวมถึงการเจรจาร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพก็ทำได้ง่ายขึ้นในช่วงโควิด พอมาสู่ปี 2022 ตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงเดือนกรกฎาคมนั้น มีตัวเลขของการลงทุนลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะเห็นว่ายังไม่ถึง 50% ของปี 2021 แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าตัวเลขการลงทุนปี 2022 จะโตกว่าปี 2020 แน่นอน“
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : ตลาดหมีของ Metaverse และ NFT จะผ่านพ้นไปหรือยัง
นายแซม ตันสกุล กล่าวต่อว่า “ในปัจจุบันนี้มีการเกิด Down Round หรือการที่ Valuation ของสตาร์ทอัพนั้นตกลงกว่าที่เคยเป็น มองว่าเป็นเรื่องปกติที่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งในยุคนี้หลายๆ สตาร์ทอัพ ก็ยอมรับการ Down Roundเนื่องจากสถานการณ์ที่ไม่สวยหรูจากการ Projection ของ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในปัจจุบันตัวเลขของการลงทุนในสตาร์ทอัพทุกสเตจได้ลดลงกว่า 25% โดยเฉลี่ย ซึ่งจะเห็นได้ชัดในสตาร์ทอัพที่เป็น Late Stage
โดยในปี 2021 นั้น สหรัฐอเมริกาได้มีการปิดดีลการลงทุนใน Late Stage ประมาณ 700 ดีล แต่ในทางกลับกัน 2 ไตรมาสแรกของปี 2022 เกิดดีลการลงทุนเพียง 285 ดีลเท่านั้น แต่ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่แย่มากเมื่อเทียบกับปี 2020 ที่ปิดดีลการลงทุนไปได้เพียง 272 ดีล“
“ซึ่ง 2 ไตรมาสแรกของปี 2022 นั้น จะเห็นได้ว่าสหรัฐอเมริกายังคงครองอันดับ 1 ในด้านตัวเลขการลงทุน ซึ่งมีมากกว่า 2,700 ดีล หรือเป็นตัวเลขการลงทุนอยู่ที่ 53 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเอเชียรองลงมาเป็นอันดับที่สองตัวเลขมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 27 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งใหญ่กว่ายุโรป ตัวเลขนี้สะท้อนว่าตลาดเอเชียยังเป็นตลาดใหญ่ ถ้าเป็นสมัยก่อนก็จะไปกระจุกที่ประเทศจีนแต่ ณ วันนี้เริ่มกระจายออกแล้ว โดยกระจายไปทางอินเดีย อินโดนีเซีย ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าอินโดนีเซียมีหลาย Unicorn ที่เกิดขึ้นมาในช่วงปีหลังนี้ ถัดลงมาก็เป็นที่สิงคโปร์ ส่วนประเทศไทยนั้น Fund Flow ก็เริ่มมาแล้วเช่นกัน“
ศึกษากลยุทธ์ Digital Marketing โดยใช้ Metaverse และ NFT ได้ที่ลิงค์นี้
นายแซม ตันสกุล เผยต่อว่า “6 Tech ที่ Venture Capital สนใจจะลงทุนในปี 2023 เพื่อให้เป็นข้อมูลกับสตาร์ทอัพไทย (1) DeFi หรือที่เราเรียกว่า Decentralized Finance วันนี้เราเห็นการเติบโตของ Decentralized Finance สูงขึ้นมากมีเทคโนโลยีที่ต้องการตัดคนกลางออก เราเห็นตลาดของ DeFi ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว (2) Metaverse คือกลุ่มหนึ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จากการที่ตลาดกำลังพัฒนาใน web 3.0 (3) Cyber Security ยังคงมาแรงอยู่เรื่อยๆ และกระโดดขึ้นมากในปี 2021 เนื่องจากเมื่อมีการเพิ่มขึ้นของการทำธุรกรรมไร้ตัวกลาง ก็ทำให้เกิดอาชญากรรมทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นตามด้วย
(4) Climate Tech / ESG ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปคนจะไปลงทุนในกลุ่มนี้มากขึ้นเพราะเราเชื่อว่าบริษัทไหนก็ตามที่ใส่ใจในเรื่องของ Sustainability, ESG, Climate Tech, Climate Change จะถือเป็นบริษัทที่ดี และจะใช้ของที่ดีให้กับลูกค้า (5) Buy Now Pay Later (BNPL) จริงๆ แล้วธุรกิจนี้จะโฟกัสที่คนที่ยังไม่มีเครดิต หรือสมัครบัตรเครดิตไม่ผ่าน ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถซื้อสินค้า สมัคร แล้วจ่ายชำระหรือผ่อนได้เลย และ (6) Ultrafast Delivery ธุรกิจนี้เริ่มมีมานานแล้วและมีจำนวนมากมาย โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งความเร็วในการส่งของให้ลูกค้านั้นเริ่มเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับธุรกิจกลุ่มนี้ โดยมีสตาร์ทอัพที่สามารถส่งของให้ลูกค้าภายในเวลา 15 นาที และนี่ก็คือ 6 ธุรกิจที่เราเห็นว่ามันกำลังมาอย่างรวดเร็วและเป็นสิ่งที่ VCs ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างยิ่ง” นายแซม กล่าวปิดท้าย