Money Management คือ หลักการบริหารเงินในพอร์ตลงทุนเพื่อที่จะคุมความเสี่ยงในการเทรด ป้องกันไม่ให้เกิดผลขาดทุนที่หนักจนไม่สามารถจะสร้างผลตอบแทนกลับมาได้ รวมถึงการบริหารสินทรัพย์ที่ถือในพอร์ต ถ้าหากเปรียบวิธีการทำกำไรเป็นเกมส์รุก Money Management คือ เกมส์รับนั่นเอง
เกมส์รุกทำให้ชนะในเกมส์แต่เกมส์รับทำให้เป็นแชมป์
คำพูดนี้เป็นของเซอร์อเล็ก เฟอร์กูสัน อดีตผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด มีความหมายคือการที่เล่นเกมส์รุกได้ดีแต่เกมส์รับแย่หรือเน้นการทำกำไรเพียงอย่างเดยว อาจจะทำได้แค่ชนะในเกมส์แต่อาจจะเกิดความผิดพลาดได้บ่อยครั้งจนทำให้เกิดความพ่ายแพ้หรือขาดทุนในการลงทุน
แต่ถ้ามีเกมส์รับที่ดีหรือมีการบริหารเงินในพอร์ตเป็นอย่างดี แม้อาจจะทำกำไรได้ไม่มากแต่โอกาสที่จะขาดทุนมีน้อยลง ระยะสั้นผลตอบแทนอาจจะไม่หวือหวาแต่เมื่อผ่านไปในระยะยาวพอร์ตจะยังสามารถเติบโตได้
หากเราคิดว่าการลงทุนคือเกมส์ระยะยาวไม่ใช่แค่การเก็งกำไรระยะสั้นไปวันๆ นี่เป็นหน้าที่ของเทรดเดอร์ที่จะต้องเรียนรู้ศาสตร์ของ Money Management ในระดับที่มีความสำคัญใกล้เคียงกับรูปแบบการทำกำไรเลยทีเดียว
บทความที่เกี่ยวข้อง : ควบคุมความเสี่ยงในการเทรดด้วย Risk Reward Ratio
ยิ่งขาดทุนหนักยิ่งกลับมาได้ยาก
สาเหตุที่เทรดเดอร์ต้องเน้นในเรื่องของ Money Management ก็เพราะหากปล่อยให้เกิดผลขาดทุนของพอร์ตมากเท่าไร การจะทำให้พอร์ตกลับมามีกำไรยิง่ทำได้ยากมากขึ้นเท่านั้น ดูได้จากกราฟฟิคนี้จะเห็นได้ว่ายิ่งเราขาดทุนมากขึ้นเท่าไร ความยากในการรอให้ราคากลับมาชดเชยกับส่วนที่ขาดทุนไปยิ่งยากมากขึ้นกว่าหลายเท่า ไม่ใช่ว่าขาดทุน 40% แล้วรอให้ราคากลับมา 40% ก็จะกลับมากำไรได้ แต่ต้องรอให้ตัวเลขกำไรกลับมามากกว่านั้น
ดังนั้นเราไม่ควรที่จะปล่อยให้พอร์ตขาดทุนหนักมากเกินไปด้วยการจำกัดผลขาดทุนที่เกิดขึ้น แล้วแต่ระดับความเสี่ยงที่นักเทดแต่ละคนรับได้รวมถึงระดับความผันผวนของสินทรัพย์ที่ลงทุนเช่น ตลาดหุ้นอาจจะรับความเสี่ยงติดลบได้ตั้งแต่ 20-30% แต่ถ้าเป็นคริปโตอาจจะรับความเสี่ยงได้ตั้งแต่ 30-40% เนื่องจากราคามีความผันผวนกว่า
บทความที่เกี่ยวข้อง : Dow Theory ตำราพื้นฐานของการวิเคราะห์ทางเทคนิค
ตัดขาดทุนหรือทะยอยซื้อเพิ่ม
หนึ่งในคำามสำคัญของนักเทรดมือใหม่คือจะรู้ได้อย่างไรว่าถึงเวลาที่จะต้องตัดขาดทุนหรือเข้าซื้อเพิ่มได้ ข้อแรกคือดูที่ตัวสินทรัพย์ ถ้าเป็นหุ้นสามัญหรือตลาด Spot ของคริปโต สามารถที่จะซื้อเพิ่มได้แต่ถ้าเป็นตราสารที่มี Leverage อย่างเช่น Futures ไม่สามารถซื้อเพิ่มหรือถัวราคาได้ ต้องตัดขาดทุนเท่านั้น
การซื้อเพิ่มเพื่อถัวราคาให้มีต้นทุนถูกลงทำได้ในขณะที่แนวโน้มราคาเป็นขาลงเท่านั้นและควรจะเป็นสินทรัพย์ที่มีพื้นฐานรองรับเพราะการที่ไม่มีพื้นฐานรองรับราคาจะมีความผันผวนสูงไม่เหมาะสมกับการซื้อถัวเฉลี่ย
อย่างไรก็ตามการซื้อถัวเฉลี่ยไม่ควรที่จะเกิน 3 ครั้ง หากมากกว่านั้นหรือราคาหลุดแนวรับที่มีนัยยะสำคัญ แม้จะมีพื้นฐานที่ดีเพียงใดก็จำเป็นที่จะต้องตัดขาดทุนทันที
ไม่ซื้อถัวในภาวะขาลง
อีกหนึ่งข้อผิดพลาดของนักเทรดมือใหม่คือการเข้าไปช้อนซื้อในขณะที่ราคาเป็นขาลงซึ่งทำให้ผลขาดทุนในพอร์ตยิ่งขาดทุนมากขึ้น เปรียบเสมือนกับการที่เรือของเรามีรอยรั่วและกำลังจมลง เรายิ่งเพิ่มคนเข้าไปในเรือให้มีน้ำหนักมากขึ้น เรือก็จะยิ่งจมลงเร็วมากขึ้น
ดังนั้นในภาวะขาลงซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้จากการใช้ Dow Theory จึงไม่ใช่เวลาที่จะเข้าไปซื้อเพิ่มโดยเฉพาะเวลาที่ราคาถูกเทขายลงมาหนักๆอย่างรวดเร็ว ยิ่งไม่ใช่เวลาจะเข้าไปรีบช้อนซื้อเพราะคิดว่าราคาลงมาเยอะ แต่ควรรอให้ราคาหยุดลงและเริ่มนิ่งหรือเกิดจุดกลับตัวพลิกกลับเป็นขาขึ้นถึงเป็นจังหวะในการเข้าไปซื้อเพื่อถัวราคา
ใส่น้ำหนักการลงทุนให้เหมาะสม
การวางเงินเพื่อลงทุนในแต่ละครั้งก็ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของการทำ Money Management โดยเวลาที่เข้าซื้อแต่ละครั้งไม่ควรที่จะใส่ Position ทั้งหมด 100% ในคราวเดียว แม้จะซื้อในขณะที่ลงมาในแนวรับแล้วก็ตามเพราะยังมีโอกาสที่จะเกิดการเทขายลงมาได้อีกโดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
การแบ่งไม่เข้าซื้อแต่ละครั้งควรจะแบ่งโพสิชั่นในการเข้า 2-3 ครั้งหรือใส่น้ำหนัก 30-50% ในการเข้าซื้อแต่ละครั้ง เพราะเวลาที่ราคามีการย่อตัวลงมาจะยังมีเงินเหลือในพอร์ตในการเข้าซื้อได้อีก โดยการแบ่งไม้ซื้อแต่ละครั้งไม่ควรที่จะซื้อด้วยความถี่มาก ควรแบ่งระยะห่างของราคาในการเข้าซื้อแต่ละครั้งที่ 3-5%
เกณฑ์การใช้แนวรับเพื่อแบ่งไม้ในการเข้าซื้อสามารถใช้เครื่องมืออย่างเส้น EMA ,เทรนด์ไลน์,แนวรับตามแนว Fibonacci ตามแต่สถานการณ์ แต่ถ้าราคายังหลุดทุกแนวรับในไม้สุดท้ายจำเป็นที่จะต้องตัดขาดทุนออกไปก่อน
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : นับคลื่นวางแผนการเทรดด้วย Elliot Wave
กระจายตัวเล่นลดความเสี่ยง
การเลือกจำนวนสินทรัพย์ที่จะลงทุนก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน ถ้าเราถือสินทรัพย์ใดเพียงตัวเดียวในสัดส่วนที่สูงหรือการ All In เวลาที่เลือกถูกทางจะได้รับผลตอบแทนในระดับสูงที่สามารถจะพลิกพอร์ตลงทุนได้ แต่ถ้าผิดทางก็อาจจะขาดทุนได้อย่างมากเช่นกัน
ขณะเดียวกันถ้าเรากระจายสินทรัพย์ลงทุนมากเกินไปเช่นลงทุนไปทั้งหมด 10 ตัวเล่น โอกาสจะขาดทุนหนักๆจะน้อยลง เพราะใน 10 ตัวที่ลงไปอาจจะมีทั้งตัวที่ขาดทุนและกำไรเฉลี่ยกันไป แต่เวลาที่มีตัวใดตัวหนึ่งทำกำไรได้มากพอร์ตของเราก็จะไม่เติบโตได้มากเช่นกันเพราะน้ำหนักการลงทุนถูกกระจายออกไป
หลักการกระจายสินทรัพย์จึงขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่แต่ละคนยอมรับได้ หากรับความเสี่ยงได้มากก็สามารถถือสินทรัพย์ได้น้อยตัวในสัดส่วนที่สูงแต่ถ้ารับความเสี่ยงได้น้อยก็ต้องกระจายตัว
รวมถึงหลักการกระจายสินทรัพย์ให้มีความหลากหลายด้วยเช่นกัน เช่น ไม่ถือหุ้นหรือเหรียญคริปโตในกลุ่มเดียวกันมากเกินไป แต่ควรกระจายกลุ่มให้มีความหลากหลายเพราะเวลาที่เกิดข่าวด้านลบขึ้นพอร์ตของเราจะไม่เสียหายหนักมากเกินไป
นี่คือหลักการของการบริหารเงินหรือ Money Management ที่นักเทรดทุกคนต้องให้ความสำคัญ แม้ว่าจะไม่ตื่นเต้นเท่ากับวิธีการทำกำไร แต่จะช่วยให้พอร์ตลงทุนของเราสามารถเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน เพราะการลงทุนคือการวิ่งมาราธอนไม่ใช่การวิ่ง 100 เมตร
ศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์นี้