On Chain Data คือ ข้อมูลต่างๆที่เกิดขึ้นภายในบล็อกเชนที่เราสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของนักลงทุนตลอดจนคาดการณ์แนวโน้มของราคาที่จะเกิดขึ้นได้ จึงเปรียบเสมือนกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของ Cryptocurrency ตลอดจน DeFi Protocol และ GameFi ต่างๆนั่นเอง
การที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลในบล็อกเชนได้ทำให้ On Chain Data มีความโปร่งใสสูงเพราะสามารถคำนวนได้จาก Smart Contract ต่างๆ ทำให้ช่วงหลังมานี้การวิเคราะห์ด้วย On Chain Analysis ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเราสามารถแบ่งประเภทของข้อมูลและการวิเคราะห์ได้ดังนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 เวบไซต์วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานคริปโตบน On Chain
พฤติกรรมของนักลงทุนที่มีต่อเหรียญนั้นๆ
ในโลกของการลงทุนถ้าหากสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้เล่นในตลาดได้จะช่วยให้มองภาพรวมของตลาดได้ชัดเจนขึ้น ทั่วไปแล้วการวิเคราะห์พฤติกรรมของนักลงทุนจะประกอบไปด้วย Indicators เหล่านี้
ขนาดและจำนวนของ Wallet >> จะบ่งบอกว่าผู้ที่ถือครองเหรียญนั้นๆมีจำนวนมากขึ้นหรือน้อยลงซึ่งจะบ่งบอกได้ถึงความนิยมในเหรียญนั้นๆมีเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง ส่วนขนาดของ Wallet สามารถแยกแยะได้ว่าเหรียญนั้นๆมีค่าเฉลี่ยของมูลค่าเหรียญที่แต่ละ Wallet ถืออยู่เท่าไร จะช่วยระบุได้ว่าเหรียญนั้นๆส่วนใหญ่ผู้ถือเป็นรายย่อยหรือระดับปลาวาฬ
จำนวนและมูลค่าของการทำธุรกรรม >> เหรียญที่มีจำนวนการทำธุรกรรมหรือ Transaction เติบโตขึ้นและมูลค่าของแต่ละธุรกรรมเช่นการโอนการซื้อขายสูงขึ้นก็เป็นการบ่งบอกว่ามีความนิยมในเหรียญนั้นมากขึ้นได้เช่นกัน แต่หากน้อยลงก็หมายความว่าความนิยมในเหรียญนั้นๆลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ยังสามารถบอกได้ว่าผู้ถือเหรียญนั้นๆมีความ Active มากน้อยแค่ไหน
ระยะเวลาเฉลี่ยของการถือครอง >> สามารถบอกได้ว่าเหรียญนั้นๆมีค่าเฉลี่ยของการถือครองเหรียญในช่วงระยะเวลาไหนมากที่สุด เช่น 30 วัน,90 วัน หรือมากกว่า 365 วัน ซึ่งจะเป็นการบ่งบอกถึงพฤติกรรมของผู้ถือเหรียญว่ามีความเป็นนักลงทุนระยะยาว (Hodler) หรือเป็นนักเก็งกำไรระยะสั้นมากกว่ากัน อีกทั้งยังสามารถบอกได้ว่าคนที่ถือเหรียญนั้นๆส่วนใหญ่ขาดทุนหรือกำไรอยู่และถือครองในช่วงราคาไหนมากที่สุดซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์จังหวะในการซื้อขายได้
จำนวนซัพพลายของเหรียญใน Exchange >> หรือการดูว่าเหรียญที่ซื้อขายในตลาดรองมีเหลืออยู่จำนวนมากน้อยขนาดไหนเมื่อเทียบกับจำนวนเหรียญทั้งหมด ถ้าจำนวนเหรียญที่ซื้อขายได้ในตลาดรองลดลงอาจเป็นไปได้ว่าเหรียญนั้นๆอาจถูกเก็บเข้าไปใน Hardware Wallet หรือถูกนำออกไปจากตลาดซื้อขายเป็นที่เรียบร้อย ถ้าซัพพลายในตลาดลดลงแต่มีความต้องการเข้ามามากขึ้นจะเป็นตัวผลักดันให้ราคาเหรียญปรับตัวขึ้นได้
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ธุรกิจจะสร้างแบรนด์และรายได้จาก Metaverse ได้อย่างไร
การวิเคราะห์รายได้ที่เกิดใน dApps
อีกหนึ่งการวิเคราะห์ On Chain Data คือ การวิเคราะห์รายได้หรือมูลค่าของธุรกรรมที่เกิดขึ้นภายในบล็อกเชนหรือ dApps ต่างๆไม่ว่าจะเป็น DeFi,GameFi หรือ NFT ซึ่งสามารถเป็นตัวชี้วัดถึงความนิยมและพื้นฐานของ dApps ต่างได้รวมถึงสามารถนำไปตีมูลค่าของ Governance Token หรือมูลค่าของแพลตฟอร์มนั้นๆได้เช่นกัน โดบเวบไซต์หลักที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลคือ Tokenterminal
โดยมี Indicator หลักสองตัวคือ TVL (Total Value Lock) พูดง่ายๆคือมูลค่าของเงินที่มีคนนำมาลงทุนหรือใช้งานภายใน dApps หรือบล็อกเชนใดๆก็ตามนั่นเอง อีกตัวคือ Revenue ก็คือรายได้ที่เกิดขึ้นภายใน dApps หรือบล็อกเชนนั้นๆ ซึ่งอาจจะมาจากค่าธรรมเนียมต่างๆ
ถ้าหากทั้งสอง Indicator นี้เพิ่มสูงขึ้นจะสามารถมองได้ว่ามีผู้ที่สนใจใช้งานแพลตฟอร์มนั้นๆเป็นจำนวนมาก บ่งบอกได้ว่าแพลตฟอร์มนั้นๆมีความน่าสนใจในแง่ของฟีเจอร์ต่างๆ เปรียบได้กับบริษัทที่ผลิตสินค้าหรือให้บริการที่มีผู้ใช้บริการและผู้ซื้อจำนวนมากทำให้มีรายได้มากขึ้น บริษัทนั้นก็มีความน่าสนใจในการลงทุน
นอกจากนี้ยังมี Indicator ที่สามารถวิเคราะห์พื้นฐานของ dApss ในเชิงการตีมูลค่าอีกสองตัวคือ
อัตราส่วนยอดขายต่อราคา (price-to-sale หรือ P/S)
เป็นอัตราส่วนที่นำมูลค่าตลาด (Marketcap) ของ Governance Token ที่ซื้อขายในตลาดรองหรือ Exchange มาหารกับยอดขายที่เกิดขึ้นใน dApps นั้นๆ
อัตราส่วนรายได้ต่อราคา (Price-To-Earning หรือ P/E)
เป็นอัตราส่วนที่นำมูลค่าตลาด (Marketcap) ของ Governance Token ที่ซื้อขายในตลาดรองหรือ Exchange มาหารกับรายได้ที่เกิดขึ้นใน dApps นั้นๆ คล้ายๆกับค่า P/E ของการวิเคราะห์หุ้น
ทั้งสอง Indicator นี้ทให้เราพอจะทราบได้ว่าราคาของเหรียญ Governance Token ที่ซื้อขายกันในตลาดรองหรือ Exchange เมื่อเทียบกับรายได้และยอดขายที่เกิดขึ้นถือว่ามีความสมเหตุผสมผลกันหรือไม่ เหมือนกับการวัดค่า P/E ของหุ้นที่หุ้นบางตัวมีรายได้ที่เติบโตต่อเนื่องแต่ราคาในกระดานแทบจะไม่ขึ้นทำให้ค่า P/E ของหุ้นตัวนั้นอาจจะไม่สูงมาก
ขณะเดียวกันหุ้นที่รายได้ไม่เติบโตหรือขาดทุนแต่ราคาในกระดานปรับตัวขึ้นไปสูงมากอาจมองได้ว่าราคาวิ่งเกินไปจากพื้นฐานที่ควรจะเป็น หลักการนี้ก็สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ราคาเหรียญที่ซื้อขายใน Exchange ที่มีรายได้ในตัวเองได้เช่นกัน
ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าพื้นฐานของโปรเจกต์กับราคาเหรียญที่ซื้อขายในตลาดรองอาจจไม่จำเป็นต้องไปในทิศทางเดียวกันก็เป็นได้ อย่างเช่นตลาดหุ้นเรามักจะเห็นหุ้นปั่นเก็งกำไรที่กิจการย่ำแย่แต่ราคาหุ้นถูกลากไปหลายเท่า หรือหุ้นที่พื้นฐานดีมากแต่ราคาไม่ไปไหนเช่นกัน
Indicator อย่าง P/S และ P/E จึงถูกนำมาใช้เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของการวิเคราะห์พื้นฐานของ dApps ใดๆเท่านั้นแต่ไม่สามารถใช้สรุปได้ว่าเหรียญนั้นๆมีความน่าสนใจในการลงทุนหรือไม่โดยจำเป็นต้องใช้ข้อมูลการวิเคราะห์อื่นๆเข้ามาใช้ร่วมกัน
การนำ On Chain Data มาใช้งานจึงเป็นการตอกย้ำว่าสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้เป็นเพียงสินค้าเก็งกำไรที่ไม่สามารถวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานได้เลย เพราะ dApps ที่ถูกสร้างขึ้นมาในยุคหลังล้วนแล้วแต่มีรายได้จากผู้ใช้งานที่เกิดขึ้นจริงซึ่งสามารถนำมาประเมินมูลค่าของเหรียญที่ซื้อขายในตลาดรองได้ ผู้ที่จริงจังกับการลงทุนจึงควรศึกษาเรื่อง On Chain Data ให้มากเพื่อให้ได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่รอบด้านและครบถ้วนต่อการลงทุนให้ประสบความสำเร็จในที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง : รับเงินปันผลในโลกคริปโตด้วยการ Staking