GameFi คือ หนึ่งในกระแสที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ทำให้เกิดผู้พัฒนาเกมส์จำนวนมากแห่กันมาสร้างเกมส์ที่มีรูปแบบของ Play-To-Earn แต่ก็มีหลายเกมส์ที่ล้มเหลวหรือที่เรียกว่าเกมส์แตกไม่ว่าจะเป็นราคาโทเคนที่ร่วงแทบจะหมดค่าหรือสภาพคล่องภายในเกมส์หายออกไปจนหมด สาเหตุสำคัญมาจากการออกแบบระบบเศรษฐกิจภายในเกมส์หรือ Tokenomic ที่ผิดพลาด
ฟังคลิปวิเคราะห์เรื่องของ GameFi ได้ที่ลิงค์นี้
“เงินเฟ้อ” ตัวชี้ชะตาของ Tokenomic
เราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า “เงินเฟ้อ” ในเชิงเศรษฐกิจว่าเป็นภาวะที่ค่าของเงินด้อยค่าลงจากการที่มีปริมาณเงินในระบบมากเกินไปแต่ไม่เกิดการนำไปใช้ให้ระบบเศรษฐกิจมีการหมุนเวียนต่อไปได้
ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้นคือการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯหรือ FED มีการพิมพ์เงินออกมาในระบบจำนวนมากเพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด แต่พอวิกฤติเริ่มคลี่คลายปริมาณเงินที่พิมพ์ออกมาอย่างไม่จำกัดด้วยวิธีการที่เรียกว่า QE ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในระบบเศรษฐกิจจริงเช่นจับจ่ายซื้อของแต่อยู่ในตลาดการลงทุนอย่างตลาดหุ้นและคริปโต
ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯพุ่งสูงขึ้นกว่า 7% สูงสุดในรอบกว่า 40 ปี เท่ากับว่าเงิน 100 ดอลลาร์ ในมือมีมูลค่าจริงเพียงแค่ 93 ดอลลาร์ เรียกได้ว่ากำลังซื้อของผู้ถือเงินดอลลาร์ลดลง
ส่วนในโลกของ GameFi เงินเฟ้อมีความหมายว่าปริมาณโทเคนหรือเหรียญที่อยู่ในเกมส์หรือในระบบนั้นๆมีมากเกินไป แต่ไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในเกมส์ เมื่อผู้เล่นได้รับโทเคนที่เป็นรางวัลจากการเล่นเกมส์มาก็นำไปขายต่อโดยไม่ได้นำไปใช้ลงทุนต่อภายในเกมส์
ขณะเดียวกันเมื่อเกิดแรงขายแต่ไม่เกิดแรงซื้อโทเคนขึ้นมาในระดับเดียวกันเพราะผู้เล่นเกมส์มองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีโทเคนนั้นๆไปใช้ในเกมส์ก็ได้ ผลคือราคาโทเคนของเกมส์นั้นๆจะมีแรงขายมากกว่าแรงซื้อ ราคาโทเคนในบางเกมส์เคยร่วงลงแรงกว่า 90% มีสถานะไม่ต่างอะไรไปจากระบบเศรษฐกิจในเกมส์ที่ล่มสลายสร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุน
ในโลกของคริปโตไม่ว่าจะเป็น DeFi หรือ GameFi ต่างมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินเฟ้อของโทเคนได้ง่ายเนื่องจากจำนวนโทเคนสามารถสร้างขึ้นมาได้อย่างไม่จำกัดเปรียบได้กับ FED ที่สามารถพิมพ์เงินได้อย่างไม่จำกัดเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรเจกต์ที่มีการเปิดตัวใหม่ที่จูงใจผู้เล่นด้วยการแจกโทเคนฟรี
หากไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ยังคงถือโทเคนนั้นต่อไปได้หรือสร้างความสมดุลระหว่าง Demand และ Supply ได้อย่างลงตัว จะมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อและราคาโทเคนจะหมดค่าลงในที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง : Play-To-Earn และ Click-To-Earn แตกต่างกันอย่างไร
การออกแบบ Tokenomic ที่ล้มเหลว
อีกเหตุผลที่ทำให้เกมส์แตกก็คือการออกแบบระบบเกมส์หรือ Tokenomic ที่ผิดพลาด โดยพอจะมีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นได้ดังนี้
หนึ่ง..ให้ประโยชน์กับผู้เล่นกลุ่มแรกๆมากเกินไปแม้จะเป็นเรื่องดีที่ให้สิทธิพิเศษหรือผลตอบแทนกับผู้ที่เข้ามาเล่นเกมส์เป็นกลุ่มแรกๆขณะที่เกมส์ยังไม่ดัง แต่การที่ผู้เล่นกลุ่มแรกถือครองโทเคนหรือไอเท็มต่างๆมากกว่าผู้เล่นกลุ่มที่มาทีหลัง หากกลุ่มแรกเทขายโทเคนออกมาหนักๆอาจจะส่งผลให้ผู้เล่นกลุ่มหลังเร่งขายโทเคนออกไปด้วยจนอาจทำให้ราคาในตลาดปรับลดลงอย่างรวดเร็ว
สอง..ตั้งใจแจกผลตอบแทนมากเกินไปแม้จุดประสงค์ของ GameFi คือการเล่นแล้วมีรายได้แต่ถ้าเกมส์ที่ตั้งใจจะแจกผลตอบแทนเป็นหลักโดยไม่ให้ความสำคัญกับการทำเกมส์ให้มีความสนุกเพื่อให้มีคนเล่นเกมส์ในระยะยาว สุดท้ายผู้เล่นก็จะเบื่อและเลิกเล่นไปหรือเมื่อไรที่เริ่มไม่ได้รับผลตอบแทน
สาม..ผูกติดกับราคาโทเคนในกระดานมากเกินไป หนึ่งในความเสี่ยงของ GameFi ที่มีระบบโทเคนและนำไปซื้อขายในกระดานเทรด Exchange ก็คือหากราคาเหรียญตกลงไปตามภาวะตลาดหรือราคา Bitcoin อาจจะส่งผลกระทบต่อการเล่นเกมส์ไปด้วยแม้ว่าจะมีการออกแบบ Tokenomic ที่ดีก็ตาม แต่ถ้าราคาโทเคนที่นำมาเป็นรางวัลมีราคาที่ลดลง แรงจูงใจในการเล่นเกมส์ก็หมดไป
GameFi คือ เทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาเพียงแค่ประมาณหนึ่งปี อาจจะยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นระบบการเล่นไปจนถึงการสร้างความสมดุลระหว่างความสนุกในการเล่นเกมส์กับการสร้างรายได้จากการเล่นเกมส์ถึงจะทำให้ GameFi เข้ามาเป็นมาตราฐานปกติของนักเล่นเกมส์ทั่วไป
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : หลักการสร้าง Tokenomic สำหรับภาคธุรกิจ