Staking คือ การลงทุนในรูปแบบของ Passive Income ผ่านโปรเจกต์ต่างๆในโลกของบล็อกเชนหรือ dApps เสมือนกับการเป็นเจ้าของร่วมหรือผู้ถือหุ้นในแพลตฟอร์มนั้นๆและรับผลตอบแทนจากรายได้ที่เกิดจากการทำธุรกรรมต่างๆแบบเดียวกับเงินปันผลของกิจการ
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 เวบไซต์วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานคริปโตบน On Chain
ทำความรู้จัก Proof Of Stake
Proof Of Stake เป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นภายหลัง Proof Of Work หรือการขุด เนื่องมาจากต้นทุนของค่าไฟฟ้าและอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆที่ใช้ในการประมวลผลและยืนยันธุรกรรมบล็อกเชนมีราคาค่อนข้างสูงและยังมีปัญหาเรื่องของความร้อนและเสียงดัง ทำให้คนทั่วไปที่ไม่มีงบในการลงทุนขาดโอกาสที่จะลงทุน
โดย Proof Of Stake ใช้หลักการคือนำเหรียญหรือโทเคนของบล็อกเชนนั้นๆเช่น Ethereum ก็ใช้เหรียญ ETH นำมาวางเพื่อใช้ในการยืนยันการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นในบล็อกเชนนั้นๆหรือจะบอกว่าทำหน้าที่เป็น Node หนึ่งก็ได้โดยผู้ที่นำเหรียญมาวาง Stake ก็จะได้รับ Reward เป็นเหรียญนั้นๆ
เห็นได้ว่าธุรกรรม Proof Of Stake ใช้ต้นทุนเพียงแค่ Wallet เท่านั้นไม่จำเป็นต้องลงทุนกับฮาร์ดแวร์ ทำให้ใครก็ได้ที่มีเหรียญหรือโทเคนก็สามารถ Staking ได้ โดยอาจจะทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มของบล็อกเชนนั้นๆโดยตรงหรือจะทำผ่าน Exchage ซึ่งจะรับเป็นตัวกลางให้ซึ่งสร้างความสะดวกให้กับผู้ที่เทรดและเก็บคริปโตไว้ใน Exchange อยู่แล้ว
Staking ได้ที่ไหนบ้าง
นอกเหนือจาก Exchange ที่เปิดให้ Staking ได้แล้ว dApps ต่างๆยังสามารถที่จะทำ Staking ได้ ไม่ว่าจะเป็น DeFi Protocol ต่างๆโดยเฉพาะ Decentralized Exchange รวมถึงโปรเจกต์ GameFi บางรายก็สามารถที่นำเหรียญมาทำ Staking ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ไม่เพียงแต่เชนใหญ่อย่าง Ethereum แต่ Blockchain Layer1 เกือบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น BNB Chain,Solana,Terra Chain,Avalanche ฯลฯ ต่างมีคุณสมบัติในการทำ Staking ได้ทั้งหมดทำให้ผู้พัฒนา dApps ทั้งหลายสามารถนำไปสร้างโปรเจกต์ต่างๆได้อย่างสะดวก
กลไกสร้างผลตอบแทนจากการ Staking
หน้าที่ของผู้วาง Staking ก็คือผู้ที่มาช่วยยืนยันการทำธุรกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในบล็อกเชนนั้นๆไม่ว่าจะเป็นการโอนเหรียญหรือซื้อขายรวมถึงฟีเจอร์ต่างๆที่ dApps นั้นๆทำขึ้น เช่น กิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นใน GameFi ทั้งรูปแบบ Play-To-Earn และ Click-To-Earn หรือค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายเหรียญใน DEX สิ่งเหล่านี้จะต้องอาสัยการ Staking เพื่อให้การทำธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์
ทั้งนี้หากการทำธุรกรรมต่างๆมีจำนวน Transactions ที่สูงขึ้นก็จำเป็นที่จะต้องอาศัยการทำ Staking ที่มากขึ้น เท่ากับว่ามีโอกาสที่ผู้วาง Stake จะได้รับ Reward เป็นการตอบแทนมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะแสดงผลออกมาในรูปแบบของ Annualized Interest Rate โดยเฉลี่ยแล้วจะสูงกว่าผลตอบแทนจากการฝากเงินในธนาคารโดยอาจจะอยู่ระดับ 7-8% ขึ้นไป บางแพลตฟอร์มอาจะจ่ายถึงระดับเลขสองหลักที่ใกล้ถึงระดับ 100% เลยทีเดียว ทั้งนี้การวาง Staking จะอยู่ภายใต้เวลาที่กำหนด เช่น 30 วัน 60 วัน หรืออาจจะ 1 ปีขึ้นไป
หาก dApps ใดที่สามารถจ่ายผลตอบแทนจาก Staking ได้สูงก็เป็นการบ่งบอกได้ในระดับหนึ่งว่าเป็นโปรเจกต์ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก มีรายได้เกิดขึ้นสูง ถ้าเปรียบเป็นธุรกิจก็คือเป็นกิจการที่มีพื้นฐานดีนั่นเอง
จะสรุปได้ว่า Staking คือ การลงทุนรูปแบบ Passive Income อย่างหนึ่งโดยผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องติดตามความเคลื่อนไหวของราคาเหรียญในกระดาน Exchange แต่โฟกัสไปที่ปัจจัยพื้นฐานของโปรเจกต์นั้นๆเช่นมูลค่าการทำธุรกรรม จำนวนผู้ใช้งาน รายได้ที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่ต่างอะไรกับการวิเคราะห์หุ้นซึ่งต้องศึกษารูปแบบธุรกิจ
นอกจากนี้หากราคาเหรียญในกระดานเทรดสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาที่เริ่มเข้าไปทำการ Staking เราอาจจะได้รับผลตอบแทนสองต่อจากทั้ง Staking และ Capital Gain ด้วยเช่นกัน เปรียบเสมือนกับการลงทุนในหุ้นปันผลที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม Staking มีความแตกต่างจากการทำ Yield Farming ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลขาดทุนชั่วคราวหรือ Impermanant Loss จากการที่คู่เหรียญที่วางใน Pool เปลี่ยนแปลงไปในคนละทิศทาง (ยกเว้นถ้าวางคู่ Stablecoins) แต่ Staking จะเป็นผลตอบแทนที่ไม่มีความเสี่ยงในเรื่อง Impermanant Loss
ความเสี่ยงของการ Staking
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าการทำ Staking จะไม่มีความเสี่ยงเลย เพราะช่วงเวลาที่เรานำเหรียญไปวาง Stake ภายในระยะเวลาที่กำหนด เราจะไม่สามารถถอนเหรียญดังกล่าวออกมาได้ก่อนกำหนดและไม่สามารถที่จะซื้อขายได้เช่นกัน และหากราคาเหรียญในกระดานปรับตัวลดลงมากกว่าช่วงที่เรานำไปวาง Staking ก็อาจจะขาดทุนจาก Capital Loss ได้
นอกจากนี้บางแพลตฟอร์มอาจจะตั้งใจแจกผลตอบแทนที่สูงเช่นหลักร้อยเปอร์เซ็นต์เพื่อดึงดูดให้มีคนนำเงินเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม แต่จริงแล้วการแจกเหรียญหรือโทเคนให้ฟรีเพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงและคงที่อาจจะนำซึ่งปัญหาในอนาคตเช่นอัตราเงินเฟ้อของเหรียญอยู่ในระดับสูงและสุดท้ายราคาเหรียญก็จะตกต่ำลง
ไม่นับรวมแพลตฟอร์มที่ตั้งใจจะโกงและหลอกให้นักลงทุนลงเชื่อและจากนั้นก็ปิดตัวลงและหอบเงินหนีไป ทำให้นักลงทุนต้องศึกษาแพลตฟอร์มที่จะเข้าไปลงทุนเป็นอย่างดีเสียก่อนเพราะมีโอกาสที่เงินจะสูญหายไปทั้งหมดได้
ประโยคที่ว่าการลงทุนในคริปโตมีความผันผวนสูงจึงไม่อาจจะเรียกแบบนั้นได้เสียทีเดียว เพราะการทำ Staking คือ การลงทุนในปัจจัยพื้นฐานของโปรเจกต์นั้นๆโดยตรง ไม่ใช่การเก็งกำไรกับการเคลื่อนไหวของราคาเหรียญในตลาดรองเท่านั้นเปรียบเสมือนได้กับลงทุนในหุ้นที่สามารถปันผลได้นั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : NFT กับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ