The Sandbox คือ แพลตฟอร์ม NFT Games ที่ถูกจับตาและอยู่ในกระแสมากที่สุดนับตั้งแต่กระแส Metaverse ถูกจุดขึ้นมา บทความนี้จะมาวิเคราะห์โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจภายในเกมส์ว่าจะมีโอกาสเติบโตได้อย่างไรในอนาคต
ฟังคลิปวิเคราะห์ : NFT Games ทำเงินจริงหรือแค่แชร์ลูกโซ่? ได้ที่ลิงค์นี้
จำลองการใช้ชีวิตบนโลกเสมือนจริง
The Sandbox ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2021 แต่ยังไม่มีบล็อกเชนเป็นโครงสร้างจนกระทั่งปี 2019 ถึงเริ่มที่จะพัฒนาให้เข้าสู่การเป็น Blockchain Games โดยรูปแบบการเล่นจะมีโลกเสมือนจริงซึ่งจะมีที่ดินหรือ Land ซึ่งเปิดให้ผู้คนสามารถเข้าไปจับจองพื้นที่โดยมีจำนวนจำกัดเพียง 166,464 ผืนเท่านั้น และจะไม่มีเพิ่มขึ้นมาอีกเพื่อให้เกิดคุณค่าในแง่ของความหายาก (Scarcity)
โดยผู้เล่นสามารถเลือกได้ว่าจะเข้ามาลงทุนซื้อที่ดินภายในเกมส์และสามารถพัฒนาพื้นที่ตรงนั้นให้กลายเป็นโปรเจกต์ต่างๆของตัวเองขึ้นมาได้หรือพูดได้ว่าสร้างเป็นมินิเกมส์อยู่ภายในเกมส์หลักอีกที่หนึ่ง โดยเจ้าของที่ดินสามารถที่จะปล่อยเช่าให้กับผู้อื่นได้ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเหรียญ SAND ซึ่งเป็นโทเคนที่ใช้ภายในเกมส์
สำหรับผู้ที่ไม่ได้ซื้อที่ดินก็สามารถเข้าไปใช้ชีวิตภายในเกมส์ได้เช่นกันซึ่งจะต้องใช้เหรียญ SAND เปรียบเสมือนกันสกุลเงินที่ใช้ภายในโลกของ The Sandbox โดยสามารถสร้าง Avatar ของตัวเองขึ้นมาได้เพื่อแสดงความเป็นตัวตน
ที่ดินสามารถซื้อขายได้ในรูปแบบ NFT
The Sandbox มีการเสนอขายที่ดินรูปแบบ Pre Sale ไปแล้วทั้งหมด 5 ครั้งซึ่งถูกขายไปจนหมดโดยมีผู้ซื้อชื่อดังอย่าง Binance และ Atari รวมอยู่ด้วย โดยที่ดินในเกมส์มีหลายขนาดตั้งแต่ขนาดเล็กสุด 1X1 หรือเพียงแค่ 1 ช่อง โดยราคาเสนอขายเริ่มต้นที่ 1,011 SAND (ราคาจะผันแปรตามราคาเหรียญ SAND ใน Exchange) ส่วนที่ดินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือระดับ Estate ซึ่งมีพื้นที่ 24X24 หรือ 576 ช่อง
ทั้งนี้ที่ดินในเกมส์จะถูกสร้างด้วยเทคโนโลยี ERC-721 ของ Ethereum ซึ่งเป็น NFT ที่สามารถซื้อขายได้ โดยหลังจากที่เสนอขายในตลาดแรกไปแล้วก็สามารถนำไปขายในตลาดรองอย่างเวบไซต์ OpenSea ได้
หลังจากที่เป็นเจ้าของที่ดินแล้ว เจ้าของสามารถสร้าง ดัดแปลง ที่ดินตรงนั้นให้กลายเป็นโปรเจกต์ต่างๆตามจินตนาการของตัวเองและสามารถเปิดให้ผู้คนที่เข้ามาในเกมส์สามารถเข้ามาร่วมสนุกได้และยังสามารถสร้างไอเท็มต่างๆขึ้นให้อยู่ในรูปแบบของ NFT ซึ่งสามารถซื้อขายให้เกิดมูลค่าที่เพิ่มขึ้นได้ผ่านฟีเจอร์ที่เรียกว่า VoxEdit
บทความที่เกี่ยวข้อง : Gala Game ตลาดรวม NFT Games ที่สามารถสร้างรายได้แบบ Passive Income
วิเคราะห์ Tokenomic ของ The Sandbox
The Sandbox คือ ตัวอย่างหนึ่งของ NFT Game ที่ใช้โมเดล Play To Earn ที่มีการจัดสรรระบบเศรษฐกิจที่ค่อนข้างลงตัว โดยทางแพลตฟอร์มจะมีรายได้อยู่ 5 ทาง ตั้งแต่ค่าสมาชิกรายเดือนถ้าหากต้องการเข้ามาใช้ชีวิตในเกมส์ รายได้จากการขายที่ดินและไอเท็มต่างๆ รวมถึงค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมต่างๆที่ 5% ตลอดจนการขายพื้นที่โฆษณา
ขณะที่ผู้ลงทุนจะมีรายได้จากการเก็งกำไรในราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากการไปขายต่อในตลาดรอง รวมถึงรายได้จากการที่สร้างโปรเจกต์ต่างๆขึ้นในที่ดินของตัวเองและเปิดให้ผู้เล่นสามารถเข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งราคาที่ดินในตลาดรองได้ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาเสนอขายครั้งแรกแล้วหลายเท่า
เหรียญ SAND จะเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมต่างๆภายในเกมส์ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดิน ผู้เล่นและตัวแพลตฟอร์มเอง ถ้าหากมีจำนวนผู้เล่นเข้ามาใน The Sandbox จำนวนมากขึ้นก็จะเกิดความต้องการเหรียญ SAND มากขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อราคาใน Exchange
ขณะเดียวกันตัวเกมส์ยังได้ออกแบบให้แต่ละครั้งที่เกิดธุรกรรมจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆซึ่งจะทำให้รายได้ที่เกิดขึ้นภายในเกมส์มีความยั่งยืนและถือว่ามีความสมดุลทั้งฝั่งซื้อและฝั่งขาย โมเดลของ The Sandbox จึงน่าจะมีความยั่งยืนในระยะยาว
อนาคตของ The Sandbox
ล่าสุด The Sandbox ได้รับการร่วมลงทุนระดับ Series B มูลค่าสูงถึง 93 ล้านดอลลาร์ จาก Vision Fund 2 ของ SoftBank และยังมีพาร์ทเนอร์กว่า 165 รายอย่าง The Walking Dead, The smurfs, Atari และล่าสุดกับ Adidas
ขณะที่เหรียญ SAND ปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 43 เด้งในปีนี้โดยเริ่มปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่เริ่มมีกระแสของ Metaverse และกลายเป็นเหรียญที่มีวอลลุ่มซื้อขายอยู่ในอันดับต้นๆของทุก Exchange
บทความที่เกี่ยวข้อง : Cryptocurrency และ NFT เข้ามาทำให้ Metaverse สมบูรณ์แบบได้อย่างไร
หากกระแสของ Metaverse ยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง The Sandbox คือ แพลตฟอร์มที่น่าจะยังเติบโตตามกระแสดังกล่าวไปได้ประกอบกับการได้รับเงินทุนจากวีซีระดับโลกที่จะเข้ามาช่วยเป็นทุนในการพัฒนาโปรเจกต์ได้อีกมาก แทนที่แพลตฟอร์มจะต้องมาหารายได้จากภายในเกมส์อย่างเดียว เป็นไปได้สูงที่ The Sandbox จะใช้กลยุทธ์ด้านราคาที่จะดึงดูดพาร์ทเนอร์และผู้เล่นใหม่ๆให้เข้ามาซึ่งจะทำให้เกมส์ยิ่งขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
หากจะบอกว่า The Sandbox คือ แพลตฟอร์ม Metaverse อันดับหนึ่งในตอนนี้ก็คงจะไม่ผิดแปลกนักถ้าเทียบกับคู่แข่งอย่าง Decentraland ที่กระแสดูจะเงียบกว่ามาก รวมถึงพาร์ทเนอร์ระดับบิ๊กที่อาจจะเข้ามาร่วมอีกในอนาคต
อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หากราคาเหรียญ SAND หรือราคาที่ดินถูกปั่นราคาขึ้นไปสูงมากในกระดาน Exchange อาจจะเกิดแรงเทขายจากนักเทรดทำให้เกิดภาวะฟองสบู่แตกได้เช่นกัน แต่ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างมั่นคง ฟองสบู่อาจจะไม่ใช่ลูกใหญ่นักและน่าจะฟื้นตัวกลับมาได้อยู่ดี
บทความที่เกี่ยวข้อง : สร้างและซื้อขาย NFT ได้ที่แพลตฟอร์มใดบ้าง