กระแสของ NFT Games หรือเกมส์ที่ผู้เล่นสามารถสร้างรายได้จากการเล่นเกมส์หรือ Play To Earn Model กำลังมาแรงอยู่ในเวลานี้นำมาโดยเกมส์อย่าง Axie Infinity ที่กลายมาเป็นอาชีพหนึ่งของชาวฟิลิปปินส์ ขณะที่คนไทยเองก็หันมาเล่นกันอย่างจริงจัง
จากเดิมโมเดลการหาเงินจากเกมส์ก็คือการได้รับสปอนเซอร์จากผู้สร้างเกมส์หรือเงินบริจาคของผู้ชมใน Boardcast ต่างๆ หรือการขายไอเท็มต่างๆกันเองในเกมส์ แต่ NFT Games สามารถสร้างรายได้โดยไม่มีคนเหล่านี้
บทความที่เกี่ยวข้อง : Cryptocurrency และ NFT เข้ามาทำให้ Metaverse สมบูรณ์แบบได้อย่างไร
คำถามที่หลายคนสงสัยคือเกมส์พวกนี้เอาเงินจากที่ไหนมาจ่ายให้ผู้เล่น เงินทิพย์ที่เสกได้เองหรือเปล่าหรืออาจจะเป็นแชร์ลูกโซ่??
ก่อนอื่นต้องอธิบายว่าเงิน (ในที่นี้ก็คือสกุลเงินดิจิทัลหรือ Cryptocurrency) ที่เกิดจาก NFT Games คือ จะมาจาก “กิจกรรมทางเศรษฐกิจ” ที่เกิดขึ้นภายในเกมส์นั่นเอง โดยผู้สร้างเกมส์จะต้องสร้างระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจภายในเกมส์ให้มีความสมดุลระหว่างดีมานด์และซัพพลาย
ถามว่าสกุลเงินดิจิทัลที่นำมาแจกนั้นมาจากไหน?? คำตอบคือผู้สร้างเกมส์เป็นผู้สร้างเหรียญที่ใช้ในเกมส์ขึ้นมานั่นเอง ซึ่งตรงนี้เป็นการใช้ข้อได้เปรียบของเทคโนโลยีบล็อกเชนคือสามารถสร้างเหรียญขึ้นมาได้จำนวนไม่จำกัดแล้วแต่ว่าจะเขียนโค้ดขึ้นมาเท่าไรก็ได้นั่นเอง
เพียงแต่ว่าการที่จะได้มาซึ่งเหรียญเป็น Reward นั่นจะต้องมีการทำกิจกรรมภายในเกมส์ถึงจะได้เป็นเจ้าของโดยผู้สร้งเกมส์ก็ต้องกำหนดกติกาต่างๆขึ้นให้มีความยากง่ายแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ต้องเกมส์ต้องออกแบบให้เหรียญนั้นๆมีคุณค่าในตัวเองเพื่อที่จะใช้ในเกมส์ต่อไป ไม่เช่นนั้นก็จะมีแต่ผู้ที่เล่นเกมส์เพื่อให้ได้เหรียญไปขายเพื่อทำเงินเท่านั้น
เพื่อให้เห็นภาพจะขอยกตัวอย่างจากเกมส์ Axie Infinity ที่จะมีเหรียญ SLP เป็นโทเคนที่ใช้ในเกมส์โดยเหรียญดังกล่าวจะใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างมอนสเตอร์ให้มีความแข็งแกร่งหรือเพาะพันธ์นั่นเองเพื่อที่จะนำไปเล่นต่อสู้กับคนอื่นให้ได้รางวัลกลับมานั่นคือโทเคน SLP นั่นเอง หลังจากนั้นผู็เล่นจะเลือกได้ว่าจะสะสมเพื่อสร้างมอนสเตอร์ให้เก่งยิ่งขึ้นหรือจะนำไปขายใน Exchange เหมือนกับเหรียญอื่นๆ
เห็นได้ว่าผู้สร้างเกมส์มีการออกแบบระบบการเล่นที่ทำให้เหรียญ SLP มีทั้งดีมานด์ฝั่งซื้อและฝั่งขาย ฝั่งซื้อคือผู้ที่ต้องการสะสมโทเคนเพื่อนำไปใช้สร้างมอนสเตอร์ให้เก่งยิ่งขึ้น ส่วนฝั่งขายคือผู้ที่พยายามสะสม SLP ให้ได้มากที่สุดเพื่อเอาไปขายเป็นรางวัล เท่ากับว่า SLP มีคุณค่าทางเศรษฐกิจในตัวเอง
การจะกล่าวว่า NFT Games คือ สิ่งที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่จึงไม่สามารถจะพูดแบบนั้นได้เต็มปาก เพราะการที่เกมส์นั้นๆมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น (ก็คือการต่อสู้ระหว่างมอนสเตอร์) ก็ย่อมเกิดระบบผลตอบแทนขึ้นจริง ต่างจากแชร์ลูกโซ่ที่นำเงินของผู้เล่นไปวนจ่ายโดยไม่มีกิจกรรมใดๆ
คำว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้หมายความว่าจะต้องเกิดในโลกจริงๆเสมอไปในโลกออนไลน์ก็สามารถเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้และสิ่งนั้นจะเป็นแรงขับเคลื่อนทำให้เกิดระบบผลประโยชน์
การที่เกมส์ Axie Infinity มีรายได้หมุนเวียนภายในเกมส์หลักร้อยล้านดอลลาร์ด้วยจำนวนผู้เล่น 1 ล้านราย เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดระบบนิเวศน์ภายในเกมส์ซึ่งใกล้เคียงกับโมเดล Sharing Economy คือผู้คนที่อยู่ภายในระบบสามารถรับผลประโยชน์ร่วมกันจากกิจกรรมที่เกิดขึ้น
สิ่งที่จะทำให้โมเดล Play To Earn หรือ NFT Games เกิดขึ้นและเดินต่ออย่างยั่งยืน ผู้สร้างเกมส์จะต้องออกแบบระบบเกมส์ให้มีความสมดุลระหว่างดีมานด์ฝั่งซื้อและฝั่งขาย ที่สำคัญคือต้องมีความ “สนุก” ในการเล่นเกมส์ด้วย เพราะวัตถุประสงค์หลักของการเล่นเกมส์ก็คือความสนุกส่วนรายได้ที่เกิดขึ้นถือเป็นส่วนแถมไป
การที่ตั้งใจจะเข้ามาเล่นเกมส์เพื่อสร้างรายได้อย่างจริงจังโดยไม่สนใจความสนุกในเกมส์ สุดท้ายแพลตฟอร์มนั้นๆก็จะเสื่อมความนิยมไปเอง
** คอร์สออนไลน์ “มือใหม่เริ่มลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” นอกจากเรียนทฤษฎีทางออนไลน์แล้วยังได้เรียนสดทาง Zoom กับผู้สอนทุกสัปดาห์อีกด้วย รายละเอียดคลิ๊กที่นี้