Yield Farming คือ รูปแบบของการลงทุนที่เปิดให้นำเหรียญสกุลเงินดิจิทัลมาช่วยสร้างสภาพคล่องซื้อขายภายใน Decentralized Exchange และได้รับผลตอบแทนคืนกลับไป เป็นดีลที่ Win-Win ทุกฝ่ายทั้งแพลตฟอร์ม ผู้ลงทุนและผู้ที่นำเหรียญมาซื้อขาย
อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลเวลานี้ไม่มีใครปฎิเสธได้ถึงความร้อนแรงของ Decentralized Finance หรือ DeFi นวัตรกรรมการเงินรูปแบบใหม่ที่ไม่พึ่งพาตัวกลางอย่างธนาคาร ด้วยเม็ดเงินในวงจรของ DeFi ที่เคยขึ้นไปแตะระดับเกือบ 90,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งที่ต้นปี 2020 เม็ดเงินในวงจรของ DeFi เพิ่งจะมีเพียงแค่ 700 ล้านดอลลาร์
หนึ่งในนวัตรกรรมที่ทำให้ DeFi เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะกับนักลงทุนรายย่อยก็คือการทำ Yield Farming ผ่าน Liquidity Pool ของ Decentralized Exchange (DEX) ซึ่งสร้างผลตอบแทนได้ในระดับเลขสามหลักต่อปี
บทความที่เกี่ยวข้อง : พรีวิว 7 DeFi Protocol สัญชาติไทยที่น่าจับตา
ทำความเข้าใจ AMM และ Liquidity Pool
ก่อนที่จะอธิบายถึงกลไกของการทำ Yield Farming ต้องอธิบายกลไกของศูนย์ซื้อขายแบบไร้ตัวกลางหรือ Dcentralized Exchange (DEX) ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของการทำฟาร์มเสียก่อน
อธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือหากเป็นตลาดหลักทรัพย์ในโลกการเงินปกติ สภาพคล่องซื้อขายที่เกิดขึ้นในตลาดจะเกิดจากเงินของนักลงทุนที่เข้ามาซื้อขายในตลาด ขณะที่ผู้ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางซื้อขายก็จะนำเอาเม็ดเงินนั้นไปต่อยอด เช่น ปล่อยกู้มาร์จินโลน หรือสร้างตราสารอนุพันธ์ เพื่อนำค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยที่เก็บจากลูกค้ามาเป็นรายได้
ส่วนหลักการของ Yield Farming จะเปิดให้นักลงทุนนำสินทรัพย์ดิจิทัลเอามาฝากเป็นหลักประกันและแหล่งเงินทุนให้กับ Decentralized Exchange ที่ยังมีสภาพคล่องซื้อขายไม่มากนัก เพื่อที่จะนำไปใช้สร้างสภาพคล่องภายในแพลตฟอร์ม โดยจะทำการจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ที่นำสินทรัพย์ดิจิทัลมาฝากในรูปแบบที่คล้ายกับดอกเบี้ย
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Decentralized Exchange ได้รับเงินทุนมาใช้สร้างสภาพคล่องซื้อขายโดยไม่จำเป็นต้องขอระดมทุนจากใคร ส่วนนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับ Passive Income เพราะเพียงแค่ฝากสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ถึงระยะเวลาที่กำหนดก็จะได้ผลตอบแทน (อย่างไรก็ตามผลตอบแทนไม่มีความแน่นอนขึ้นอยู่กับดีมานด์ของตลาด)
ปกติแล้วศูนย์ซื้อขายแบบรวมศูนย์หรือ Centralized Exchange เช่น ตลาดหลักทรัพย์จะใช้วิธีการซื้อขายแบบ Order Book หรือส่งคำสั่งไปเพื่อจับคู่ราคาล่วงหน้าโดยทาง Exchange จะเป็นผู้ที่จับคู่ราคาให้ ซึ่งการที่จะทำให้ฝั่งซื้อและฝั่งขายได้ราคาที่ดีที่สุดจะต้องมีสภาพคล่องการซื้อขายในระดับหนึ่ง
แต่ Decentralized Exchange จะใช้วิธีการจับคู่ซื้อขายแบบ AMM (Automatic Maket Maker) และใช้วิธีซื้อขายแบบ Swap หรือการแลกเปลี่ยนเหรียญ (รูปแบบเดียวกับการแลกเงินต่างสกุลเงินในร้าน Super Rich) เราจึงไม่ได้เห็นราคา Bid-Ask ใน DEX เหมือนกับ Centralized Exchange
โดยระบบ AMM จะทำการจัดหาราคาที่ดีที่สุดให้โดยเปิดระดมสภาพคล่องจากคนอื่นเข้ามาเป็นสภาพคล่องกลางหรือ Pool โดยจะแบ่งเป็นสองฝั่งตามคู่ซื้อขาย
ตัวอย่างเช่น คู่ ETH/USDT ก็ต้องแบ่งสภาพคล่องลงสองฝั่งเท่าๆกันเป็นฝั่งดีมานด์และซัพพลาย ต้องมี ETH และ USDT ในมูลค่าที่เท่ากัน DEX จะคอยบาลานซ์เหรียญทั้งสองฝั่งให้มีมูลค่าเท่าๆกันด้วยระบบ AMM เช่นถ้า ETH ราคาปรับตัวขึ้นก็จะทำการปรับสมดุลย์ด้วยก AMM จนทั้งสองฝั่งมีสัดส่วนที่เท่ากัน ซึ่งจะทำให้ปริมาณ ETH ที่เราใส่ลงไปใน Pool หายไปบางส่วน หรือที่เรียกว่าเกิด Impermanet Loss
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 ความเสี่ยงของการลงทุน Yield Farming ใน DeFi
จาก LP Token ได้รับ Governance Token เป็นผลตอบแทน
ทั้งนี้เมื่อผู้ลงทุนทำการฝากสกุลเงินดิจิทัลเข้าไปยัง DeFi Protocol ก็จะได้รับ LP Token ซึ่งจะนำมาใช้ยืนยันสิทธิการสร้างสภาพคล่องของแต่ละ DEX และยังนำเอา LP Token ไปแลกเป็น Governance Token เพื่อนำไปขายในตลาดรองต่อไปได้
เมื่อเกิดการซื้อขายหรือ Swap เหรียญภายใน Pool ส่วนต่างราคาที่เกิดขึ้นก็จะคืนกลับมายังผู้ที่นำสภาพคล่องมาฝากไว้ใน Pool เป็นการตอบแทนนั่นเอง
เท่ากับว่า DeFi Protocol ต่างๆที่เปิดให้ทำ Yield Farmimg จะจ่ายผลตอบแทนให้กับเราในรูปแบบ Governance Token ซึ่งนอกเหนือจากการนำไปขายต่อยังใช้เป็นสิทธิในการออกเสียงโหวตภายในแพลตฟอร์มหากมีการเสนอให้เปลี่ยนนโยบายต่างๆหรือจะนำไป Staking ต่อก็ยังได้
ทั้งนี้หากมีผู้ที่นำเหรียญมาวางไว้ใน Pool เป็นจำนวนมากก็เหมือนกับการที่มีคนมาร่วมแชร์ผลประโยชน์ตรงนี้มากขึ้น ผลตอบแทนที่ได้ก็จะน้อยลง ทำให้เกิด DeFi Protocol ใหม่ขึ้นตลอดเวลาเพื่อดึงนักงทุนหน้าใหม่ให้เข้าไปทำฟาร์มโดยชูผลตอบแทนสูงๆ
ตัวเลขผลตอบแทนคือสิ่งที่ทำให้ Yield Farming คือ การลงทุนซึ่งเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วก็คือผลตอบแทนที่จ่ายให้ในระดับที่ “สูง” บางแพลตฟอร์มเมื่อคำนวนออกมาแล้วจ่ายผลตอบแทนรายวันในระดับ “เลขสองหลัก” บางแพลตฟอร์มกล่าวอ้างว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้ระดับ “พันเปอร์เซนต์” ต่อปี
เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบันที่ต่ำเรี่ยดินใกล้ระดับ 0% ไม่น่าแปลกใจที่บางแพลตฟอร์มสามารถเรียกเงินจากนักลงทุนได้ถึงระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์ ในเวลาอันรวดเร็ว
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลตอบแทนจากการทำฟาร์มสูงถึงระดับเลขสามหลักก็คือการที่เป็นแพลตฟอร์มการเงินที่ไม่จำเป็นต้องตั้งสาขา จ้างพนักงานให้บริการ ไม่ต้องเสียค่าใบอนุญาตจากทางการ ไม่ต้องวางเงินกองทุนเพื่อค้ำประกัน ต้นทุนที่สถาบันการเงินแบบดั้งเดิมต้องแบกรับ
แต่กับ DeFi ไม่มีต้นทุนตรงนั้น มีเพียงแค่ต้นทุนของนักพัฒนาซอฟท์แวร์ ซึ่งอาจจะไม่ต้องเสียเงินจ้างด้วยซ้ำเพราะอาจจะจ่ายค่าตอบแทนด้วยเหรียญของตัวเองก็จูงใจมากพอแล้ว
Yield Farming เป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่??
หากมองให้ลึกๆถึงโมเดลของ Yield Farming มีความใกล้เคียงกับรูปแบบของ “แชร์” ที่เป็นการนำเงินของหลายๆคนมากองรวมกันจากนั้นก็เปิดให้มีการกู้ยืมกัน โดยนำเงินของคนที่อยู่ในวงมาแจกกันเองวนไปวนมา
แต่การทำ Yield Farming เป็นการนำเงินของแต่ละคนมาช่วยสร้างสภาพคล่องซื้อขายภายในแพลตฟอร์มจึงถือได้ว่ามีการทำธุรกรรมจริงๆเกิดขึ้น ต่างจากการเล่นแชร์ที่แต่ละคนเอาเงินมาวางไว้เฉยๆและนำไปปล่อยกู้ต่อซึ่งเป็นเพียงแค่เงินต่อเงิน ไม่ได้เกิดการทำธุรกรรมที่จะทำให้เงินที่นำมาวางไว้มีมูลค่าสูงขึ้น
Yield Farming ยิ่งแตกต่างจาก “แชร์ลูกโซ่” โดยสิ้นเชิงเพราะแชร์ลูกโซ่นั้นจะต้องมีการชักชวนเพื่อนหรือคนอื่นให้มาต่อโยงกันโดยมีผลประโยชน์ตอบแทน แต่การทำฟาร์มจะเป็นเงินของใครของมันที่นำมาใส่ไว้ใน Pool แม้จะกองรวมกันแต่ว่าแต่ละคนจะรับผิดชอบเงินของตัวเอง แม้แต่เจ้าของ DeFi Protocol ยังไม่สามารถที่จะยุ่งกับเงินของเราได้ (หากไม่ไปแก้ไขโค้ด)
ประเด็นที่ต้องระวังคือการที่แพลตฟอร์มชูตัวเลขผลตอบแทนที่สูงตั้งแต่หลักพันเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป โดยวิเคราะห์แล้วแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีคนมาซื้อขาย Swap เหรียญกันจนมีสภาพคล่องมากมายขนาดนั้น หากเราเห็นตัวเลข APR ที่สูงเกินไปขอให้ตีความไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นเพียงตัวเลขที่ปลอมขึ้นเพื่อดึงดูดผู้ลงทุน
** คอร์สออนไลน์ “มือใหม่เริ่มลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” นอกจากเรียนทฤษฎีทางออนไลน์แล้วยังได้เรียนสดทาง Zoom กับผู้สอนทุกสัปดาห์อีกด้วย รายละเอียดคลิ๊กที่นี้