ธนาคารทิสโก้ชี้ ธุรกิจการบริโภคและนวัตกรรมการแพทย์ของจีน เป็น 2 เมกะเทรนด์ที่มีอนาคตสดใส เพราะได้รับประโยชน์จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีนระยะ 5 ปี ที่เน้นพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการบริโภคในประเทศ ช่วยหนุน ตลาดหุ้นจีน
นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับขึ้นรับข่าวเศรษฐกิจฟื้นตัวท่ามกลางการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 และการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการการเงินการคลังอย่างต่อเนื่อง หากนักลงทุนต้องการเลือกลงทุนในตลาดหุ้นที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะกลางถึงยาว
ธนาคารทิสโก้มองว่า ตลาดหุ้นจีน ช่วยตอบโจทย์การลงทุนดังกล่าวได้ดีที่สุด เนื่องจากราคาหุ้นยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และต่ำกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาค จึงมีโอกาสการปรับขึ้น (Upside) มากกว่า อีกทั้ง ตลาดหุ้นจีนยังได้แรงส่งจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่กลับมาอ่อนค่าลงอีกด้วย
ด้านภาคเศรษฐกิจของจีนก็ฟื้นตัวและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยจีนเป็นประเทศหลักเพียงประเทศเดียวที่เศรษฐกิจกลับสู่ระดับก่อน COVID-19 ได้แล้ว ซึ่งตลาด (Bloomberg Consensus) คาดว่าเศรษฐกิจจีน ปี 2564 จะขยายตัว 8.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ไตรมาส 1/2564 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนได้เติบโตสูงถึง 18.3% นับเป็นตัวเลขการเติบโตสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะได้รับปัจจัยหนุนจากยอดค้าปลีก (Retail Sales) ที่ขยายตัว 33.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน สะท้อนการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ ธนาคารทิสโก้ประเมินว่า เศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้ในระยะยาวตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2564- 2568) โดยรัฐบาลจีนตั้งเป้าให้เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ย 5-6% ต่อปี มุ่งเน้นการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเน้นการเติบโตในประเทศเป็นหลัก โดยธนาคารทิสโก้คาดว่า กลุ่มอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่จะได้รับประโยชน์จากแผนดังกล่าว จนอาจเรียกได้ว่าจะเป็นธุรกิจเมกะเทรนด์ของจีน มี 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่เกี่ยวกับการบริโภคของจีน (China Consumer Discretionary) เช่น อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) พลังงานสะอาด (EV) การศึกษาออนไลน์ (Online Education) และธุรกิจเกมและบริการที่เกี่ยวข้อง (Gaming Services) โดยธุรกิจเหล่านี้มีโอกาสเติบโตตามแรงหนุนของรัฐบาลจีนที่ต้องการเติบโตจากการบริโภคในประเทศ รวมถึงการเน้นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
“แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นกลุ่ม China Consumer Discretionary ปรับตัวลดลงมาชั่วคราวจากความกังวลด้านกฎเกณฑ์จากภาครัฐ แต่ยังมีโอกาสเติบโตตามการบริโภคภายในประเทศและรายได้ต่อหัวของชนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจีนตั้งเป้าให้ดิจิทัลอีโคโนมี (Digital Economy) ขึ้นมามีสัดส่วนราว 10% ของ GDP ภายในปี 2568 ด้วยการเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี 5.0 ทั้งเทคโนโลยี 5G, AI (Artificial Intelligence), Internet of Things, Smart Cities และ Semiconductors
อีกทั้ง ยังตั้งเป้างบประมาณการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาให้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 7% พร้อมกับการเพิ่มจำนวนการจดสิทธิบัตรนวัตกรรมประเภท High-value Innovation ส่งผลให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับขนาดของ GDP” นายณัฐกฤติกล่าว
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติ ทำให้กลุ่มนวัตกรรมของจีนได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของคนจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ส่งผลเกิดการเร่งตัวให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น มีความต้องการใช้งานเทคโนโลยีใหม่มากขึ้น เช่น การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตในปี 2564 ประมาณ 1.8 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปีก่อน รวมถึงการซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบอีคอมเมิร์ซในจีนจากที่ eMarket คาดว่าจะเติบโตถึง 21% ในปี 2564 ขณะที่ยอดค้าปลีกรวมเติบโตเพียง 4%
2. กลุ่มธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์ประเทศจีน (China Health Innovation) เช่น ธุรกิจเภสัชอุตสาหกรรม (Pharmaceuticals) ธุรกิจไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology) ธุรกิจกลุ่มเฮลธ์แคร์ (Healthcare) และอุปกรณ์การแพทย์ (Medical Equipment) ซึ่งธุรกิจกลุ่มนี้จะได้รับประโยชน์จากแผนปฏิรูปด้านการดูแลสุขภาพของจีน ภายใต้ธีม “Healthy China 2030 Plan”
โดยรัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าอายุขัยเฉลี่ยของประชากรที่เพิ่มขึ้นอีก 1 ปีจาก 77 ปีเป็น 78 ปี และสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาตัวยาที่มีคุณภาพร่วมกับบริษัทต่างชาติ รวมถึงการเร่งอนุมัติยาตัวใหม่ให้เร็วขึ้นจาก CFDA (The China Food and Drug Administration) จนทำให้จำนวนยาใหม่ของจีนที่ได้รับการอนุมัติ ในปี 2562 มีทั้งหมด 56 ตัว จากปี 2558 และ 2559 ที่อนุมัติเพียง 7 และ 9 ตัวตามลำดับ และเป็นครั้งแรกที่จำนวนยาใหม่ที่ได้รับอนุมัติในประเทศจีนสูงกว่าทางสหรัฐฯ
ทั้งนี้ สิ่งที่กำลังเร่งตัวการเติบโตกลุ่มนี้ที่เห็นได้ชัด คือ การวิจัยพัฒนาวัคซีน COVID-19 ของจีนที่มีการวิจัยพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ ได้แก่ Sinovac กับ Sinopharm และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน ผู้ผลิตยาในจีนยังพัฒนาวัคซีนประเภทเชื้อเป็น (mRNA) รูปแบบเดียวกับ Pfizer BioNTech และ Moderna โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 แล้ว
“ธนาคารทิสโก้ประเมินว่า กลุ่มอุตสาหกรรม China Consumer Discretionary และ China Health Innovation ยังเป็น Megatrend ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะ 5 ปีข้างหน้าตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดทิศทางของจีนในช่วงปี 2564- 2568 ส่งผลให้บริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย” นายณัฐกฤติกล่าว
บทความที่เกี่ยวข้อง : แนวโน้มการบริโภคของจีน และนัยต่อการลงทุนในหุ้นจีน