ในแวดวงเทคโนโลยีการเงินการลงทุนหรือแม้แต่ในชีวิตประจำวัน เรามักได้ยินคนพูดถึง “บล็อกเชน” กันบ่อยขึ้น สำหรับคนทั่วไปการทำความเข้าใจบล็อกเชนอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปถ้าเราจะรู้จักการทำงานอย่างคร่าว ๆ เพื่อให้เราเห็นแนวโน้มรวมถึงโอกาสการลงทุนในยุคดิจิทัลได้ชัดเจนขึ้น
อัฏฐ์ ทองใหญ่ อัศวานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SE Digital ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลในประเทศไทยที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “อธิบายแบบง่าย ๆ บล็อกเชน ก็คือเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลธุรกรรมต่างๆ ที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูงรูปแบบหนึ่ง โดยเป็นการกระจายสำเนาข้อมูลให้ทุกคนในเครือข่ายรับรู้ ทำให้เกิดความปลอดภัย เพราะการแก้ไขหรือดัดแปลงข้อมูลจะทำได้ยากมาก หากมีการแก้ไข ทุกคนจะตรวจสอบได้ ทำให้ตลาดทุนยุคใหม่นำมาใช้ในการทำธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลเพราะมีความโปร่งใสและความปลอดภัย
“ลองนึกถึงการฝากถอนเงินกับธนาคารตามปกติ เราต้องมีสมุดบัญชีเพื่อบันทึกหลักฐานธุรกรรมการเบิกถอนโอนเงินของเรา ธนาคารเองก็จะมีฐานข้อมูลที่บันทึกความเคลื่อนไหวของธุรกรรมต่างๆ ของลูกค้าธนาคาร บันทึกลงในสมุด เมื่อมีการโอนเงินเข้ามาหรือออกไป ใครโอนเงินให้ใคร ก็จะบันทึกยอดปัจจุบันในบัญชีของลูกค้าทุกคนอย่างถูกต้อง”
บล็อกเชนเปรียบได้กับระบบสมุดบัญชีกลางแบบดิจิทัล
การเก็บข้อมูลบนบล็อกเชนมีข้อดีคือ สามารถแจกจ่ายสมุดบัญชีกลางที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลให้สมาชิกในเครือข่ายทุกรายเก็บไว้ แทนที่จะเก็บไว้ที่เดียว จึงมีความโปร่งใสและมั่นใจได้ว่าการปรับแก้ข้อมูลนั้นเป็นไปได้ยาก และถ้ามีการแก้ไขใด ๆ เกิดขึ้น สมาชิกทุกรายที่อยู่ในเครือข่ายจะสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ โดยธุรกรรมและข้อมูลต่างๆ จะถูกเก็บรวบรวมไว้เป็น “บล็อก (Block)” ที่มีหลาย ๆ บล็อกต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ และจะต้องมีการอ้างอิงรหัสเชื่อมต่อกับบล็อกก่อน ๆ ทำให้เกิดเป็นห่วงโซ่ (Chain) จึงเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า “บล็อกเชน (Block Chain)” นั่นเอง
ความปลอดภัยของบล็อกเชนเกิดจากการอ้างอิงข้อมูลของบล็อกที่เชื่อมกันโดยไม่ขาดสาย หากมีการแก้ไขข้อมูลรายการใดรายการหนึ่ง “รหัสเชื่อมต่อ” นี้จะพังลง ซึ่งจะทำให้การเชื่อมต่อระหว่างบล็อกที่ 1 และ 2 ขาดจากกันทันที และสืบย้อนได้ว่าในบล็อกที่ 1 เกิดการเปลี่ยนแปลงข้อมูลโดยทุจริต
กลไกสำคัญของบล็อกเชน
หากจะเล่าถึงการเก็บข้อมูลโดยระบบบล็อกเชนสำหรับการลงทุนแบบง่าย ๆ ก็คือการใช้เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลที่เรียกว่า Distributed Ledger Technology (DLT) หรือแปลเป็นไทยว่า “เทคโนโลยีสมุดบัญชีแบบกระจายตัว” โดยทั้งบล็อกเก็บข้อมูลและรหัสเชื่อมต่อล้วนอยู่ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลที่มีการแลกเปลี่ยนและเชื่อมสัญญาณข้อมูลถึงกันตลอดเวลา ดังนั้น หากเกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ระบบจะตรวจพบทันที
ยกตัวอย่างเช่น สมมติมีบล็อกข้อมูลที่เชื่อมต่อกันอยู่ 10 บล็อก บล็อกทั้งสิบซึ่งอยู่ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลจะถูกกระจายสำเนาไปเก็บไว้ในหลาย ๆ ที่ ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีการอ้างอิงข้อมูลระหว่างกันตลอดเวลา ดังนั้น ถ้าชุดข้อมูลในแหล่งไหนเกิดการเปลี่ยนแปลง ก็ยังมีแหล่งข้อมูลอื่น ๆ คอยยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ในปัจจุบันมีผู้พัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบก็จะมีคุณสมบัติและการทำงานที่แตกต่างกัน จึงมีความเหมาะสมกับงานที่มีลักษณะแตกต่างกันไปด้วย
หลายประเทศเริ่มนำบล็อกเชนมาใช้ในการเก็บข้อมูลที่ต้องการความมั่นคงปลอดภัยสูง เช่น โฉนดที่ดิน เวชระเบียนผู้ป่วย การเลือกตั้ง ฯลฯ และด้วยคุณสมบัติด้านความมั่นคงปลอดภัยนี้เอง บล็อกเชนจึงถูกนำมาใช้ในการทำธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล บริหารจัดการเงินดิจิทัล คริปโตเคอเรนซี ซึ่งมีสกุลเงินที่หลากหลาย เช่น บิตคอยน์ อิเทอเรียม รวมทั้งโทเคนประเภทต่าง ๆ
บล็อกเชนในตลาดการเงินและการลงทุน
เมื่อมีการสร้างบล็อกอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดเก็บและบันทึกข้อมูล คำถามก็คือ ใครจะเป็นคนสร้างและยืนยันความถูกต้องของบล็อกเก็บข้อมูลใหม่ ๆ จากธุรกรรมในระบบที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา?
คำตอบก็คือให้บุคคลภายนอกมาช่วยสร้างและยืนยันความถูกต้องของบล็อกข้อมูลใหม่ โดยที่บุคคลภายนอกนั้นไม่ต้องล่วงรู้ข้อมูลการซื้อขายหรือข้อมูลธุรกรรมภายในบล็อกเลย (เหมือนการให้สร้างเฉพาะตู้เซฟเก็บเอกสารโดยไม่ต้องเห็นเอกสารในตู้เซฟนั้นว่ามีข้อมูลอะไรอยู่บ้าง) และเมื่อสร้างเสร็จก็จะได้ “รางวัล” หรือค่าตอบแทนสำหรับการสร้างบล็อกใหม่
จึงเป็นที่มาของกระแสการล่ารางวัลหรือเหรียญค่าตอบแทนจากการสร้างบล็อก ซึ่งในวงการจะเรียกว่า “การขุดเหรียญ” นั่นเอง โดยบรรดานักขุดจะต้อง “แข่งขัน” กันแก้โจทย์สมการที่ได้รับและผู้ที่แก้โจทย์ได้เป็นคนแรกจึงจะได้รางวัล (ซึ่งคำตอบจากการแก้โจทย์สมการนั้นก็จะกลายเป็นบล็อกข้อมูลใหม่นั่นเอง) พูดง่าย ๆ ก็คือบรรดาผู้สร้างบล็อกหรือนักขุดเหรียญ จะมาคอยสร้างบล็อกใหม่ ๆ เพื่อให้นักลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถบันทึกธุรกรรมการซื้อขายกันได้อย่างปลอดภัย โดยตัวนักขุดเองจะได้ค่าจ้างจากการทำงานสร้างบล็อกเป็นครั้ง ๆ จึงเรียกว่าระบบ “Proof of Work”
แต่ทุกอย่างก็มีข้อเสีย นักขุดที่มาสร้างบล็อกในระบบ “Proof of Work” ต้องมีคอมพิวเตอร์ที่มีกำลังเครื่องสูงเพื่อใช้ในการประมวลผลได้เร็วกว่านักขุดคนอื่น ๆ และเนื่องจากข้อมูลที่อยู่ในระบบที่มีการทำธุรกรรมนี้มีปริมาณมาก จึงต้องใช้พลังงานไฟฟ้าปริมาณมากเช่นกัน นักขุดที่มีกำลังทรัพย์มักจะใช้คอมพิวเตอร์และเซิร์ฟเวอร์กำลังสูง ๆ ทำให้เกิดความได้เปรียบนักขุดรายอื่น ๆ จึงอาจเกิดความไม่เท่าเทียมและนำไปสู่ความไม่โปร่งใสที่ก่อให้เกิดการผูกขาดในการสร้างบล็อกได้ ทำให้เกิดการพัฒนาระบบการสร้างและยืนยันความถูกต้องของบล็อกรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Proof of Stake” ขึ้นมา โดยผู้ที่จะเข้ามาสร้างบล็อกต้องวางมัดจำก่อน เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ในการถูกสุ่มเลือกเป็นผู้สร้างบล็อกและเมื่อทำสำเร็จก็จะได้รางวัลเป็นค่าธรรมเนียม วิธีนี้ช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่า
Proof of Stake เป็นระบบกลไกที่เริ่มได้รับความนิยมในบล็อกเชนที่เกิดขึ้นมาในช่วงหลัง ข้อดีคือมีเสถียรภาพและความแน่นอนสูงกว่าแบบการแข่งกันขุดเหรียญแบบ Proof of Work อีกทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าด้วยเพราะใช้พลังงานต่ำกว่ามาก และหนึ่งในบล็อกเชนทางการเงินที่ใช้ระบบ “Proof of Stake” ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ บล็อกเชนเทโซส (Tezos)
ทำไมตลาดทุนยุคใหม่ถึงหันมาใช้บล็อกเชนเทโซส?
เทโซส (Tezos) คือเครือข่ายบล็อกเชนที่สนับสนุนการทำสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) เพื่อการนำสินทรัพย์ สัญญาเช่า หรือหลักทรัพย์ใด ๆ มาแปลงเป็นสินทรัพย์ตามสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ ที่ต้องการลงทุน เช่น การออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment tokens) หรือหลักทรัพย์ดิจิทัล (securities tokens) เป็นต้น โดยเทโซสยังมีฟังก์ชั่นการทำงานอื่น ๆ ที่สนับสนุนธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความสะดวกสบายและปลอดภัยกว่า นอกจากนี้ เทโซสยังมีจุดแข็งเรื่องการยอมรับการสร้างบล็อกใหม่ที่ใช้อัลกอริทึมแบบ “Proof of Stake” อีกทั้งยังสามารถอัพเกรดตัวเองได้อีกด้วย
ในประเทศไทย เอสอี ดิจิทัล (SE Digital) เป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ซึ่งนำเทคโนโลยีบล็อกเชน เทโซส (Tezos) ที่สนับสนุนการทำสัญญาอัจฉริยะมาใช้ในการเชื่อมโยงผู้ที่ต้องการระดมทุนกับนักลงทุนได้อย่างสอดคล้องและตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่าย
มีคำกล่าวว่า “บล็อกเชนคือเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกของยุคนี้” อุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มหันมาใช้บล็อกเชนกันอย่างจริงจังแล้วในวันนี้ รวมไปถึงตลาดการลงทุนยุคใหม่ที่กำลังเข้ามาใกล้ชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ในรูปแบบของแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน และอนาคตของการลงทุนยุคใหม่กำลังจะมาถึงทุกคน และการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอาจกลายเป็นเรื่องปกติที่เราทำได้ทุกวันเหมือนกับการเล่นโซเชียลมีเดียก็เป็นได้
สนใจและติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิตอล โปรดเยี่ยมชมเว็บไซต์ https://se.digital/
บทความที่เกี่ยวข้อง : สินทรัพย์ดิจิทัล 101 ทำความเข้าใจก่อนลงทุนสินทรัพย์แห่งอนาคต