หุ้น OR

8 ข้อต้องรู้หากคิดลงทุนในหุ้นไอพีโอของ OR

โดย SM1984

หุ้น OR หรือ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก กำลังจะเป็นดีลไอพีโอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของปี 2564 นี้ ไม่บ่อยครั้งนักที่จะมีรัฐวิสาหกิจเสนอขายหุ้นไอพีโอโดยเฉพาะจากกลุ่มปตท. รวมถึงการที OR มีธุรกิจที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปไม่ว่าจะเป็นปั้มน้ำมันรวมถึงร้านกาแฟ Amazon ทำให้ดีลนี้เป็นที่สนใจของนักลงทุนไม่ว่าจะรายย่อยหรือสถาบันที่ต้องการจะเป็นเจ้าของ

ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในหุ้น OR นี้ เราลองมาวิเคราะห์ธุรกิจของ OR อัตราส่วนทางการเงินตลอดจนแนวโน้มการเติบโตในอนาคตผ่าน 8 ข้อสำคัญที่ต้องรู้ก่อนคิดลงทุนหุ้น OR

1.หุ้น OR ประกอบไปด้วย 3 ธุรกิจหลัก

ธุรกิจหลักของ OR ก็คือจำหน่ายน้ำมันผ่านปั้มน้ำมันปตท. โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาด 41.9% เมื่อพิจารณาจากปริมาณจำหน่ายน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 โดยข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงาน โดยมีเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันจำนวน 1,968 แห่งทั่วประเทศ

ธุรกิจที่สองคือผู้ค้าปลีกผ่านร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟและร้านอาหาร มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 4%  นอกจากนี้ยังมีธุรกิจในต่างประเทศนั้นคือปั้มน้ำมันในประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชาและลาว สัดส่วนรายได้ประมาณ 5%

เห็นได้ว่า OR มีสัดส่วนรายได้ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันถึง 90% ส่วน Non Oil มีเพียง 10%

2. OR เป็นเจ้าของแบรนด์ชื่อดังมากมาย

OR เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ร้านกาแฟซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดีอย่างร้านคาเฟ่อเมซอนจำนวน 3,168 ร้าน ซึ่งจำหน่ายกาแฟและเครื่องดื่มอื่นๆ ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ และอาหารว่าง ร้านอาหารและ

รวมถึงแฟรนไชส์ร้านไก่ทอด เท็กซัส ชิคเก้น ซึ่งบริษัทฯ ได้รับสิทธิอนุญาตแต่ผู้เดียวในประเทศไทย “ฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ” และแบรนด์ที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของ ได้แก่ “เพิร์ลลี่ ที” และร้านสะดวกซื้อจำนวน 1,960 ร้าน ซึ่งจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าพื้นฐานที่หลากหลายภายใต้แบรนด์ “จิฟฟี่”

3.เงินที่ได้จากการทำ IPO เอาไปทำอะไร?

บริษัทฯ ประมาณการว่าจะได้รับเงินจากการเสนอขายหลักทรัพย์ในครั้งนี้ หลังหักค่าใช้จ่ายในการเสนอขายหลักทรัพย์ จำนวนประมาณ 41,079 – 53,209 ล้านบาท ตามราคาไอพีโอ จะนำไปใช้ขยายธุรกิจภายในช่วงระยะเวลา 2564-2568 ดังนี้

เพิ่มจำนวนปั้มน้ำมัน ปตท. ให้ได้ 108 สถานีต่อปี รวมถึงขยายสาขาในต่างประเทศให้ได้ 64 แห่งต่อปี นอกจากนี้จะมีการขยายธุรกิจอื่นอย่างเช่น ร้านกาแฟ Amazon ให้ได้ 418 แห่ง/ปี,ร้านไก่ทอด Texas 20 แห่ง/ปี และ ร้านติ่มซำ ฮัว เซง ฮง 19 แห่ง/ปี โดยเงินสดส่วนที่เหลือจะนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนภายในกิจการ

4.ธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากการขยายธุรกิจดั้งเดิมแล้ว OR ยังมีแผนลงทุนในธุรกิจยุคใหม่ซึ่งจะอยู่ภายในปั้มน้ำมันอย่างเช่นพัฒนา สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนพัฒนาระบบ Cloud เพื่อรับส่งข้อมูลและจับพฤติกรรมของผู้บริโภคในสถานีน้ำมัน รวมถึงเข้าไปลงทุนถือหุ้นใน Flash Express สัดส่วน 9.5% เพื่อรองรับธุรกิจจัดส่งสินค้า 

5. ผลประกอบการในอดีตเป็นอย่างไร

จากรายงานของบริษัทฯระบุว่า ปี 2560 รายได้ 547,252 ล้านบาท กำไร 12,671 ล้านบาท,ปี 2561 รายได้ 594,129 ล้านบาท กำไร 9,493 ล้านบาท,ปี 2562 รายได้ 577,134 ล้านบาท กำไร 10,896 ล้านบาทขณะที่ งวด 9 เดือนปี 63 รายได้ 321,922.2 ล้านบาท กำไร 5,868.5 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่ารายได้และกำไรของบริษัทค่อนข้างจะมีการเติบโตเพียงเล็กน้อยและไม่สม่ำเสมอซึ่งรายได้และกำไรอาจผันผวนไปตามภาวะเศรษฐกิจรวมถึงราคาน้ำมัน

6. อัตราส่วนทางการเงินที่น่าสนใจ

ในส่วนของอัตราส่วนทางการเงิน แม้ว่าอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดีคือ 27-35% แต่ประเด็นที่น่าสนใจคืออัตรากำไรสุทธิ (Net Margin) อยู่ในระดับเพียงเลขตัวเดียวคือ 1.8% เท่านั้น สำหรับงวดปี 2563 โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) ที่ระดับ 7.5% สำหรับงวดปี 2563

นั่นเป็นเพราะธุรกิจหลักของบริษัทฯนั่นคือการจำหน่ายน้ำมันซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้กว่า 90% เป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นบางเฉียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำ 

7. แนวโน้มการเติบโตในอนาคต

แม้จะใช้คำว่า “ค้าปลีก” อยู่ในชื่อของบริษัท แต่แท้จริงแล้วธุรกิจและรายได้หลักของบริษัทก็ยังคงเป็นธุรกิจเกี่ยวข้องกับพลังงานนั่นคือการจำหน่ายน้ำมัน แม้หลังจากที่ไอพีโอไปแล้ว เงินลงทุนส่วนใหญ่ยังคงใช้กับการลงทุนขยายปั้มน้ำมันซึ่งการใช้พลังงานน้ำมันจะขึ้นอยู่กับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง แนวโน้มการเติบโตของ OR จึงมีอุปสรรคอยู่พอสมควร แม้จะมีการขยายปั้มน้ำมันในต่างประเทศมาช่วยผลักดันการเติบโตก็ตาม

ตลอดจนอัตราการเติบโตของการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันในอนาคตมีโอกาสที่จะเติบโตลดลงจากการมาของรถยนต์ไฟฟ้า หาก OR ไม่สามารถดันธุรกิจใหม่นี้ให้มีสัดส่วนรายได้ที่สูงขึ้นก็อาจจะไม่เห็นการเติบโตได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกอย่างร้านกาแฟและร้านไก่ทอด แม้จะยังมีช่องว่างทางการตลาดให้โตได้อีกมาก แต่สัดส่วนรายได้เมื่อเทียบกับการขายน้ำมันแล้วถือว่ายังเล็กน้อยมาก

8. หุ้น OR น่าลงทุนเพียงใด

หุ้น OR หรือ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จึงน่าจะจัดให้อยู่ในกลุ่มของหุ้นคุณค่า (Value Stock) มากกว่าหุ้นเติบโต (Growth Stock) จากการที่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจปั้มน้ำมันชนิดที่ยากจะหาคู่แข่งมาแข่งได้ตลอดจนการมีแบรนด์สินค้าที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีและเป็นผู้นำตลาดอย่างร้านกาแฟ Amazon 

ทว่าแนวโน้มการเติบโตอย่างก้าวกระโดดอาจจะยังไม่เกิดขึ้นกับ OR แม้ว่าส่วนของธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสเติบโตตามเมกะเทรนด์อย่างเช่นสถานีชาร์ทรถยนต์ไฟฟ้าและขนส่งจะเริ่มเข้ามามีสัดส่วนมากขึ้น แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนธุรกิจดั้งเดิมที่มีอยู่กว่า 90% แล้วแทบจะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ

หุ้น OR  จึงเหมาะสมกับการลงทุนในระยะยาวมากกว่าคาดหวังการเติบโตรวดเร็วในระยะสั้น แต่ไม่ถึงกับเป็นหุ้นที่มีความผันผวนต่ำเพราะความเสี่ยงหลักยังขึ้นอยู่ที่ราคาน้ำมันซึ่งมีความผันผวนสูง แต่โดยรวมยังถือว่ามีความเป็นหุ้นวัฐจักร (Cycle Stock) ที่น้อยกว่าหุ้นตัวอื่นในกลุ่มปตท.ด้วยกัน

ปิดท้ายด้วยการจองซื้อหุ้น IPO ของ OR สำหรับนักลงทุนรายย่อย มีรายละเอียดดังนี้ 

OR จะขาย IPO ทั้งหมด 3,000 ล้านหุ้น แบ่งเป็น การกระจายหุ้นปกติ จำนวน 2,300 ล้านหุ้น ให้สิทธิผู้ถือหุ้น PTT สัดส่วน 95 : 1 จำนวน 300 ล้านหุ้น โดยเป็นสว่นของกรีนชู 300 ล้านหุ้น

กระจายหุ้นผ่าน 5 โบรกฯจำนวนเท่ากันคือ KKP BLS TISCO KSEC FINANSIA และผ่านช่องทางธนาคารสำหรับประชาชนทั่วไปที่ BBL KBANK KTB ด้วยระบบ small lot first โดยจำนวนหุ้นที่จองผ่านโบรกฯ จะมากกว่าผ่านธนาคาร

ลูกค้าที่ได้หุ้นจองจากโบรกฯแล้วยังสามารถจองผ่านธนาคารได้ โดยหากจองผ่านธนาคารหลายแห่ง จะนับรวมเป็นหนึ่งใบจองจากเลขบัตรประชาชน

ขณะที่ไทม์ไลน์ของการเสนอขายหุ้นและการเข้าไอพีโอของ OR มีดังนี้

– 18 ม.ค. โรดโชว์นักลงทุนรายย่อย

– 19 ม.ค. โรดโชว์นักลงทุนสถาบัน

– 25-29 ม.ค. นักลงทุนบุคคลและนักลงทุนที่ได้สิทธิจากหุ้นแม่ PTT จองซื้อ ทั้งผ่านโบรกเกอร์และธนาคาร

– 1 ก.พ. เคาะราคา IPO ครั้งสุดท้าย

– 10 ก.พ. เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

ข้อมูลจากเอกสารยื่นไฟลลิ่งต่อ ก.ล.ต.

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : รีวิวตลาดหุ้นปี 2020 ผ่าน 8 เหตุการณ์สำคัญที่ลืมไม่ลง!!

Related Posts