Social Trading

Social Trading เครื่องมือช่วยติดตามผลงานเทรดเดอร์ระดับโลก

โดย SM1984

Social Trading เป็นเครื่องมือการลงทุนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว เพียงแต่คนไทยอาจยังไม่คุ้นเคยมากนัก จุดเด่นคือการเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นทั้งตัวช่วยให้กับนักลงทุนที่ไม่มีเวลาติดตามการลงทุนด้วยตัวเองรวมถึงเป็นเครื่องมือช่วยสร้างรายได้ให้กับเทรดเดอร์ที่มีความสามารถ

Social Trading แปลตรงๆก็คือสังคมของการเทรดบนสื่อออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นเวบไซต์หรือแอปพลิเคชั่น กล่าวคือภายในแพลฟอร์มจะเปิดให้เทรดเดอร์ทั้งมือเก่าและมือใหม่เข้ามาโพสแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตลาดการลงทุนตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาให้เกิดการซื้อขายตามกันได้อัตโนมัติ

กล่าวคือเทรดเดอร์ที่มีประสบการณ์และความสามารถในการเทรดสูงสามารถที่จะสมัครเป็น Master เพื่อโพสแนวทางการลงทุนเช่นความเห็นส่วนตัวตลอดจนกราฟเทคนิค โดยเทรดเดอร์ที่ยังประสบการณ์น้อยสามารถเข้ามาติดตามเพื่อใช้เป็นแนวทางในการลงทุนได้

พูดง่ายๆก็คือคล้ายกับเวบบอร์ดสาธารณะที่ตั้งหัวข้อไว้สำหรับการลงทุนโดยเฉพาะนั่นเอง โดยสินค้าที่นำมาแสดงความคิดเห็นกันในแพลตฟอร์มมีตั้งแต่หุ้น Index Futures,Forex,Commodity ตลอดจน Cryptocurrency เรียกได้ว่ามีครบทุกสินค้าการลงทุนจากทั่วโลก โดยเจ้าของแพลตฟอร์มที่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดก็คือ Etoro ซึ่งเปิดให้ซื้อขายสินทรัพย์ต่างๆในรูปแบบของ CFD

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ลงทุนหุ้นต่างประเทศ 101 ตอบทุกข้อสงสัยสำหรับผู้สนใจลงทุนในกิจการระดับโลก

Social Trading สามารถแบ่งออกได้เป็นสามรูปแบบหลักๆคือ

Copy Signal

เป็นรูปแบบที่เมื่อ Master ทำการส่งคำสั่งซื้อขาย แพลตฟอร์มจะทำหน้าที่แสดงให้กับสมาชิกหรือผู้ติดตามได้รับรู้ว่า Master ได้ทำการซื้อขายหุ้นหรือสินทรัพย์ใดๆไปในราคาเท่าไร เพื่อให้ Follower ได้นำไปตัดสินใจต่อว่าจะซื้อขายตามหรือไม่ ทั้งนี้แพลตฟอร์มจะไม่ทำการซื้อขายให้อัตโนมัติ

Copy Trade

รูปแบบดังกล่าวเมื่อใดที่ Master ทำการซื้อขายระบบจะส่งคำสั่งให้กับ Follower สามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้อย่างอัตโนมัติทันที โดยผู้ตามจะต้องกดยอมรับให้มีการส่งคำสั่งซื้อขายแทนกับทางแพลตฟอร์มเสียก่อน เหมือนกับว่าเราได้ติดตามผลงานของเทรดเดอร์ที่มีความสามารถคนนั้นมาได้ระยะหนึ่งและมั่นใจที่จะลงทุนตามทั้งหมด เหมาะสมกับผู้ที่ไม่มีเวลาลงทุนด้วยตัวเองโดยจะมีการเสียค่าธรรมเนียมการติดตามให้กับ Master

Copy Fund

จะคล้ายกับ Copy Trade ตรงที่มีการส่งคำสั่งซื้อขายให้อัตโนมัติเช่นกัน แต่ Copy Fund จะทำหน้าที่เหมือนกับเป็นกองทุนส่วนบุคคลโดยเปิดให้ Follower ฝากเงินเข้าไปให้ Master เป็นผู้จัดพอร์ตลงทุนให้โดยจะมีการหักค่าธรรมเนียมการลงทุนรวมไปถึงส่วนแบ่งกำไร (Profit Sharing) ตามที่ได้ตกลงกันก่อนลงทุน

Master ผู้ดูแล Copy Fund อาจจะชูจุดขายของกองทุนว่าเน้นลงทุนในธีมใดเป็นพิเศษเช่น ธีมที่เน้นลงทุนหุ้นเทคโนโลยีหรือเน้นลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ธนาคารแห่งประเทศไทยออกนโยบายใหม่ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเอื้อคนไทยลงทุนต่างประเทศง่ายขึ้น

หลักการเลือกลงทุนกับ Master ให้เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของตัวเอง

ภายในแพลตฟอร์ม SocialTrading อาจจะมี Master ที่เป็นผู้นำ Copy Trade และ Copy Fund เป็นจำนวนมาก ซึ่งหลักการในการเลือก Master ในการลงทุนควรใช้เกณฑ์ตามนี้ในการพิจารณา

พิจารณาจากความเสถียรของ Performance ในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น

แน่นอนว่านักลงทุนย่อมมองตัวเลขผลตอบแทนที่สูงเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ แต่อยากให้มองผลงานในระยะยาวของผู้ที่เป็น Master มากกว่าที่จะตัดสินผลงานจากตัวเลขผลตอบแทนในระยะสั้น เพราะผู้ที่ลงทุนหรือเป็น Master ในระยะเวลาที่ยาวนานย่อมมีความน่าเชื่อถือมากกว่าผู้ที่เข้ามาในตลาดระยะสั้นและจังหวะการลงทุนช่วยหนุนให้ได้ผลตอบแทนสูงในระยะสั้นแต่ระยะต่อมากลับไม่สามารถยืนระยะต่อไปได้

Follower สามารถเลือกดูที่ Average Return ของ Master คนนั้นว่าเฉลี่ยแล้วสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยภายในระยะเวลาที่กำหนดเช่นต่อปีในอัตราเท่าไร หากตัวเลขมีความสม่ำเสมอ เช่น ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนอยู่ที่ 20% ต่อปีทำได้ 3 ปีติดต่อกัน แสดงว่า Master  คนนั้นมีฝีมือในการเทรดที่สม่ำเสมอ

พิจารณาสไตล์การลงทุนและสินค้าหลักที่ซื้อขาย

Master แต่ละคนมีไสตล์การลงทุนและสินค้าที่แตกต่างกัน บางคนเน้นลงทุนแบบ Active ด้วยการซื้อขายอย่างต่อเนื่องและลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงเช่น Forex ขณะที่บางคนอาจใช้กลยุทธ์ที่ Passive หรือเลือกลงทุนเฉพาะหุ้น ซึ่งเราสามารถเลือกลงทุนใน Master ที่มีสไตล์ลงทุนใกล้เคียงกับจริตของเรา

CFD คือ

การบริหารความเสี่ยงต้องมาพร้อมกับผลตอบแทน

ก่อนที่จะเลือกลงทุนกับ Master ผู้ที่เป็น Follower ควรที่จะทำความรู้จักกับตัวเองก่อนว่าสามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด เพราะหนึ่งในทฤษฎีของการลงทุนที่ถูกพิสูจน์มาอย่างยาวนานนั่นคือ “ผลตอบแทนที่สูงมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูง” 

ตัวชี้วัดที่ใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงกับผลตอบแทนก็คือ Drawdown หรือผลตอบแทนที่ติดลบของพอร์ตรวมซึ่งยังไม่เกิดการ Realized กล่าวคืออัตราตัวเลขที่พอร์ตลงทุนติดลบลงว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่เท่าไร ย้ำกว่า Drawdown คือตัวเลขผลตอบแทนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่การที่พอร์ตติดลบก็ส่งผลต่อสภาวะจิตใจของผู้ลงทุนเช่นกัน

ตัวอย่างเช่นพอร์ตลงทุนของ Master A มี Drawdown เฉลี่ยอยู่ที่ 10% แสดงว่า Master คนนี้คุมการติดลบของพอร์ตไว้ไม่เกินระดับ 10% ส่วน Max Drawdown จะหมายถึงผลขาดทุนสูงสุดที่เกิดขึ้นซึ่งอาจจะเกิดขึ้นครั้งเดียวซึ่งจะบ่งบอกถึงความเสี่ยงในการเทรดแต่ละครั้ง

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : เคล็ดลับการเลือก Trade Setup ที่เหมาะสมของนักลงทุนรายย่อย

หรือจะดูที่อัตรา Win:Loss ซึ่งจะระบุถึงค่าเฉลี่ยของการเทรดแต่ละครั้งว่ามีผลกำไรหรือขาดทุนมากกว่ากัน เช่น หากตัวเลขออกมาที่ 70:30 แสดงว่าการเทรด 10 ครั้ง Master ดังกล่าวสามารถทำกำไรได้ 7 ครั้ง ซึ่งถือว่าผลงานค่อนข้างดี

SocialTrading จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักลงทุนหน้าใหม่ที่ไม่มีเวลาลงทุนได้มีโอกาสเป็น Follwer ของ Master ที่มีผลการเทรดเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันผู้ที่มีฝีมือในการเทรดที่ดีสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการต่อยอดสร้างอาชีพและรายได้ให้กับตัวเองเช่นกัน ถือเป็นเครื่องมือการลงทุนที่ช่วยให้เราเข้าถึงผลงานของเทรดเดอร์ที่มีผลงานระดับโลก

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ทำความรู้จัก CFD เครื่องมือการลงทุนเริ่มต้นสำหรับการเทรดสินค้าต่างประเทศ

Related Posts