แม้ว่าโลกของสกุลเงินดิจิทัลจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าของโลกการเงินในปัจจุบันแล้วยังถือว่าห่างกันชนิดไม่เห็นฝุ่น แม้แต่มูลค่าตลาดของบิทคอยน์ที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์ ก็ยังมีมูลค่าเทียบกับหุ้นบริษัท TESLA เพียงบริษัทเดียวเท่านั้น
ยังมีเหตุผลต่างๆนานามากมายที่ทำให้นักลงทุนสถาบันหรือสถาบันการเงินยังไม่สามารถนำเงินเข้ามาในสกุลเงินดิจิทัลได้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางด้านกฎหมายหรือความเข้าใจขอผู้ลงทุนในการยอมรับความเสี่ยง ทำให้โลกการเงินแบบดั้งเดิม (Traditional Finance) ดูยังจะเป็นโลกคู่ขนานกับโลกการเงินใหม่ที่มีสกุลเงินดิจิทัลเป็นตัวนำ
แต่บนโลกคู่ขนานก็ยังมีประตูระหว่างมิติที่จะเข้ามาเชื่อมสองโลกการเงินให้ไปด้วยกันได้นั่นคือ Investment Token หรือโทเคนดิจิทัลที่มีสินทรัพย์จริงหนุนหลัง (Asset Backed) ซึ่งมีความแตกต่างจากสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เช่น บิทคอยน์,อีธีเรียม หรือ ริปเปิล ซึ่งไม่ได้มีสินทรัพย์หนุนหลัง
ก่อนหน้านี้ได้มีวิธีการระดมทุนแบบ ICO (Initial Coin Offering) โดยใช้สกุลเงินดิจิทัลอย่างอีธีเรียมหนุนหลัง แต่การที่โครงการส่วนใหญ่ไม่มีสินทรัพย์จริงที่จับต้องได้หนุนหลังทำให้การระดมทุนส่วนใหญ่เป็นเพียงการเก็งกำไรและประสบความล้มเหลว
ทำให้เกิดรูปแบบการระดมทุนแบบใหม่นั่นคือการระดมทุนด้วยการเสนอขายหลักทรัพย์หรือ STO (Securities Token Offering) กล่าวคือเป็นการนำสินทรัพย์ดั้งเดิมที่คนทั่วโลกรู้จักไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ ของมีค่า ฯลฯ นำมาแปลงให้อยู่ในรูปแบบโทเคนดิจิทัลและนำไประดมทุนและซื้อขายกันด้วยบล็อกเชน
การที่นำสินทรัพย์การลงทุนดั้งเดิมเข้ามาในโลกของดิจิทัลถูกคาดหวังว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นักลงทุนสถาบันหรือสถาบันการเงินนำเม็ดเงินเข้ามาในโลกของการเงินยุคดิจิทัล เพราะสินทรัพย์เหล่านั้นมีรูปแบบการประเมินมูลค่าที่มีมาตราฐาน มีการรัรองสถานะทางกฎหมาย ตลอดจนักลงทุนทั่วไปมีความเข้าใจเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม STO ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายนัก ปัจจุบันยังมีเพียงแค่บางประเทศเท่านั้นที่มีกฎหมายอนุญาตให้ระดมทุนแบบ STO ได้เนื่องจากติดในเรื่องของข้อกฎหมายต่างๆในการนำสินทรัพย์ดั้งเดิมมาแปลงให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล
สำหรับประเทศไทยได้มีการออก พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ออกมาในปีพ.ศ. 2561 โดยมีการรับรองผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) รวมถึง ICO Portal ซึ่งทำหน้าที่เหมือนที่ปรึกษาทางการเงินของโลกสินทรัพย์ดิจิทัล เท่ากับว่าการระดมทุน ICO ได้รับการรับรองอย่างถูกกฎหมายในประเทศไทยแล้ว
พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ยังได้ระบุถึงการเสนอขายโทเคนดิจิทัลแบบInvestment Token ซึ่งมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับ STO ต่างกันตรงที่ผู้ถือโทเคนจะไม่ได้เป็นเจ้าของสิทธิในสินทรัพย์นั้นโดยตรง แต่ได้รับสิทธิในสิทธิประโยชน์จากการถือโทเคนที่มีสินทรัพย์นั้นๆหนุนหลังเช่นเงินปันผลแทน
Investment Token จึงน่าจะเป็นจุดบรรจบของโลกการเงินแบบดั้งเดิมที่จะสามารถนำเม็ดเงินเข้ามาอยู่ในโลกของดิจิทัลเพราะมีความคุ้นเคยในสินทรัพย์และความมั่นใจในการลงทุนจากการที่มีกฎหมายรองรับ และเริ่มจะเห็นความเคลื่อนไหวของสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมที่จะเข้ามาในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว
ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรวมถึงบริษัทลูกของสถาบันการเงินขนาดใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทยในชื่อ KBTG ได้ออกมาประกาศลงทุนในแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยมุ่งเน้นที่โทเคนดิจิทัล ตามแผนงานยกระดับตลาดทุนไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล
รวมถึงอีอาร์เอ็กซ์ (ERX) ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรายล่าสุดที่ได้รับไลเซ่นส์จาก ก.ล.ต. เป็นที่เรียบร้อยได้แถลงแผนธุรกิจล่าสุดว่าจะมุ่งเน้นการซื้อขายเฉพาะโทเคนดิจิทัลเท่านั้น โดยอีอาร์เอ็กซ์เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักการเงินในตลาดทุนดั้งเดิมที่มีประสบการณ์รวมกันกว่า 60 ปี บ่งบอกว่าคนการเงินดั้งเดิมสนใจที่จะเข้ามาในตลาดนี้อย่างชัดเจน
ประเทศไทยน่าจะมีการเสนอขายโทเคนดิจิทัลประเภทนี้ในเร็วๆนี้ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่ก้าวหน้าในด้านการกำกับดูแลอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอันดับต้นๆในเอเชียและน่าจะขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมนี้ในภูมิภาคได้ในอนาคต หากหน่วยงานกำกับดูแลวางนโยบายได้อย่างลงตัวทั้งในด้านการสนับสนุนและควบคุมดูแล
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : 5 สิ่งที่ DeFi แตกต่างจากธนาคารแบบดั้งเดิม