Decentralize Finance

ทำความรู้จัก Decentralize Finance ระบบการเงินแห่งอนาคตที่จะ Disrupt ธนาคาร

โดย SM1984

Decentralize Finance หรือ Defi เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา โดยมีคอนเซบท์คือการที่เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆได้โดยไม่มีคนกลางเป็นคนจัดการ 

แต่ใช้บล็อกเชนและสมาร์ทคอนแทรคท์ในการจัดการแทน โดยใช้สินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉพาะ Ethereum ในการทำธุรกรรม รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นที่เกิดขึ้นมาใหม่เพื่อใช้สำหรับ Defi โดยเฉพาะ

การตัดการตัดสินใจโดยคนออกไปจะช่วยลดปัญหาการฉ้อโกงลงไปได้โดยอยู่ภายใต้แพลตฟอร์มและระบบที่ทำงานโดยสมาร์ทคอนแทรคท์ที่ไม่สามารถแทรกแซงได้ รวมถึงการตัดคนกลางออกไปจะช่วยให้ค่าธรรมเนียมต่างๆในการทำธุรกรรมลดลง

ระบบการเงินโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันล้วนแล้วแต่มี “คนกลาง” เป็นผู้จัดการ ตั้งแต่ธนาคารกลาง ธนาคารพาณิชย์ ตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ บทบาทหน้าที่ของคนกลางก็คือควบคุมดูแลระบบการเงินให้เดินไปได้อย่างมั่นคง

กล่าวได้ว่าสิ่งที่ค้ำยันอุตสาหกรรมการเงินมาตั้งแต่อดีตนั่นคือเรื่องของความเชื่อมั่น (Trust) และความชำนาญ (Professional) ของนักการเงินและนายธนาคาร เพื่อดึงดูดให้เกิดความเชื่อใจในการนำเงินไปฝากเพื่อปล่อยกู้ต่อหรือนำไปลงทุน

แต่ความล่มสลายของสถาบันการเงินในอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่ธนาคารแบริ่ง เลห์แมนบราเธอร์ ฯลฯ รวมถึงการฉ้อฉลต่างๆล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดและความตั้งใจของมนุษย์ผู้ซึ่งเรียกตัวเองว่านักการเงินทั้งสิ้น

ไม่นับรวมช่องโหว่งในระบบการเงินแบบปิดหรือแบบที่มีศูนย์กลางจัดการ (Centraized) ที่ทำให้กลุ่มคนบางกลุ่มในโลกไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินรวมถึงต้องจ่ายส่วนต่างหรือค่าธรรมเนียมที่แสนแพง

Decentralize Finance มีบริการต่างๆเช่นเดียวกับธนาคาร โดยบริการที่ถูกจับตาว่าจะเข้ามาแทนที่ระบบการเงินปกติมากที่สุดก็คือ Lending หรือการกู้ยืมกันเองแบบ Peer-To-Peer โดยไม่มีนายธนาคารเข้ามาตัดสินใจแทน 

ผู้ที่มีเงินสดเหลือต้องการที่จะสร้างผลตอบแทนการลงทุนก็เพียงแค่นำไปแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่รองรับธุรกรรม Lending จากนั้นนำไปฝากไว้บนแพลตฟอร์มที่ให้บริการ 

ผู้ที่ต้องการกู้เงินจะต้องฝากสินทรัพย์ดิจิทัลของตัวเองไว้บนแพลตฟอร์มเช่นกันเพื่อเป็นการค้ำประกันในการขอกู้ เมื่อใดที่ไม่มีการชำระคืน สมาร์ทคอนแทรคท์ที่ได้ตั้งไว้จะทำการยึดสินทรัพย์ดิจิทัลที่มาค้ำประกันเอาไว้

จะว่าไปแล้วนี่คือโรงรับจำนำในยุคดิจิทัลนั่นเอง

การปล่อยกู้รูปแบบดังกล่าวเข้ามาแก้ไข Pain Point ของการปล่อยกู้ในปัจจุบันที่กลุ่มผู้เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unbank) ที่ยังมีอยู่นับพันล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในโลกที่สาม หรือแม้แต่ผู้ที่มีบัญชีธนาคารบางครั้งยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้

นอกจากการกู้ยืมแล้วธุรกรรมบน Defi ยังมี DEX (Decentralize Exchange) หรือ Exchange ที่เป็นตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีการกักเก็บทรัพย์สินของลูกค้าเอาไว้ รวมไปถึงธุรกรรมอย่าง จัดการกองทุน,ระบบชำระเงิน,ตราสารอนุพันธ์ หรือแม้แต่ Lottery !! เรียกได้ว่ามีทุกอย่างที่สถาบันการเงินมีเพียงแค่ทำงานอย่างไม่มีคนกลางเท่านั้น

ณ เวลาปัจจุบันคือกลางเดือนกรกฎาคม 2563 ข้อมูลจาก Defi Pluse เวบไซต์ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ Defi ระบุว่า มูลค่าสินทรัพย์ของอุตสาหกรรม Decentralize Finance ทั่วโลกอยู่ที่ระดับ 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 64,000 ล้านบาท อาจจะเห็นว่าไม่สูงมาก แต่เมื่อต้นปี 2563 ยังมีมูลค่าเพียง 700 ล้านดอลลาร์ เท่ากับว่าเติบโตขึ้นกว่าสองเท่าในช่วงเวลาไม่กี่เดือนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม Defi ยังมีข้อบกพร่องไม่น้อย ตั้งแต่ความปลอดภัยในการใช้งาน ตลอดจนอัตราผลตอบแทนและดอกเบี้ยที่ยังไม่นิ่ง เนื่องจากยังเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก 

แต่ด้วยคอนเซบท์ที่ไร้คนกลางรวมถึงการเชื่อมต่อถึงกันทั่วโลกที่สามารถแก้ไข Pain Point ของระบบการเงินได้ในบางส่วน น่าจะเป็นปัจจัยผลักดันให้ Defi สามารถเติบโตได้ในช่วงเวลาหลังจากนี้ แต่จะโตไปได้ถึงระดับไหนต้องติดตามกันต่อไป

Decentralize Finance

Decentralize Finance มีธุรกรรมการเงินอะไรบ้าง

ในโลกของการเงินแบบดั้งเดิมจะมีธุรกรรมหรือสินค้าทางการเงินอยู่มากมายตามที่เราคุ้นเคยกัน ในโลกของ Decentralize Finance ก็จะมีผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกัน เพียงแต่อาจจะมีความต่างกันในคอนเซบท์เล็กน้อย ไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง

Stablecoin

สินทรัพย์ดิจิทัล มีคาแรกเตอร์คือราคาที่เหวี่ยงตัวแรง เพื่อที่จะลดความผันผวนของราคา ทำให้เกิดแนวคิดของการสร้าง Stablecoin หรือเหรียญที่มีมูลค่าคงที่ซึ่งมีสินทรัพย์อื่นมารองรับ โดยมักจะอ้างอิงกับสกุลเงินดอลลาร์ เช่น USDT หรือ Tether ซึ่งเป็น Stablecoin ที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุด ขณะที่เหรียญ Dai ถือเป็น Stablecoin ที่ได้รับความนิยมในการทำธุรกรรม Defi มากที่สุด 

Stablecoin จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรม Defi เช่นใช้เป็นหลักค้ำประกันในการกู้ยืม เนื่องจากคุณสมบัติที่มีมูลค่าคงที่ทำให้การทำธุรกรรมมีความสะดวกไม่ต้องกังวลกับราคาที่ผันผวน

Lending

ถือเป็นธุรกรรมที่ถูกมองว่าจะมา Disrupt การเงินแบบดั้งเดิมมากที่สุด เพราะรายได้หลักของธนาคารหรือสถาบันการเงินก็คือการปล่อยกู้นั่นเอง อย่างไรก็ตามการที่มีคนกลางเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะปล่อยเงินกู้ให้หรือไม่ ทำให้ผู้คนจำนวนมากที่ไม่มีเครดิตพลาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

Defi เข้ามาแก้ไข Pain Point ดังกล่าวโดยเปิดทางให้ผู้กู้และผู้ขอกู้ได้มีโอกาสที่จะปล่อยกู้กันเองในรูปแบบ Peer To Peer โดยไม่มีคนกลางอย่างธนาคารมาตัดสินใจแทน โดยผู้กู้ต้องนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาวางค้ำประกันไว้เผื่อในกรณีที่ผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่ผู้ให้กู้จะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย

Decentralize Exchange

ปัจจุบันการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจะมี Exchange ทำหน้าที่เป็นเหมือนตลาดหลักทรัพย์แต่นั่นยังถูกบริหารจัดการโดยคนกลางหรือผู้ที่จะทำการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องฝากสินทรัพย์ของตัวเองไว้กับ Exchange หรือหากต้องการจะลิสต์เหรียญหรือโทเคนก็ต้องผ่านการพิจารณาจาก Exchange

ทำให้เกิดแนวคิดของการสร้าง Decentralize Exchange นั่นคือการเป็นตลาดเสรีที่ผู้ที่จะซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่จำเป็นต้องฝากสินทรัพย์ไว้กับ Exchange กล่าวคือเป็นตลาดซื้อขายที่ผู้พัฒนาไม่ได้เข้าไปบริหารจัดการ เพียงแค่สร้างตลาดให้และเปิดให้ผู้คนเข้ามาซื้อขายกันเองอย่างอิสระ

Derivative

ตราสารอนุพันธ์ ถือเป็นโปรดักต์การลงทุนที่พัฒนาขึ้นมาจากตลาดซื้อขายประเภท Spot โดยเปิดทางให้มีการ Leverage ช่วยสร้างผลตอบแทนให้สูงขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก

ในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลได้มีการสร้างตราสารอนุพันธ์ขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Futures,Perpetual Swap และ Options ซึ่งนำมาใช้กับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีสภาพคล่องซื้อขายสูงอย่างบิทคอยน์

Asset Management

ธุรกิจจัดการกองทุนก็คือการที่มีผู้ชำนาญด้านการลงทุนหรือผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่ลงทุนแทนนักลงทุนตามนโยบายที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม,กองทุนส่วนบุคคล หรือเฮดจ์ฟันด์

ในส่วนของ Defi ก็ได้มีการพัฒนาโปรดักต์การลงทุนรูปแบบของกองทุนขึ้นมาเช่นกัน เพียงแค่เปลี่ยนจากสินทรัพย์ที่เราคุ้นเคยกันอย่างเช่น หุ้น ทองคำ มาเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล

Lottery

สลากกินแบ่งที่บริหารโดยธนาคารของรัฐ (คนละรูปแบบกับสลากกินแบ่งรัฐบาล) หรือสลากออมทรัพย์ ที่ผ่านมาอาจมีความสงสัยในเรื่องของความโปร่งใสในการออกสลาก แต่หากทุกอย่างทำผ่านบล็อกเชน จะสามารถตรวจสอบการทำธุรกรรมต่างๆได้ทั้งหมด ซึ่ง Defi มีโปรดักต์ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับสลากออมทรัพย์ด้วยเช่นกัน

Payment

ระบบการชำระเงินถือเป็นเส้นเลือดสำคัญของการทำธุรกรรมทางการเงิน ที่ผ่านมาจะมีธนาคารทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ทำธุรกรรมสองฝั่ง ซึ่งทำให้เกิดค่าธรรมเนียมที่สูง โดยเฉพาะการโอนเงินระหว่างประเทศ

Defi จึงได้สร้างระบบการชำระเงินแบบใหม่ที่ลดบทบาทของตัวกลางลงให้ผู้ที่ทำธุรกรรมได้ตรวจสอบกันเอง แพลตฟอร์มจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเท่านั้นจะไม่เข้าไปยุ่งกับธุรกรรมการโอนเงินที่เกิดขึ้น

Insurance

ประกันภัย ถือเป็นโปรดักต์ทางการเงินที่เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยง โดยการจ่ายค่าประกันเพื่อที่จะได้รับความคุ้มครองหากเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้นซึ่งอาจนำมาสู่ความเสียหาย เช่น บาดเจ็บจนต้องเข้าโรงพยาบาล เกิดอัคคีภัย ฯลฯ 

ในธุรกรรม Defi แม้จะดำเนินการโดยใช้ Smart Contract ทั้งหมด แต่ก็มีโอกาสจะเกิดสิ่งที่คาดไม่ถึงเช่นถูก Hack ได้เช่นกัน ทำให้เกิดบริการซื้อประกันความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้น เพื่อเวลาที่เกิดการสูญหายก็จะได้รับเงินประกันชดเชย

เห็นได้ว่า Decentralize Finance มีผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกับการเงินในรูปแบบดั้งเดิมเกือบทั้งหมด เพียงแค่มีคอนเซบท์ของการลดบทบาทของตัวกลางอย่างสถาบันการเงินลงให้ผู้ทำธุรกรรมได้ตกลงกันเอง

Decentralize Finance

Defi สร้างผลตอบแทนและแก้ปัญหาทางการเงินได้อย่างไร

ในโลกของ Defi เราสามารถเป็นได้ทั้งผู้ลงทุนและผู้ใช้บริการ กล่าวคือสามารถสร้างรายได้ให้กับเราในรูปแบบทั้ง Passive และ Active Income ขณะเดียวกันเรายังสามารถใช้บริการทางการเงินบน Defi ที่สามารถแก้ Pain Point เดิมๆที่มีอยู่ได้เช่นกัน

ดอกเบี้ยจากการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปวางค้ำประกันเพื่อปล่อยกู้ให้คนอื่น

ในโลกการเงินแบบดั้งเดิมหรือธนาคารที่เราคุ้นเคยกันจะต้องอาศัยเงินฝากของผู้ฝากเงินซึ่งเก็บไว้ในทุนสำรองของธนาคารนำไปใช้ในการปล่อยกู้ต่อทั้งในระดับบุคคลหรือภาคธุรกิจ แต่ในโลกของ Defi ได้นำเอาตัวกลางหรือธนาคารออกไป ผู้ที่อยู่ภายในแพลตฟอร์มจึงสามารถกู้ยืมกันได้เอง 

ในฝั่งของผู้ให้กู้ยืมจึงสามารถสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นได้ในรูปแบบ Passive Income คือการสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอยู่นำไปวางไว้บนแพลตฟอร์ม Defi เพื่อเป็นแหล่งทุนที่ผู้ให้บริการสามารถนำไปปล่อยกู้ให้กับผู้ที่มาขอกู้ได้

ทั้งนี้การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาวางไว้บน Defi ต่างจากการฝากเงินคือเราเป็นผู้ควบคุมดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของเราเอง ต่างจากการฝากเงินไว้ในธนาคารซึ่งแม้ว่าธนาคารจะบอกว่าจะทำหน้าที่ดูแลรักษาเงินของเราแต่ก็สามารถนำเงินของเราไปใช้ทำอย่างอื่นได้เช่นกัน

Capital Gain จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

นอกจากรายได้แบบ Passive Income ยังสามารถสร้างรายได้แบบ Active Income ได้เช่นกันจาการซื้อขายโปรดักต์ที่เกิดจาก Defi เช่น ตราสารอนุพันธ์ รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ๆที่ใครก็ได้สามารถนำขึ้นไปให้ซื้อขายบน Decentralize Exchange โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการคัดกรองโดยตัวกลาง

ส่วนของผู้ใช้บริการทางการเงินจะได้รับผลประโยชน์จาก Defi ดังต่อไปนี้

ตัดปัญหาเรื่องคนกลางที่ควบคุมดูแลธุรกรรมทางการเงินออกไป

แม้ในโลกของการเงินตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันที่มีธนาคารเป็นผู้ให้บริการทางการเงิน ทำให้เกิดความสะดวกและความมั่นใจในการฝากเงินของเราไว้กับผู้ดูแล แต่การที่มีธนาคารเป็นผู้ควบคุมดูแล ทำให้เกิดช่องว่างของการเข้าถึงบริการทางการเงินเนื่องจากไม่ผ่านกฎเกณฑ์ของธนาคาร เช่น รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ฯลฯ

การเกิดขึ้นของ Defi จึงได้ตัดปัญหาดังกล่าวนี้ออกไปเพราะสามารถทำธุรกรรมการเงินได้โดยไม่ต้องมีคนกลางมาพิจารณาอีกต่อไป ที่ชัดเจนที่สุดคือการปล่อยกู้ ที่ธนาคารจะมีหลักเกณฑ์ต่างๆซึ่งผู้ที่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ก็จะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 

แต่ Defi เปิดโอกาสให้ใครก็ได้ที่อยู่ในแพลตฟอร์มสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพียงแค่นำสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอยู่มาวางค้ำประกัน (เพื่อกรณีที่ผิดนัดชำระหนี้ Smart Contract จะยึดหลักประกันได้ทันที) โดยไม่จำเป็นต้องมีบัญชีธนาคารขอเพียงแค่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เนตได้ก็พอ

รวมถึงแก้ไข Pain Point เรื่องของค่าธรรมเนียมต่างๆและอัตราดอกเบี้ยที่สูงเนื่องจากมีตัวกลางเข้ามาบริหารจัดการทำให้ต้องคิดค่าธรรมเนียมกับลูกค้า ซึ่ง Defi จะช่วยให้ต้นทุนตรงนี้ลดลง

ไม่ว่าจะเป็นฝั่งผู้ลงทุนหรือผู้ใช้บริการต่างได้รับประโยชน์จากโลกการเงินที่ไร้ตัวกลางนี้อย่างชัดเจน แม้ Defi จะยังไม่สามารถแทนที่การเงินรูปแบบดั้งเดิมได้ทั้งหมดแต่ถือเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับบริการการเงินในยุคดิจิทัลนี้

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ทำความรู้จักสกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติ (CBDC)

Related Posts