RMF for PVD

เมื่อต้องออกจากกองทุน PVD จะรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างไร?

โดย SM1984

RMF for PVD หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อรองรับการย้ายออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่นายจ้างบริษัทเอกชนเป็นผู้มอบให้กับลูกจ้าง ถ้าหากยังต้องการเก็บเงินไว้ลงทุนต่อก็สามารถโยกย้ายมาได้เพื่อที่จะลงทุนระยะยาวรองรับการเกษียน ป้องกันปัญหาทางการเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในช่วงนี้เพื่อนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund: PVD) บางท่านอาจกำลังประสบปัญหาจาก “วิกฤตโควิด” ซึ่งส่งผลให้ต้องออกจากงาน ลาออกจาก PVD หรือนายจ้างยกเลิก PVD ซึ่งหากท่านอายุยังไม่ถึง 55 ปี และลงทุนมาไม่ถึง 5 ปี ก็จะเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีไปบางส่วนตามเงื่อนไข

แต่สำหรับท่านที่ยังไม่รีบใช้เงินก้อนนี้และยังต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ ก็สามารถคงเงินไว้ในกองเดิม (กรณีไม่ได้เลิกกอง) เพื่อรอโอนย้ายไป PVD ของนายจ้างใหม่ หรือสามารถย้ายเงินจาก PVD ไปยังกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับเงินโอนจาก PVD โดยเฉพาะ หรือที่เรียกว่า “RMF for PVD” 

กองทุนRMF for PVD เป็นตัวช่วยในการรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีและมีเงื่อนไขการลงทุนเหมือนกับการลงทุน PVD คือต้องลงทุนไว้อย่างน้อย 5 ปี โดยนับต่อเนื่องจากการเป็นสมาชิก PVD ที่โอนไป และถอนการลงทุนเมื่ออายุ 55 ขึ้นไป ซึ่งเมื่อย้ายไปRMF for PVD แล้วจะไม่สามารถย้ายกลับมา PVD ได้อีก แต่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายและกองทุน รวมถึงย้ายกองทุนไปยังบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แห่งอื่นได้ด้วย

เมื่อเพื่อนสมาชิกได้ทราบข้อดีและสิทธิประโยชน์ของการโอนย้ายเงินจาก PVD ไปยัง RMF แล้ว อาจเริ่มสนใจว่า การลงทุนในRMF for PVD มีทางเลือกอย่างไรบ้าง จะเลือกลงทุนอย่างไร และมีข้อควรรู้อื่น ๆ อีกหรือไม่

o  กองทุน RMF for PVD มีนโยบายอะไรให้เลือกลงทุนบ้าง?

ปัจจุบันมีกองทุนRMF for PVD ให้เพื่อนสมาชิกสามารถเลือกลงทุนได้ทั้งหมด 54 กองทุน จาก บลจ. จำนวน 10 แห่ง โดยมีนโยบายลงทุนในตราสารทุน (หุ้น) 28 กองทุน ในตราสารหนี้ 10 กองทุน แบบผสม[1] 13 กองทุน และลงในทรัพย์สินทางเลือก เช่น ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ 3 กองทุน

เพื่อนสมาชิกสามารถเลือกกองทุนที่มีนโยบายสอดรับกับแผนการลงทุนของตนเอง โดยพิจารณาเลือกให้เหมาะสมกับช่วงอายุและความสามารถในการรับความเสี่ยง เช่น ท่านที่มีอายุ 30 ปี สามารถลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงและมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงได้ เช่น กองทุนตราสารทุน และกองทุนแบบผสม เป็นต้น ขณะที่ท่านที่อายุใกล้วัยเกษียณและไม่ต้องการรับความเสี่ยงสูง อาจพิจารณาลงทุนในกองทุนที่มีพอร์ตความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนตราสารหนี้ เป็นต้น

  นอกจากนี้ เมื่อโอนเงินมายังRMF for PVD แล้ว ก็ไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องเหมือน RMF ปกติ เพราะกองทุนRMF for PVD เปิดรับเฉพาะเงินโอนย้ายจาก PVD เท่านั้น แต่ยังสามารถบริหารสัดส่วนการลงทุน (Asset Allocation) ของเงินดังกล่าวได้ เพื่อให้ตอบโจทย์การลงทุนได้มากขึ้น

โดยการย้ายหรือสับเปลี่ยนไปยังกองRMF for PVD กองอื่น เช่น กรณีนายจ้างยกเลิก PVD ในขณะที่มีอายุ 35 ปี ซึ่งยังสามารถยอมรับความเสี่ยงได้สูงจึงโอนเงิน PVD ทั้งก้อนมายังRMF for PVD ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุน แต่ต่อมามีความกังวลต่อทิศทางตลาดหุ้นในอนาคตจึงแบ่งเงินบางส่วนไปลงทุนในตราสารหนี้ด้วย

โดยขอสับเปลี่ยนไปยังกองทุนRMF for PVD ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ได้ ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไข และค่าธรรมเนียมในการสับเปลี่ยนจากตัวแทนขาย

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : “ประกันสุขภาพ” ช่วยลดภาระค่ารักษาพยาบาลแถมลดหย่อนภาษี

o  พิจารณาเลือกกองทุนอย่างไรดี?

แม้ว่าผลการดำเนินงานของกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนของไทยในช่วงนี้จะติดลบเมื่อเทียบย้อนหลัง 6 เดือน หรือ 1 ปี เนื่องจากจากวิกฤตโรคระบาด แต่ก็ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุนระยะยาวเพื่อบรรลุเป้าหมายการออมเพื่อใช้ในยามเกษียณอายุ แต่ก็อาจจะสงสัยว่า ควรเลือกกองทุนอย่างไรหากกองทุนที่จะเลือกมีผลการดำเนินงานย้อนหลังติดลบเหมือนกันหมด

ดังนั้น เพื่อนสมาชิกควรเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนกับดัชนีชี้วัด (benchmark) ของกองทุนประเภทนั้น ๆ เพื่อดูว่ากองทุนนั้นมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่า benchmark หรือไม่

โดยหาข้อมูลเหล่านี้ได้จากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (fund fact sheet) เช่น กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนที่ท่านสนใจ มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี -15 % แต่เมื่อเทียบกับ SET TRI[2] ซึ่งเป็น benchmark ที่กำหนดไว้ใน fund fact sheet มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี -19% แสดงว่ากองทุนนั้นมีผลการดำเนินงานดีกว่าดัชนีชี้วัด เพราะมีผลขาดทุนน้อยกว่า 

นอกจากนี้ควรพิจารณาผลตอบแทนย้อนหลังในระยะยาว เช่น 3 ปี หรือ 5 ปี โดยเปรียบเทียบกับ benchmark ประกอบการตัดสินใจ เพราะอย่าลืมว่าการลงทุนในสินทรัพย์ที่เติบโตสูง ผลตอบแทนสูง จะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสูงเช่นกัน

  สำหรับผู้ที่สนใจจะโอนย้ายเงินจาก PVD ไปยังRMF for PVD สามารถศึกษาและสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้จาก บลจ. 10 แห่ง ที่เสนอผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน ได้แก่ บลจ.กรุงไทย บลจ.กรุงศรี บลจ.กสิกรไทย บลจ.ทหารไทย บลจ.ทิสโก้ บลจ.ธนชาต บลจ.พรินซิเพิล บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และ บลจ.เอ็มเอฟซี

ทั้งนี้ หากต้องการรายละเอียดบริการเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของแต่ละ บลจ. ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. ได้รวบรวมข้อมูลติดต่อไว้ตามลิ้งก์นี้ https://www.sec.or.th/th/pages/investors/assetmanagementcompanies-info.aspx

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตัวเองอย่างไร หากบริษัทไปต่อไม่ไหว?

หมายเหตุ 

[1] กองทุนรวมผสม (Balanced Fund) คือ กองทุนรวมที่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินได้หลายประเภท ทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือตราสารอื่น ๆ แต่จะต้องลงทุนในตราสารทุนในขณะใดขณะหนึ่ง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 และไม่เกินกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมนั้น

[2] SET TRI (Total Return Index) หรือดัชนีผลตอบแทนรวม คือ ดัชนีที่คำนวณผลตอบแทนทุกประเภทของการลงทุนในหุ้นให้สะท้อนออกมาในรูปของค่าดัชนี ซึ่งมีทั้งผลตอบแทนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น (Capital Gain / Loss) สิทธิในการจองซื้อหุ้น (Rights) และเงินปันผล (Dividends)

Related Posts