ราคาน้ำมัน WTI ในมุมมองของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ คาดในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้าอาจร่วงต่ำกว่า 35 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอีกครั้ง รับ 2 ปัจจัยลบ คือ ผู้ผลิต Shale oil มีกำไรพร้อมกลับมาผลิตเพิ่มขึ้น และสมาชิก OPEC ไม่ลดกำลังการผลิตตามข้อตกลง
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า คาดว่าในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้ามีโอกาสที่ราคาน้ำมัน West Texas Intermediate (WTI) จะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 35 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอีกครั้ง เพราะได้รับปัจจัยลบสองปัจจัย คือ 1. ผู้ผลิต Shale oil กลับมามีกำไรจากการผลิตน้ำมันดิบ และเพิ่มปริมาณการผลิตมากขึ้น ทำให้น้ำมันดิบโลกเกิดภาวะอุปทานล้นตลาดอีกครั้ง และ 2. สมาชิกกลุ่ม OPEC ที่มีสถานะทางการเงินอ่อนแอบางประเทศมีโอกาสไม่ทำตามข้อตกลงลดปริมาณการผลิตในขั้นแรกที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรล
โดยปัจจุบันผู้ผลิต Shale oil มีต้นทุนที่ไม่รวมค่าขุดเจาะ (Operating cost) อยู่ที่ประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และในสัปดาห์ที่ผ่านมาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น 5 แสนบาร์เรลต่อวัน จาก 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็น 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 เดือน หากยังคงปริมาณการผลิตในระดับดังกล่าวไปตลอดทั้งปี จะทำให้การผลิตเฉลี่ยทั้งปี 2563 ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 11.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ใกล้เคียงกับคาดการณ์ล่าสุดของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ แต่หากปริมาณการผลิตยังเพิ่มขึ้นต่อจากนี้ก็อาจทำให้กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ต้องปรับเพิ่มคาดการณ์ปริมาณการผลิต ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันต่อไป
“การผลิตน้ำมันจากสหรัฐฯ ที่กลับมาเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบโลกเผชิญภาวะอุปทานล้นตลาดอีกครั้ง ในขณะที่สต็อกน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก 1.4 ล้านบาร์เรล เป็น 540 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ชี้ให้เห็นถึงปริมาณน้ำมันดิบส่วนเกินที่ยังเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก”นายคมศรกล่าว
นอกจากนี้ ราคาน้ำมัน WTI ที่ปรับเพิ่มขึ้นยังทำให้บางประเทศในกลุ่มสมาชิกของ OPEC ที่ยังคงมีสถานะทางการเงินอ่อนแอจากการพึ่งพิงรายได้ทางเดียวจากน้ำมัน เริ่มไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงลดปริมาณการผลิตในขั้นแรกที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรล ส่งผลให้ข้อตกลงร่วมกันลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบขั้นแรกของทั้งกลุ่ม OPEC มากกว่าเป้าหมายถึง 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน
นำโดยอิรักซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันลำดับที่ 2 ของกลุ่มมีปริมาณการผลิตเกินกว่าโควต้าที่ตกลงไว้กว่า 6 แสนบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ซาอุฯ แกนนำของกลุ่ม OPEC ซึ่งคงการผลิตน้ำมันดิบต่ำกว่าระดับโควต้ามาโดยตลอด ยังคงผลิตเกินกว่าโควต้าล่าสุดถึง 2 แสนบาร์เรลต่อวัน อีกทั้ง ประเทศลิเบียก็ได้ประกาศจะกลับมาผลิตน้ำมันเพิ่มในเบื้องต้นที่ 3 หมื่นบาร์เรลต่อวัน และจะผลิตเพิ่มขึ้นจนเต็มกำลังที่ 3-4 แสนบาร์เรลต่อวันภายใน 90 วัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยลบต่อราคาน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลัง
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : บลจ.ทิสโก้ เปิดกอง ‘ทิสโก้ Cloud Computing อิควิตี้’ ลงทุน ‘Cloud’ เบื้องหลังความสำเร็จของเทคโนโลยีแห่งอนาคต