นับตั้งแต่ประเทศไทยต้องพบกับ วิกฤติเศรษฐกิจ ต้มยำกุ้งในปี 2540 เวลาผ่านไป 22 ปี ไทยต้องเผชิญกับวิกฤติครั้งใหญ่อีกครั้งกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ชนิดที่วิกฤติปี 2550 ดูธรรมดาไปเลย
เวลาที่ผ่านไป เทคโนโลยี โครงสร้างและสถานะทางการเงินของไทยก็เปลี่ยนไปอย่างมาก เรามาดูกันว่าวิกฤติเศรษฐกิจสองครั้งที่เกิดขึ้นมีความต่างกันอย่างไร
ต้มยำกุ้งทำเศรษฐีเจ็บหนักแต่รอบนี้เป็นชนชั้นกลางเจ็บมากกว่า
วิกฤติปี 2540 ชนชั้นที่ได้รับผลกระทบหนักคือกลุ่มคนรวยหรือเจ้าของบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ที่ส่วนใหญ่กู้เงินต่างประเทศมาลงทุนจนต้องแบกรับหนี้สินมหาศาล บางธุรกิจต้องเร่ขายหุ้นให้ต่างชาติเช่นกลุ่มธนาคารจนมีคำกล่าวว่า “เจ้าสัวเยสเตอร์เดย์”
แต่หลังจาก วิกฤติเศรษฐกิจ จบลง เศรษฐีเหล่านั้นก็ฟื้นตัวจากเถ้าถ่านได้และสถานะการเงินของบริษัทจดทะเบียนไทยแข็งแกร่งขึ้น ทำให้วิกฤติในรอบนี้ หากไม่นับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบตรงๆ ยังถือว่าไม่เจ็บตัวมาก เป็นที่มาของจดหมายจากนายกรัฐมนตรีที่เชิญให้เข้ามาร่วมแก้ไขวิกฤตินี้
ทว่าชนชั้นกลางและชนชั้นล่างในวิกฤติโควิด-19 ดูจะเจ็บตัวหนักกว่าครั้งวิกฤติต้มยำกุ้งมาก เมื่อ 22 ปีที่แล้วยังไม่ได้ต้องการเงินช่วยเหลือฉุกเฉินมากเท่ากับรอบนี้ อาจเป็นเพราะหนี้สินภาคครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นตลอดสิบปีที่ผ่านมา ทำให้เมื่อขาดรายได้กระทันหันจึงเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก
ธุรกิจที่เจ็บหนักคืออสังหาริมทรัพย์สถาบันการเงินรอบนี้คือโรงแรมและการท่องเที่ยว
วิกฤติต้มยำกุ้งได้ทำให้ “มนุษย์ทองคำ” ช่วงก่อนหน้านั้นคือนักการเงิน โบรกเกอร์หุ้น นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งร่ำรวยจากการปั่นฟองสบู่ในตลาดหุ้นและที่ดิน ต้องตกงานเป็นจำนวนมากจากการถูกปิดกิจการ โดยเฉพาะเหตุการณ์ปิด 56 ไฟแนนซ์
ส่วนวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงไปยังคนทำงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการซึ่งกลายเป็นรายได้หลักของประเทศเกือบหนึ่งในสี่ของจีดีพี เช่น สายการบิน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร
ต้มยำกุ้งเปิดท้ายขายของหันมาทำธุรกิจส่วนตัวรอบนี้เปลี่ยนเป็นฝากร้านออนไลน์
หลังจากที่มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายต้องตกงาน สิ่งที่เกิดขึ้นคือตลาดเปิดท้ายขายของที่นำของใช้ส่วนตัวอย่างเสื้อผ้า ของใช้แฟชั่น ที่ไม่จำเป็นนำมาวางขายมือสอง ที่มีชื่อเสียงคือตลาดนัดคนเคยรวยของวสันต์ เบนซ์ทองหล่อ รวมถึงคนตกงานหลายคนหันมาทำธุรกิจเอสเอ็มอีจนสามารถแจ้งเกิดได้หลายแบรนด์
แต่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ได้เกิดมาร์เกตเพลซออนไลน์ขึ้นไม่ว่าจะเป็นกลุ่มฝากร้านของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย หน่วยงานต่างๆ ไปจนถึงหลายคนหันมาขายของออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ถือเป็นวิวัฒนาการของการขายของที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี
22 ปีที่แล้วภาคการเกษตรยังเป็นที่พึ่งแต่รอบนี้ไม่ใช่
สาเหตุที่ทำให้วิกฤติโควิด-19 มีผู้ที่ฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมากเพราะผู้ที่ขาดรายได้ไม่มีทางอื่นในการที่จะทำมาหากิน เนื่องจากภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งรวมถึงภาระหนี้สินเกษตรกรที่เพิ่มสูงขึ้น
ตรงข้ามกับสมัยปี 2540 คนที่ตกงานบางส่วนยังพอที่จะกลับไปทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพได้ ทำให้ทางเลือกของชนชั้นล่างในตอนนี้แทบไม่มีเหลือ
ต้มยำกุ้งสถานะการเงินไทยอ่อนแอรอบนี้สถานะการเงินดีกว่าเดิม
22 ปีที่แล้ว สถานะทางการเงินของประเทศไทยจัดได้ว่าย่ำแย่จากการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว ทุนสำรองระหว่างประเทศที่แทบไม่เหลือจนต้องกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ
แต่เวลานี้ สถานะการเงินของประเทศไทยแข็งแกร่งขึ้นพอที่จะรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจได้ด้วยทุนสำรองระหว่างประเทศที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ระดับ 41% ของจีดีพีเท่านั้น ทำให้รัฐบาลพอมีกำลังที่จะเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจได้
ต้มยำกุ้งทำเงินบาทอ่อนค่าแต่รอบนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น
ประเทศไทยถือเป็นต้นทางของการเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 และลามไปยังประเทศอื่นในเอเชีย ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงกว่า 50% จากระดับ 25 บาทต่อดอลลาร์ลงไปต่ำสุดที่ 50 บาทต่อดอลลาร์ แต่รอบนี้ค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วอ่อนค่าลงเล็กน้อยเท่านั้น
เห็นได้ว่า วิกฤติเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นสองรอบทั้งต้มยำกุ้งและโควิด-19 มีความแตกต่างกันอยู่ในบางมิติ แต่ขึ้นชื่อว่าวิกฤติแล้วไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้เกิดทั้งนั้น และไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดเมื่อไร
ทางที่ดีที่สุดคือทำตัวเองให้มีความเข้มแข็งทางการเงิน อย่าสร้างหนี้ให้ตัวเองมากเกินไป รู้จักปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง เพียงเท่านี้ก็สามารถรับมือกับวิกฤติได้ทุกครั้ง
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ทำไม COVID19 ถึงทำให้เศรษฐกิจไทยวิกฤตหนักกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา