หุ้นสายการบิน ถือเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักอันดับต้นๆจากวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากการคมนาคมทางอากาศทั่วโลกต้องหยุดชะงัก และหลังจากวิกฤติจบลงก็อาจจะยังไม่ฟื้นตัวในระดับเดิมอีกต่อไป
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่า รายได้ของสายการบินทั่วโลกจะลดลง 3.14 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ หรือทรุดตัวลงราว 55% เมื่อเทียบเป็นรายปี
IATA คาดว่ารายได้ของสายการบินในเอเชียแปซิฟิกจะทรุดตัวลงหนักสุด และคาดว่าความต้องการเดินทางของผู้โดยสารจะลดลงราว 50% ในปีนี้ เมื่อเทียบกับปี 2562
โดยการคาดการณ์ดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ว่า สายการบินได้รับผลกระทบจากมาตรการห้ามเดินทางเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
ขณะที่ นายเดฟ คาลฮูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทโบอิ้ง กล่าวว่า ความต้องการในการเดินทางทางอากาศอาจต้องใช้เวลา 2-3 ปีกว่าที่จะฟื้นตัวขึ้น
ล่าสุดวอเรน บัฟเฟ็ต นักลงทุนระดับโลกได้ตัดสินใจขายหุ้นที่เบิร์กไชร์ ฮาธะเวย์ ถือใน หุ้นสายการบิน จำนวน 4 บริษัทออกไปทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าธุรกิจดังกล่าวจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
แล้วสายการบินยังเป็นหุ้นที่ยังน่าลงทุนหลังจากนี้หรือไม่..เรามาวิเคราะห์กัน
ก่อนอื่นอยากให้ลองฟังบทสัมภาษณ์ของ ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ซีอีโอของสายการบินไทยแอร์เอเชียกับสำนักข่าว The Standard ถือว่าให้มุมคิดเกี่ยวกับธุรกิจการบินในอดีตและอนาคตเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ผู้เขียนตั้งสมมุติฐานในอนาคตว่ามนุษย์จะสามารถจัดการกับไวรัสโควิด-19 ได้อย่างเด็ดขาดจึงไม่ได้นำมาตราการระยะสั้นที่สายการบินต่างๆใช้บริหารจัดการในปัจจุบันอย่างเช่นเว้นระยะห่างของที่นั่ง การคุมเข้มที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ มาวิเคราะห์ด้วย บทความนี้จึงเน้นวิเคราะห์ไปที่ New Normal ที่จะเกิดในระยะยาวเป็นหลัก
หลังวิกฤติโควิด-19 จบลงคาดว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจการบินทั่วโลกดังนี้
มาตราการ Lockdown และ Work From Home ที่เกิดขึ้นอาจเปลี่ยนพฤติกรรมทำให้ผู้คนเดินทางน้อยลง
ในช่วงที่หลายประเทศใช้นโยบายปิดเมือง ภาคธุรกิจหันมาปรับรูปแบบการทำงานอยู่ที่บ้านหรือ WFH น่าจะมีผลทำให้การเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจมีความจำเป็นน้อยลงในอนาคตหลังจากนี้ เพราะสามารถพูดคุยกันทางไกลได้ การเดินทางเพื่อพบกันอาจเกิดขึ้นในกรณีจำเป็นเท่านั้น ทำให้การเดินทางโดยเครื่องบินโดยภาคธุรกิจมีแนวโน้มลดลง
เช่นเดียวกับการจัดอีเว้นท์หรืองานสัมนาที่อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้อยู่ในรูปแบบ Virtual มากขึ้น ทำให้ธุรกิจ MICE ต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบใหม่ซึ่งทำให้การเดินทางโดยเครื่องบินลดลงไปอีก
กำลังซื้อของคนทั้งโลกลดลงอย่างมากการท่องเที่ยวอาจถูกมองเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย
การเกิดขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะชนชั้นกลางมีโอกาสที่จะท่องเที่ยวโดยเฉพาะต่างประเทศได้มากขึ้น แต่หลังวิกฤติโควิด-19 จบลง ชนชั้นกลางทั่วโลกน่าจะมีความมั่งคั่งที่ลดลงอย่างมาก ทำให้การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวกลายเป็นสิ่งที่ต้องคิดเยอะขึ้น
อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะตามมาหลังวิกฤติโควิด-19 มีบางส่วนที่จะส่งผลบวกต่อ หุ้นสายการบิน ด้วยเช่นกัน
ราคาน้ำมันที่ถูกลง
ผลจากสงครามราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นระหว่างชาติมหาอำนาจและความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ แม้หลังวิกฤติจบลงความต้องการใช้พลังงานจะฟื้นกลับมา แต่โอกาสที่จะได้เห็นราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงอีกครั้งแทบจะเป็นไปได้น้อยมาก ประกอบกับพลังงานทดแทนที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
การที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำจะส่งผลต่อต้นทุนของสายการบินที่ลดลง โดยเฉพาะเครื่องบินรุ่นเก่าที่ไม่ได้สร้างมาเพื่อประหยัดพลังงาน
สงครามราคาจะหมดไป
อุตสาหกรรมการบินของโลกรวมถึงประเทศไทยช่วงที่ผ่านมาเกิดการแข่งขันที่รุนแรงไม่ว่าจะเป็นสายการบินแบบพรีเมี่ยมหรือโลว์คอสต์ โดยสายการบินจากชาติอาหรับเคยเป็นตัวแปรสำคัญที่กดราคาตั่วโดยสารให้ถูกลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำก็แห่กันแข่งขันด้านราคาทำให้กำไรของสายการบินลดลงไปอย่างมาก เชื่อว่าหลังจบวิกฤติ สายการบินจะหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาอัตรากำไรให้สูงขึ้น
สายการบินบางส่วนจะล้มหายไปผู้ที่อยู่รอดจะได้ส่วนแบ่งเพิ่ม
การเกิดวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้หลายสายการบินทั่วโลกต้องปิดกิจการลงไปทำให้ซัพพลายในตลาดหายไป ทำให้ผู้ที่ยังสามารถอยู่รอดได้จะมีโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดได้มากขึ้น
ปัญหาเรื่องคนอาจหายไป
ธุรกิจสายการบินถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนสำคัญคือ “พนักงาน” รวมถึงการต่อรองของสหภาพแรงงานที่เคยมีอำนาจสูง (แค่ขู่ว่าจะหยุดบินก็สามารถต่อรองได้) แต่หลังวิกฤติครั้งนี้จบลงอาจถือเป็นโอกาสที่จะปรับโครงสร้างทรัพยากรบุคคลครั้งใหญ่ของบรรดาสายการบินให้มีต้นทุนในส่วนนี้ลดลงให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจ
บทสรุป มุมมองส่วนตัวของผู้เขียนเชื่อว่าสามารถลงทุนระยะยาวใน หุ้นสายการบิน บางตัวที่สามารถอยู่รอดหลังวิกฤติครั้งนี้ได้ (เน้นว่าระยะยาว) เพราะถึงอย่างไรธุรกิจการบินก็ยังไม่หายไปจากโลกใบนี้และนี้ก็จะปรับตัวเข้าหา New Normal ในที่สุด
ในแง่การลงทุนทั้งราคาหุ้นและอัตราส่วนทางการเงินของหลายสายการบินถือว่าถูกมาก ถ้าไม่ปิดกิจการไปเสียก่อนและมองเป็นการลงทุนระยะยาวจริงๆ (อาจจะเกินห้าปีขึ้นไป) ก็น่าจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีได้
เราต้องมาติดตามกันต่อไปว่าผู้เล่นรายใดจะยังอยู่รอดและปรับแผนธุรกิจใหม่ให้รับกับอนาคตที่จะมาถึงได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : A New World โลกหลังวิกฤติ Covid-19 (ตอนที่ 1)
SCB EIC คาดธุรกิจการบินต้องปรับตัวครั้งใหญ่
ฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดเงิน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ระบุว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเดินทางอากาศทั่วโลกรวมถึงไทย ซึ่งทำให้สายการบินต้องจอดเครื่องบินไว้บนพื้นดินมากอย่างเท่าที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
เบื้องต้นประเมินว่า รายได้ธุรกิจการบินสัญชาติไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวราว -60%YOY มาอยู่ที่ราว 1.21 แสนล้านบาท ภายใต้สมมติฐานการฟื้นตัวในธุรกิจสายการบินอย่างค่อยเป็นค่อยไปแบบ U-Shape ในลักษณะเดียวกับการประมาณการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย
โดยการฟื้นตัวจากโควิด-19 จะค่อนข้างช้ากว่าการฟื้นตัวจากไวรัสซาร์ส และเมิร์สที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วแบบ V-Shape เพราะโควิด-19 ติดต่อได้ง่ายกว่าและยังแพร่กระจายไปยังทั่วโลกจึงสร้างผลกระทบต่อสายการบินอย่างรุนแรงกว่าจากการหยุดให้บริการ การลดค่าใช้จ่าย การลดจำนวนเครื่องบิน และในบางรายอาจได้รับผลกระทบถึงขั้นปิดกิจการ
รายได้ธุรกิจการบินสัญชาติไทยจากเส้นทางระหว่างประเทศจะหดตัวกว่า -65%YOY มาอยู่ที่ราว 8.2 หมื่นล้านบาท จากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งมีสัดส่วนราว 80% ของผู้โดยสารเส้นทางระหว่างประเทศทั้งหมด ซึ่งคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยจะลดลงราว -67%YOY จาก 39.8 ล้านคนในปี 2562 เหลือเพียง 13.1 ล้านคนในปี 2563 และจากการหดตัวของชาวไทยที่ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้อีกด้วย ซึ่งเป็นผลจากมาตรการห้ามเดินทางออกนอกประเทศของรัฐบาลหลายประเทศจากการแพร่ระบาดโควิด-19
ความกังวลของนักเดินทางกับการติดเชื้อ และสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยทำให้รายได้ลดลง ส่งผลให้รายได้ของสายการบินลดลงตามไปด้วย ส่วนรายได้จากเส้นทางบินภายในประเทศมีแนวโน้มลดลง -45%YOY มาอยู่ที่ราว 3.9 หมื่นล้านบาท
โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศลดลงและอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของการเดินทางภายในประเทศของชาวไทยจากความกังวลในการระบาดของโควิด-19 รวมถึงรายได้ที่ลดลงจากปัญหาสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศเช่นเดียวกัน
การหยุดให้บริการทั้งในเส้นทางระหว่างประเทศและในประเทศในช่วงที่ผ่านมาทำให้หลายสายการบินต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินการด้วยการพยายามลดค่าใช้จ่ายที่ยังคงเหลืออยู่ซึ่งมีโอกาสลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ราว 25-30% โดยเฉพาะด้านค่าใช้จ่ายพนักงานที่คิดเป็น 15% ของต้นทุนทั้งหมด
พร้อมทั้ง การพยายามหาช่องทางในการหารายได้เพิ่มเติม เช่น Thai airways พยายามเน้นให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศเพิ่มขึ้น และให้ครัวการบินไทยปรับมาขาย meal box, snack box และเบเกอรี่ ผ่านทางร้านค้าและทางออนไลน์
ส่วน Thai AirAsia มีการเปิดขายตั๋วล่วงหน้า และขายเบเกอรี่และเครื่องดื่มผ่านทางเดลิเวอรี่ และ Nok air จัดโปรโมชัน “ซื้อก่อน บินทีหลัง” ด้วยการขาย voucher ล่วงหน้าเพื่อนำไปใช้ในช่วง 1 มิ.ย. 20 – 31 ธ.ค.63 เป็นต้นไป
อีกทั้ง ในช่วงต้นเดือน พ.ค. หลายสายการบินได้เตรียมกลับมาให้บริการเส้นทางในประเทศบางส่วน ซึ่งอาจจะช่วยสายการบินได้เล็กน้อย เนื่องจากความต้องการเดินทางภายในประเทศยังซบเซา
โดยในเดือน เม.ย. 63 อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (load factor) เส้นทางภายในประเทศคาดว่าจะอยู่ที่เพียงราว 15%-20% ขณะที่อัตรา load factor ที่ทำให้สายการบินในไทยดำเนินการคุ้มทุนและมีกำไรในสถานการณ์ปกติจะต้องมากกว่า 70%-80% ขึ้นอยู่กับประเภทสายการบิน เนื่องจากมีการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรงในธุรกิจการบิน
นอกจากนี้ มาตรการเว้นระยะห่างที่นั่งตาม social distancing จะกดดันให้การขนส่งผู้โดยสารต่อเที่ยวลดลงอีก เช่น ในกรณีเครื่องบินรุ่น Airbus a320 หากมีการห้ามใช้ที่นั่งตรงกลางจะทำให้จำนวนที่นั่งหายไปราว 1/3 ของที่นั่งทั้งหมด เป็นต้น จึงอาจส่งผลให้สายการบินมีโอกาสปรับเพิ่มค่าโดยสารเพื่อชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นซึ่งอาจไม่เหมาะกับสถานการณ์ความต้องการเดินทางในปัจจุบันที่ยังอ่อนตัวอยู่
อย่างไรก็ดี สายการบินจะได้อานิสงส์จากต้นทุนที่ลดลงตามราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างรุนแรง พร้อมทั้งส่วนลดค่าบริการของทางภาครัฐ เช่น ค่าบริการเดินอากาศ ค่าจอดเครื่องบิน เป็นต้น
นอกจากนี้ สายการบินอาจใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสในการปรับแผนการให้บริการให้สอดคล้องกับแผนในระยะยาว โดยเฉพาะในด้านเส้นทางที่จะให้บริการเพื่อให้เกิดการกระจายความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นจากที่ในอดีตพึ่งพิงการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งมากเกินไป
รวมถึงปรับแผนการใช้เครื่องบินให้เหมาะสมกับเส้นทางที่ต้องการให้บริการ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น big data, AI เป็นต้น เพื่อช่วยในการปรับเปลี่ยนการให้บริการให้ตอบสนองต่อความต้องการเดินทางได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที
หมายเหตุ : การวิเคราะห์ หุ้นสายการบิน ครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ในเชิงภาพรวมอุตสาหกรรม ยังไม่ได้เจาะลึกลงในรายละเอียดของหุ้นในรายตัว นักลงทุนต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : วิเคราะห์หุ้นประกัน โอกาสเติบโตที่มาหลังวิกฤติโควิด-19