การฟื้นตัวหลัง COVID-19 ซีไอเอ็มบี ไทย

ซีไอเอ็มบี ไทย มองวิกฤติไวรัสโควิดฟื้นตัวแบบลงลึก ฟื้นช้า และโตต่ำ

โดย SM1984

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า วิกฤติไวรัสโควิด ปี 2020 แตกต่างจากวิกฤตในอดีต แต่มีโอกาสซ้ำรอยวิกฤตปี 1929 ที่รุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 เพราะกระแสกีดกันการค้า

Great Depression ปี 1929 เกิดจากฟองสบู่ภาคตลาดทุนในสหรัฐแตก การค้าโลกหดตัวนานหลายปี เศรษฐกิจถดถอย เกิดภาวะเงินฝืด และใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัว การฟื้นตัวเป็นรูปตัว L

Asian Financial Crisis ปี 1997 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) เกิดจากฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นแตกลามสู่วิกฤติการเงินในไทยและหลายประเทศในเอเชีย การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนที่ผิดพลาดนำไปสู่การลอยตัวค่าเงินบาท เศรษฐกิจไทยหดตัวแรง แต่ใช้เวลาฟื้นตัวไม่นาน เพราะไทยไม่มีปัญหาการว่างงานสูง และการที่ค่าเงินบาทอ่อนช่วยเรื่องการส่งออก การฟื้นตัวเป็นรูปตัว U

Global Financial Crisis ปี 2008 (วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) เกิดจากวิกฤติการเงินในสหรัฐจากตลาดอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนที่เสี่ยงในตลาดการเงิน ส่งผลกระทบลามเป็นลูกโซ่ ตลาดการเงินทั่วโลกปั่นป่วน เศรษฐกิจสหรัฐและหลายประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้เร็ว เพราะสหรัฐเร่งอัดฉีดเงินสู่เศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน และจีนกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศผ่านมาตรการการคลัง การฟื้นตัวเป็นรูปตัว V

Covid -19 Crisis ปี 2020 (วิกฤติไวรัสโควิด) เกิดขึ้นในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป การฟื้นตัวอาจเป็นรูปตัว J กลับข้างจากซ้ายเป็นขวา คือ ลงลึก ฟื้นช้า และโตต่ำกว่าเดิม
 
วิกฤตรอบนี้เปรียบเหมือนเรากำลังอยู่ในสงคราม แต่เป็นสงครามเศรษฐกิจ ในช่วงสงครามมักเกิดเงินเฟ้อ จากความต้องการสินค้ามากกว่าของที่มี ซึ่งเกิดจากการที่รัฐสั่งปิดกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัส ส่งผลให้เกิดการว่างงาน ผลผลิตลดลง แต่มาตรการเยียวยาและการชดเชยรายได้ให้คนบางกลุ่มได้เข้ามาประคองกำลังซื้อ ทำให้รายได้และความต้องการสินค้าไม่ได้ลดลงมาก 

จึงอยากเตือนให้ระวังเงินเฟ้อ และในภาวะสงครามที่เราไม่รู้ว่าจะลากยาวเพียงไรนี้ เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอีกมาก เราต้องปรับตัวเองให้ทัน ไม่อย่างนั้นถึงแม้ชนะสงครามไวรัสแต่อาจแพ้สงครามเศรษฐกิจ GDP โตช้ากว่าในอดีตไปอีกนานเป็นรูป ตัว J กลับด้านจากซ้ายเป็นขวา คือ ลงลึก ฟื้นช้า และโตต่ำกว่าเดิม

วิกฤติไวรัสโควิด เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำมานานจากหลายปัจจัย ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กำลังซื้อในประเทศอ่อนแอ ปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐทำให้ภาคการผลิตไทยหดตัว งบประมาณล่าช้า และปัญหาภัยแล้ง มีเพียงภาคการท่องเที่ยวช่วยประคองเศรษฐกิจ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทำให้คนไทยและทั่วโลกขาดความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายและลงทุน รายได้ลดลง เกิดปัญหาสภาพคล่อง มีการเทขายสินทรัพย์ต่างๆ ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ หรืออสังหาริมทรัพย์ เพื่อถือเงินสด 

ต้องอาศัยการแทรกแซงของรัฐ (state intervention) หรือแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบ Keynesian เพื่อเติมเงินในกระเป๋าคน สร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มกำลังซื้อ ป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยแรง เพราะหากปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเองจะเกิดปัญหาการว่างงาน ซ้ำรอยวิกฤติปี 1929 ที่รุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง

นายอมรเทพ กล่าวว่า หากมีการอัดฉีดงบการใช้จ่ายภาครัฐราว 4 แสนล้านบาทโดยเร็ว การบริโภคภาครัฐจะขยายตัวได้ในช่วงไตรมาสที่ 2-4 ได้ราว 20% และจะมีส่วนให้ GDP ดีขึ้นกว่ากรณีฐานราว 2% คือหดตัวน้อยลง   อย่างไรก็ดี มาตรการการคลังที่เตรียมใช้เม็ดเงินทั้งหมดราว 1 ล้านล้านบาท โดยหวังจะสร้างตัวทวีคูณ (multiplier) ให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว แต่ต้องแลกมาด้วยการขาดดุลงบประมาณที่จะเร่งตัวขึ้น และหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่อาจพุ่งแตะเพดานที่ 60% ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า การอัดฉีดงบประมาณการคลังครั้งใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจราว 1 ล้านล้านบาท อาจเกิดผลข้างเคียงดังนี้

1.เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเร็ว จากความต้องการสินค้าที่ขาดแคลน ขณะที่การผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงเวลานี้จึงไม่ถูกหยิบมาใช้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ รัฐบาลอาจมีแรงจูงใจให้เกิดเงินเฟ้อเพื่อให้หนี้ภาครัฐโตช้ากว่ารายได้ และช่วยให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ลดลงได้ในภายหลัง

2.ขึ้นภาษีหารายได้ โดยอาจเป็นการขยายฐานภาษีเพื่อเพิ่มรายได้มากกว่าเก็บอัตราภาษีเพิ่ม เพราะรัฐยังอยากประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

3. รัฐบาลจะออกพันธบัตรการออม หรือ saving bond หรือ COVID bond เพื่อระดมทุนใช้จ่าย และหวังดูดซับการบริโภคภาคเอกชนไม่ให้ร้อนแรงจนเกิดเงินเฟ้อสูง แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาคือจะให้ผลตอบแทนเท่าไร ขณะนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีอยู่ที่ราว 1.50% หากจะจูงให้คนออมมากๆ ก็อาจสูงได้ถึง 2.50% แต่สิ่งที่น่าห่วงคือไม่สามารถสู้เงินเฟ้อได้ในภายหลัง

4. นักวิเคราะห์จะแนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่ชนะเงินเฟ้อ เช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ และทองคำ และลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ แต่ก็ควรพิจารณาความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้ด้วย

5. การค้าการลงทุนโลกเปลี่ยน อาจเกิดกระแสต่อต้านการค้าเสรี (anti-globalization) แต่ละประเทศหันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ท่องเที่ยวในประเทศ ใช้สินค้าในประเทศ สนับสนุนการจ้างงานและการลงทุนในประเทศ เพื่อลดรายจ่ายและฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศก่อน หลายประเทศอาจใช้มาตรการกีดกันทางการค้า เช่น ขึ้นภาษี หรือจำกัดการนำเข้า มาตรการเหล่านี้อาจดีในระยะสั้น แต่ไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกในระยะยาว เพราะการผลิตจะขาดประสิทธิภาพ เราควรเดินหน้าสนับสนุนการรวมกลุ่มอาเซียนและการค้าเสรีเพื่อชาวให้การค้าโลกฟื้นได้โดยเร็ว และจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีขึ้นในระยะยาว

“นักลงทุนไทยควรพึ่งพาวัตถุดิบและตลาดในประเทศในช่วงที่การค้าโลกชะลอ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ด้านแรงงานควรมีความยืดหยุ่นและปรับตัวเรียนรู้ให้ทันกับเทคโนโลยีโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะในภาวะสงครามที่เราไม่รู้ว่าจะลากยาวเพียงไรนี้ เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอีกมาก และเราต้องปรับตัวเองให้ทัน ไม่อย่างนั้นถึงแม้ชนะสงครามไวรัสแต่อาจแพ้สงครามเศรษฐกิจ” นายอมรเทพ  สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าว

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : ‘Jitta’ แนะลงทุนช่วงวิกฤต จับจังหวะไม่แม่นจริง นิ่งไว้กำไรกว่า

Related Posts