วิกฤตโควิด-19

สหรัฐฯ-ยุโรป-ญี่ปุ่น อัดบาซูก้าสู้วิกฤตโควิด-19

โดย SM1984

วิกฤตโควิด-19 สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกไม่ว่าจะประเทศเล็กหรือใหญ่ ทำให้ชาติมหาอำนาจของโลกต้องใช้งบประมาณก้อนยักษ์ ทั้งทางด้านนโยบายการเงินและการคลังอย่างที่ไม่เคยใช้มาก่อน

ทั้งนี้ มาตรการทางเศรษฐกิจหลักๆ ที่หลายประเทศเข็นออกมาใช้ ก็คือการอัดฉีดเงินก้อนใหญ่เข้าระบบผ่านนโยบายการเงิน และการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านนโยบายการคลัง รวมถึงการแจกเงินให้แก่ประชาชนโดยตรง 

สหรัฐอเมริกา

สหรัฐฯเริ่มแผนการฟื้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก วิกฤตโควิด-19 โดยการให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED  หั่นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วจนเหลือเหลือ 0% พร้อมอัดฉีด QE วงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรับมือไวรัสโควิด-19 ก่อนจะเพิ่มวงเงินดังกล่าวอย่างไม่จำกัด

สภาคองเกรสสหรัฐฯ ได้อนุมัติเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยงบประมาณทั้งหมดจะนำไปจัดสรรช่วยเหลือธุรกิจและพลเรือนชาวอเมริกัน ครอบคลุมถึงจ่ายเงินโดยตรงให้กับประชาชน การเพิ่มประกันว่างงาน และการจัดสรรประกันสุขภาพ

ในงบข้างต้น รัฐบาลสหรัฐฯจะจัดงบ 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะสินเชื่อและเงินกู้ค้ำประกันให้แก่ภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศ รวมถึงมอบเงิน 117,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่โรงพยาบาลและสถาบันทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศ

พร้อมกันนี้ ยังไม่ลืมจัดงบ 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ในการจัดหาจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และจัดสรรงบอีก 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยให้ครอบคลุมเงินเดือนและสวัสดิการของพนักงาน โดยให้ปล่อยสินเชื่อได้สูงสุดถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

วิกฤตโควิด-19

รายละเอียดของร่างกฎหมายเยียวยานี้ประกอบด้วย

  • จ่ายเงินโดยตรงให้กับประชาชน รายละ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ และ 2,400 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับคู่สามีภรรยา และเพิ่มอีก 500 ดอลลาร์สหรัฐต่อเด็กหนึ่งคน โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลผู้ขอคืนภาษีในปี 2018 และ 2019
  • เพิ่มประกันการว่างงาน เป็น 600 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์นาน 4 เดือน โดยให้ครอบคลุมฟรีแลนซ์และพนักงานจ้างอิสระ
  • นำเงินภาษี 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาปล่อยสินเชื่อ เงินกู้ค้ำประกัน หรือ เข้าไปลงทุนโดยตรงกับเอกชน หน่วยงานรัฐ และเทศบาล ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19
  • มอบเงินมูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ธุรกิจสายการบิน และอีก 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่บริษัทขนส่งทางอากาศ เพื่อใช้เป็นงบในการจ่ายเป็นค่าจ้าง เงินเดือน และสวัสดิการให้แก่พนักงานโดยเฉพาะ ขณะเดียวกัน ก็จัดตั้งงบอีก 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับปล่อยสินเชื่อและเงินกู้ค้ำประกัน
  • จัดงบ 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะสินเชื่อและเงินกู้ค้ำประกันให้แก่ภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศ
  •  มอบเงิน 117,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่โรงพยาบาลและสถาบันทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศ
  • จัดงบ 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ในการจัดหาจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์
  • จัดสรรงบ 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยให้ครอบคลุมเงินเดือนและสวัสดิการของพนักงาน โดยให้ปล่อยสินเชื่อได้สูงสุดถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ให้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับธุรกิจที่ไม่ปลดพนักงาน โดยลดหย่อนได้มากถึง 50% ของเงินเดือนลูกจ้างก่อนเกิดวิกฤติ ขณะที่ธุรกิจที่ต้องหยุดกิจการหรือมีรายได้โดยรวมลดลง 50% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ก็จะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีด้วยเช่นกัน
  • เรียกร้องให้บริษัทประกันภัยออกแผนประกันสุขภาพครอบคลุมบริการป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยไม่ต้องมีการแบ่งปันต้นทุน (Cost sharing)
  • เลื่อนการเสียภาษีปีนี้ให้แก่ภาคเอกชน โดยครึ่งหนึ่งให้ชำระภายในปี 2021 และอีกครึ่งหนึ่งชำระภายในปี 2022
  • ออกคำสั่งห้ามบริษัทเอกชนที่ยื่นขอเงินกู้จากรัฐบาลซื้อหุ้นคืนภายใน 1 ปี หลังจากชำระหนี้คืนแล้ว
  • ห้ามขึ้นเงินเดือนนายจ้างและผู้บริหารที่มีรายได้ขั้นต่ำ 425,000 ดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว
  • ห้ามไม่ให้ธุรกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และสมาชิกครอบครัว ได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการภาษีในการเยียวยาไวรัสโควิด-19 โดยนอกจากผู้นำประเทศแล้ว ยังมีผลครอบคลุมถึง รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ สมาชิกสภาคองเกรสและครอบครัวด้วย
  • ระงับการชำระหนี้นักเรียนจนถึงสิ้นเดือนกันยายน โดยในระหว่างนี้ จะระงับการคิดดอกเบี้ยด้วย
วิกฤตโควิด-19

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : Economic Shutdown วิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีต้นเหตุมาจาก COVID-19

สหภาพยุโรป

รัฐมนตรีคลังชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) บรรลุข้อตกลงเห็นชอบอนุมัติมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจาก วิกฤตโควิด-19 มูลค่า 500,000 ล้านยูโร หรือราว 17.8 ล้านล้านบาท

ความเห็นชอบดังกล่าวมีขึ้น หลังผ่านการหารือร่วมกันอย่างยาวนานที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม โดย Mario Centeno ประธานยูโรกรุ๊ป กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวมุ่งให้ความช่วยเหลือแรงงาน บริษัท และรัฐบาลในอียูที่ได้รับกระทบอย่างหนักจากไวรัสโควิด-19

สถานีโทรทัศน์บีบีซี ของอังกฤษ รายงานว่า ส่วนหนึ่งของมาตรการเยียวยาดังกล่าว คือ กองทุนช่วยเหลือ European Stability Mechanism (ESM) ซึ่งเป็นกลไกเพื่อรักษาเสถียรภาพของเขตสกุลเงินยูโรป ซึ่งจะใช้ความช่วยเหลือทางการเงินฝ่ายเงินกู้จำนวน 240,000 ล้านยูโร

นอกจากนี้ ยังมีแผนการลงทุนจากธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (European Investment Bank) มูลค่า 200,000 ล้านยูโรป และโครงการการจ้างงานระยะสั้นของคณะกรรมาธิการยุโรป

แม้รัฐมนตรีคลังส่วนใหญ่จะพอใจและให้การยอมรับว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรป แต่มูลค่าของมาตรการเยียวยากลับน้อยกว่าที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เสนอแนะไว้ก่อนหน้าว่า หากต้องการจะฝ่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 ให้ผ่านพ้นไปได้ อียูจำเป็นจะต้องใช้เงินสูงถึง 1.5 ล้านล้านยูโร

ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปหรือ อีซีบี ยังคงอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับอีซีบี ที่ระดับ -0.50% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25%

อย่างไรก็ตาม อีซีบีได้ประกาศเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อีก 1.2 แสนล้านยูโรจนถึงสิ้นปีนี้ พร้อมให้คำมั่นที่จะให้สินเชื่อใหม่แก่ภาคธนาคาร ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำลง เพื่อให้ธนาคารปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19

ที่มา Reuters

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ผ่าหุ้นไทย กลุ่มธุรกิจไหนจะ เด่น-ดับ หลังวิกฤตโควิด-19 จบลง

วิกฤตโควิด-19

ญี่ปุ่น
อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 108 ล้านล้านเยน หรือ เกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ  เป็นงบประมาณมากสุดเท่าที่เคยดำเนินมา ประกอบด้วย มาตรการทางการคลัง 39 ล้านล้านเยน และการปรับลดภาษีและค่าใช้จ่ายด้านประกันสังคมสำหรับภาคธุรกิจมูลค่าราว 26 ล้านล้านเยน

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น กล่าวว่า งบประมาณดังกล่าว ครอบคลุมถึงมาตรการทางการคลังมูลค่าราว 39 ล้านล้านเยน สำหรับดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การแจกเงินช่วยเหลือภาคครัวเรือนและบริษัทขนาดเล็กวงเงิน 6 ล้านล้านเยน รวมถึงการปรับลดภาษีและค่าใช้จ่ายด้านประกันสังคมสำหรับภาคธุรกิจมูลค่าราว 26 ล้านล้านเยน

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่าการอนุมัติงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่นายกรัฐมนตรีอาเบะได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในโตเกียว โอซากา และอีก 5 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของ วิกฤตโควิด-19

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ทำไม COVID19 ถึงทำให้เศรษฐกิจไทยวิกฤตหนักกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

วิกฤตที่เกิดจากโรระบาดรอบนี้หนักหนากว่าทุกครั้งที่ผ่านมาไม่ว่าจะซับไพร์มหรือ Great Depression ทำให้ชาติยักษ์ใหญ่ต้องงัดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกนี้เคยเกิดขึ้นเลยทีเดียวและยังไม่มีใครตอบได้ว่ามันจะจบลงเมื่อไรและอย่างไร

Related Posts