KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรได้ออกบทวิจัยอธิบายว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบหนักจากกว่าวิกฤตในครั้งก่อนๆ จากหลายเหตุผล สาเหตุสำคัญคือเศรษฐกิจไทยภูมิคุ้มกันต่ำตั้งแต่ก่อนติด COVID19
1) เศรษฐกิจไทยไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตการเงินโลกปี 2008 แตกต่างจากวิกฤตครั้งนี้ที่ไทยได้รับผลกระทบโดยตรงในภาคการท่องเที่ยวและจากการแพร่ระบาดในประเทศ เนื่องจากวิกฤตในปี 2008 เริ่มต้นจากปัญหาของภาคธนาคารในสหรัฐฯ และผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงค่อนข้างจำกัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เศรษฐกิจไทยจึงถูกกระทบในวงแคบเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินตลาดทุน
อีกทั้งเงินบาทที่อ่อนค่าจากการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงยังเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวไทย ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็วในรูปตัว V (V-shape recovery) ซึ่งนับเป็นความเสียหายต่อเศรษฐกิจที่น้อยกว่าสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 หลายเท่าตัว
2) เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวมาตั้งแต่ก่อนCOVID-19 แล้ว จากปัจจัยเชิงโครงสร้างและความอ่อนแอของเศรษฐกิจภายในประเทศ เศรษฐกิจในช่วง 5 ปีก่อนวิกฤตปี 2008 เติบโตได้เฉลี่ยถึง 5.6% ต่อปี โดยอุปสงค์ภาคเอกชนเป็นกำลังสำคัญต่อการขยายตัวถึงกว่า 80% ขณะที่ในช่วง 5 ปีล่าสุด (2015-19) เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยเพียง 3.4% และอุปสงค์ภาคเอกชนภายในประเทศอ่อนแอลง
โดยเป็นแรงส่งในการขยายตัวเศรษฐกิจเพียง 60% เท่านั้น จากปัญหาการชะลออย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคที่ถูกฉุดรั้งด้วยภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 79% ของ GDP ในด้านการผลิต การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากทั้งการลดลงของประชากรวัยแรงงาน และผลิตภาพ (productivity) ของแรงงานที่ลดลงจากการขาดพัฒนาการทางเทคโนโลยี ความเข้มข้นของการใช้ทุนและเครื่องจักรที่ชะลอลง ตลอดจนการขยับออกของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมาสู่แรงงานในภาคบริการที่มีผลผลิตโดยเฉลี่ยต่ำ
3) การแพร่ระบาดทั่วโลกของ COVID19 ส่งผลลบต่อการท่องเที่ยวไทยที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล เศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการต่างประเทศมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่องกระทั่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงกว่า 40 ล้านคนต่อปีในปี 2019 ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึงกว่า 2 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัวจากปี 2007 หรือเติบโตเฉลี่ย 10.4% ต่อปี จนกระทั่งปัจจุบันคิดเป็น 12% ของ GDP ในปีล่าสุด
การแพร่ระบาดของCOVID-19 อย่างกะทันหันย่อมกระทบโดยตรงต่อการเดินทางและภาคธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย และส่งผลให้เศรษฐกิจไทยดำดิ่งลงอย่างฉับพลัน
4) ภาคการเกษตรไม่สามารถรองรับผลจากแรงกระแทกต่อเศรษฐกิจได้เหมือนแต่ก่อน ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาหลายครั้ง ภาคการเกษตรมีความสำคัญในการช่วยรองรับการไหลกลับของแรงงานจากเมืองจากการถูกเลิกจ้าง ด้วยโครงสร้างครอบครัวขยายที่เอื้อให้แรงงานวัยหนุ่มสาวจากชนบทสามารถเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการได้โดยยังมีเครือข่ายพี่น้องและญาติผู้ใหญ่รองรับอยู่ในภาคเกษตร อีกทั้งราคาสินค้าเกษตรในอดีตอยู่ในระดับดีเนื่องจากไม่มีการแข่งขันด้านอุปทานจากผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดโลกสูงมากนัก
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันภาคการเกษตรมีขนาดลดลงจากเดิมมาก จนไม่อาจสร้างรายได้ที่จะชดเชยรายได้จากการจ้างงานในเมืองได้ จึงสังเกตได้ว่าในระยะหลังที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว แรงงานมักไหลเข้าสู่ภาคบริการแทนที่ภาคเกษตร วิกฤตเศรษฐกิจจาก COVID19 ที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่เปราะบางอยู่แล้ว อาจทำให้มีการเลิกจ้างงานทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการในจำนวนที่มากเกินกว่าที่ภาคเกษตรจะรองรับการไหลกลับของแรงงานได้
5) ในครั้งนี้เราไม่สามารถฝากความหวังกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก เช่นเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ในโลกการดำเนินนโยบายการเงินของไทยเพื่อบรรเทาผลกระทบจากCovid-19 มีขีดจำกัดจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับที่ต่ำมากอยู่แล้ว อีกทั้งการลดดอกเบี้ยก็อาจไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนักในสถานการณ์ปัจจุบัน
ขณะที่มาตรการทางการคลังที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงหลังวิกฤตปี 2008 (แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง) เป็นมาตรการเชิงรุกที่ใช้กระบวนการทั้งในและนอกงบประมาณ สะท้อนถึงความเป็นเอกภาพในระดับหนึ่งของรัฐบาลและความแข็งแรงของระบบรัฐสภาในขณะนั้น
ต่างจากในปัจจุบันที่การทำงานของภาครัฐถูกมองว่ายังมีความไม่ลงรอยหรือไม่เชื่อมโยงกันในแต่ละกระทรวง ส่งผลให้รูปแบบของมาตรการทางเศรษฐกิจเป็นไปในเชิงบรรเทา ไม่เป็นองค์รวม และไม่เพียงพอกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและประชาชนจากวิกฤตครั้งใหญ่คราวนี้
โลกตื่นตระหนกเกินเหตุ หรือ ไทยแกร่งกว่าทุกประเทศ?
คำถามที่ทุกคนอยากรู้คำตอบ คือ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของCOVID-19 สามารถควบคุมได้แล้ว เศรษฐกิจไทย รวมถึงตลาดการเงินจะกลับมาฟื้นตัวเป็น V-shape ได้หรือไม่ คงเป็นการยากที่ใครจะล่วงรู้คำตอบนี้ได้ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือยิ่งการระบาดลุกลามและขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น จะยิ่งทำให้ทางการจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นในการสกัดกั้นการระบาด และผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็จะยิ่งหนักหน่วงและลากยาวขึ้น
ปัญหาสภาพคล่องจากการขาดกระแสเงินสดชั่วคราว อาจถูกภาวะเศรษฐกิจตกต่ำคุกคามจนกลายเป็นปัญหาความอยู่รอดของธุรกิจได้ ฉะนั้น ประเด็นสำคัญจึงขึ้นอยู่ที่กลไกในการรองรับแรงกระแทกของแต่ประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม
ท่ามกลางการระบาดของ COVID19 ที่รุนแรงขึ้นและความไม่แน่นอนที่อยู่ในระดับสูง หลายประเทศจำเป็นต้องใช้มาตรการปิดเมือง หรือ lockdown เพื่อลดการระบาดของโรค เช่นเดียวกับที่รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจดำเนินการในปัจจุบันสิ่งที่แตกต่างคือ รัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ไม่รีรอ ต่างพากันจัดยาแรงชนิดที่เรียกว่า ‘ทุ่มหมดหน้าตัก’ เพื่อเยียวยาครัวเรือนและผู้ประกอบการที่ได้รับความยากลำบากในสถานการณ์เช่นนี้
รัฐสภาสหรัฐอเมริกาทำงานกันไม่เว้นวันหยุดเพื่อเร่งผลักดันแผนงบประมาณฉุกเฉินวงเงินสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นเกือบ 10% ของ GDP สหรัฐฯ นับเป็นงบประมาณฉุกเฉินก้อนใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพื่อเตรียมให้ความช่วยเหลือกับธุรกิจและประชาชนชาวอเมริกันที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากCOVID-19
ขณะเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายฉุกเฉิน 2 ครั้งติดต่อกันจนอยู่ระดับใกล้ศูนย์อีกครั้ง พร้อมประกาศทำ QE เพิ่มเติมอย่างไม่จำกัด และได้ดำเนินโครงการจำนวนมากเพื่อสนับสนุนสภาพคล่องและเงินให้สินเชื่อแก่ธุรกิจ และเพื่อดูแลให้ตลาดการเงินทำงานได้อย่างราบรื่น สนับสนุนการส่งผ่านของนโยบายการเงินไปยังเศรษฐกิจในวงกว้าง
อีกหลายประเทศทั่วโลกต่างก็ตื่นตัว ทยอยออกมาตรการชุดใหญ่เช่นกัน ทั้งด้านการช่วยเหลือภาคธุรกิจ การกระตุ้นเศรษฐกิจ การดูแลครัวเรือนและการจ้างงาน และด้านการรักษาเสถียรภาพในภาคการเงิน สะท้อนระดับความรุนแรงของผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่เกิดจากCOVID-19 ในครั้งนี้
ท่ามกลางการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศต่างๆ รัฐไทยอาจจำเป็นต้องยกระดับความสำคัญต่อของการบรรเทาผลกระทบต่อธุรกิจและประชาชนที่ได้รับความเสียหายครั้งนี้ให้สูงมากขึ้นไปอีก เพราะตัวเลขงบประมาณที่ใช้ยังออกมาน้อยกว่าประเทศอื่นๆ มาก และต้องเพิ่มมาตรการที่มีมิติของการวางแผนรองรับแบบมองไปข้างหน้าอีกด้วย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
ทำให้รัฐบาลอาจมองว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากถึงขั้น ‘วิกฤต’ ตอนนี้ภาครัฐจึงดูยังขาดการผลักดันมาตรการภาครัฐที่มีขนาดใหญ่และครอบคลุมเพียงพอในการช่วยบรรเทาทุกข์ของธุรกิจและผู้คนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมรสุมครั้งนี้ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่ล้มจากการระบาดของ COVID19 และจากมาตรการlockdown ของภาครัฐ
เราได้เห็นแล้วว่า จากวิกฤตด้านสาธารณสุข สามารถสร้างกระทบต่อเนื่องกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจและมีความเสี่ยงที่จะลุกลามไปยังภาคการเงินได้หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเพียงพอและตรงจุด ในสถานการณ์ที่ประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชนตกอยู่ภายใต้การคุกคามของทั้งโรคระบาดและความท้าทายทางเศรษฐกิจเช่นนี้ รัฐบาลต้องดำเนินการทั้งมาตรการด้านสาธารณสุขและการรองรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประชาชนไปพร้อมกัน ไม่อาจเลือกทำเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง
โดยการวางแผนรับมือกับภาวะวิกฤตต้องผ่านกระบวนการคิดที่ครบถ้วนและรอบด้าน มองไปข้างหน้า การตัดสินใจที่เด็ดขาด ทันท่วงที และมองเห็นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ด้วยความจริงใจ จึงจะทรงพลังและมีประสิทธิภาพเพียงพอในการแก้ไขปัญหาที่หนักอึ้งในทุกมิติเช่นนี้
หากภาครัฐมีการประเมินผลกระทบที่ผิดพลาด ออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาทีละเปลาะและล่าช้าเกินไป ขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบและขาดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ท้ายที่สุดอาจจะนำไปสู่ ‘วิกฤตศรัทธา’ (Crisis of confidence)
เมื่อประชาชนขาดความเชื่อมั่นกับกระบวนการ ความสามารถ และความจริงใจของภาครัฐแล้ว การขอความร่วมมือจากภาคประชาชนทั้งการควบคุมด้านสาธารณสุข และการเรียกความมั่นใจด้านเศรษฐกิจกลับคืนมา จะเป็นกลายเป็นความท้าทายอีกด้านหนึ่งของภาครัฐ ถึงเวลานั้นประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับวิกฤตที่แท้จริงที่สายเกินกว่าจะแก้ไขได้
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : ระวัง!!ไม่มีคุณสมบัติโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” รัฐมีสิทธิเรียกเงินคืน