เราไม่ทิ้งกัน

ระวัง!!ไม่มีคุณสมบัติโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” รัฐมีสิทธิเรียกเงินคืน

โดย SM1984

หลังภาครัฐเปิดลงทะเบียนโครงการ เราไม่ทิ้งกัน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยตั้งเป้าไว้ที่ 3 ล้านรายแต่ปรากฎว่าว่ามีผู้ลงทะเบียนกว่า 20 ล้านราย แต่น่าจะมีผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขจำนวนมาก เราไปดูกันว่า 5 ข้อต้องรู้ก่อนลงทะเบียนมีอะไรบ้าง

1. ผู้ที่ทำงานบริษัทเอกชนและจ่ายประกันสังคมอยู่แล้วจะไม่ได้รับสิทธินี้

สิทธิดังกล่าวนี้มีให้เฉพาะผู้ที่ทำอาชีพอิสระ ไม่ได้ทำงานประจำหรือรับเงินเดือนประจำตามองค์กรเอกชนต่างๆ  เช่น หาบเร่แผงลอย ซึ่งกลุ่มนี้จะเรียกว่า ผู้ประกันตน มาตรา 40

รวมถึงผู้ประกันตนมาตรา 39 คือ สมัครใจที่ยังอยากส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมด้วยตัวเอง แม้ว่าจะลาออกจากงานประจำแล้วก็ตาม

แต่คนทำงานประจำหรือมนุษย์เงินเดือนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถลงทะเบียนได้ที่ www.sso.go.th  ไปที่หัวข้อ ขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน online (e-form for sso benefits)

โดยกรอกแบบขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย และนายจ้างกรอกแบบรับรองการปิดกิจการจากเหตุ COVID-19

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : เผยขั้นตอน ลงทะเบียนว่างงาน กับประกันสังคมกรณีได้รับผลกระทบโควิด-19

2. อ่านเงื่อนไขและข้อตกลงในการขอรับเงินช่วยเหลือให้ละเอียด

เมื่อไปที่หน้าเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com และคลิกตรงคำว่า “ลงทะเบียนมาตรการชดเชยรายได้” จะพบข้อความอันแสนยาว แนะนำว่าให้อ่านอย่างละเอียดเพราะจะมีผลบังคับใช้ติดตามมาในอนาคต

ข้อความตกลงยินยอมของผู้ที่ประสงค์จะได้รับสิทธิตามมาตรการฯ

2.1 ข้าพเจ้าตกลงยินยอมให้กระทรวงการคลัง หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้จัดทำระบบให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบ www.เราไม่ทิ้งกัน.com จัดเก็บและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่ข้าพเจ้าได้ให้ไว้ในการลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ

2.2 ข้าพเจ้าตกลงยินยอมให้กระทรวงการคลัง หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้จัดทำระบบให้กระทรวงการคลัง จัดเก็บ ประมวลผล และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ข้าพเจ้าได้ให้ไว้ในการลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ ต่อหน่วยงานของรัฐ ผู้รับให้บริการที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐ สถาบันการเงินซึ่งข้าพเจ้าได้ระบุไว้ในการลงทะเบียน และบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ จำกัด เพื่อประโยชน์ในการดำเนินมาตรการฯ และมาตรการอื่นของรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อข้าพเจ้าในอนาคต

2.3 ข้าพเจ้าตกลงยินยอมให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องร้องขอ สอบถาม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของข้าพเจ้า เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรการฯ

2.4 ข้าพเจ้ารับทราบว่าการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย

2.5 ข้าพเจ้าได้อ่านรับทราบและตกลงยินยอมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของมาตรการฯ หากข้าพเจ้าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของมาตรการฯ ข้าพเจ้ายินยอมให้กระทรวงการคลังหรือผู้จัดทำระบบให้กระทรวงการคลังสั่งระงับการจ่ายเงินชดเชยตามมาตรการฯและตรวจสอบการกระทำดังกล่าว 

หากตรวจสอบแล้วพบว่าข้าพเจ้ากระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของมาตรการฯจริง ให้กระทรวงการคลังหรือผู้จัดทำระบบให้กระทรวงการคลังระงับสิทธิในการได้รับเงินชดเชยตามมาตรการฯ และข้าพเจ้าจะเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินชดเชยที่ได้รับไปแล้วคืนให้แก่รัฐภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการระงับสิทธิดังกล่าว ตามวิธีการที่กระทรวงการคลังหรือผู้จัดทำระบบให้กระทรวงการคลังกำหนด ทั้งนี้ ให้การตัดสินของกระทรวงการคลังถือเป็นที่สุด

2.6 ในกรณีที่รัฐได้ดำเนินการตามข้อ 2.5 แล้ว รัฐอาจใช้สิทธิในการที่จะดำเนินคดีทางแพ่งหรือทางอาญาต่อไป

ข้าพเจ้าขอรับรองว่าข้อมูลที่ข้าพเจ้าได้ให้ไว้ในการลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมมาตรการฯ ถูกต้องตามความเป็นจริง ทุกประการ หากข้อมูลดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ข้าพเจ้าตกลงยินยอมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการระงับการจ่ายเงินตามมาตรการฯ หรือยินยอมคืนเงินที่ได้รับพร้อมดอกเบี้ย แล้วแต่กรณี

สรุปง่ายๆคือหากพบว่าเป็นผู้ไม่มีสิทธิในการรับเงินช่วยเหลือจากโครงการเราไม่ทิ้งกันภาครัฐมีสิทธิหยุดการให้เงินและเรียกเงินช่วยเหลือคืนได้

3.อาชีพอะไรบ้างที่ไม่ได้รับสิทธินี้

ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างในหน่วยงานของรัฐ หรือผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ ขณะที่กลุ่มเกษตรกรจะมีมาตราการช่วยเลืออีกรูปแบบหนึ่ง แม้ว่าจะมีสิทธิลงทะเบียน เราไม่ทิ้งกัน ก็ตามแต่เมื่อลงทะเบียนไปแล้วจะไม่มีสิทธิได้เงินช่วยเหลือภาคเกษตรอีก

4. ลงทะเบียนได้ถึงเมื่อไร

ถึงตอนนี้ยังสามารถลงทะเบียนได้ โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินให้กับผู้ที่ได้รับเงินช่วยเหลือระหว่าง เม.ย.-มิ.ย. ดังนั้น หลังเดือน มิ.ย. รัฐบาลจะยุติมาตรการจ่ายเงินนี้ อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์โควิด-19ยังไม่ดีขึ้น ก็อาจมีการพิจารณาออกมาตรการเยียวยารอบใหม่

5. สรรพากรยืนยันไม่เก็บภาษีย้อนหลังข้อมูลคนลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน 

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ตามที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ากรมสรรพากรจะนำข้อมูลของผู้ลงทะเบียน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ไปใช้ในการตรวจย้อนหลังของกลุ่มผู้มีอาชีพอิสระนั้น ไม่เป็นความจริง ขอเรียนว่า กรมสรรพากร ตระหนักถึงความเดือดร้อนของผู้เสียภาษีและประชาชนโดยทั่วไป

ภายใต้สถานการณ์ ที่ทุกคนประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิตจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด – 19) ที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้ กรมสรรพากรจึงได้มีมาตรการภาษีเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 12 มาตรการ 

โดยเฉพาะมาตรการเยียวยาผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น ขยายเวลายื่นแบบเสียภาษีจาก วันที่ 31 มี.ค. 2563 เป็นวันที่ 31 ส.ค. 2563 มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

ในส่วนค่าตอบแทนพิเศษที่ได้รับจากกระทรวงสาธารณสุขในปี 2563 สำหรับการปฏิบัติงาน เสี่ยงภัยเกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อลดภาระภาษีและเพิ่มขวัญกำลังใจ และมาตรการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อน ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จากเดิมหักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 25,000 บาท เป็นต้น

กรมสรรพากร ขอยืนยันว่าผู้ลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อรับเงินตามมาตรการฯ ดังกล่าว จะไม่ถูกนำข้อมูลการลงทะเบียนมาใช้ในการตรวจสอบภาษี เนื่องจากกรมสรรพากรมีข้อมูลทั้งหมดอยู่แล้ว จึงขอให้ประชาชนอย่ากังวล และขอส่งกำลังใจให้คนไทยทุกคนผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ไปได้ด้วยดี

Related Posts