ETF

ETF ประโยชน์เหนือกองทุนรวมที่หลายคนมองข้าม

โดย SM1984

การซื้อหุ้นสักตัวหนึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่เรามีเงินสัก 10,000 บาทก็สามารถซื้อหุ้นได้เกือบทุกตัวที่อยู่ในตลาดหุ้นของไทยแล้ว แต่ถ้าเราต้องการกระจายความเสี่ยงไปกับหุ้นสัก 10 ตัวล่ะ ? คราวนี้โจทย์เริ่มยากขึ้น ต่อให้มีเงินทุน 50,000 บาทก็ยังกระจายความเสี่ยงกับหุ้นหลายตัวได้ไม่ง่ายนัก ด้วยเหตุนี้เอง คนที่เพิ่งเริ่มลงทุนด้วยเงินจำนวนไม่มาก มักจะเริ่มจาก “กองทุนรวม” เพราะด้วยเงินแค่ 500-1,000 บาทก็สามารถกระจายการลงทุนได้ไม่ต่างกับคนที่มีเงินถุงเงินถัง

อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมมันยังมีข้อจำกัดที่สำคัญอยู่ข้อหนึ่งที่ด้อยกว่าหุ้นรายตัว นั่นคือราคาซื้อขาย ถ้านักลงทุนต้องการซื้อหุ้น BEM ที่ตอนนี้ราคาตลาดอยู่ที่ประมาณ 10 บาท ก็จะได้ซื้อขายที่ราคาตลาดตามที่แสดงในหน้าจอได้ทันที แต่สำหรับกองทุนรวม นักลงทุนจะได้ซื้อหรือขายในราคาที่ประกาศตอนสิ้นวันเท่านั้น เราจึงไม่อาจรู้ได้เลยว่าราคาสุดท้ายของกองทุนที่จะได้ซื้อขายนั้นเป็นเท่าไหร่จนกว่ากองทุนจะคำนวณราคาใหม่เสร็จเสียก่อน

ข้อด้อยนี้เองจึงเป็นที่มาของ ETF หรือ Exchange Trade Fund ที่เราจะพูดถึงในบทความนี้

ซื้อขายได้ไม่ต่างจากหุ้น

ETFกองแรกถือกำเนิดขึ้นในช่วงปี 1989 โดยเป็นกองทุนETF ที่อ้างอิงกับดัชนี S&P 500 ของสหรัฐ จากวันนั้นผ่านมากว่า 30 ปี มูลค่าตลาดของ ETF รวมทั่วโลกก็พุ่งทะลุหลัก 1 ล้านล้านเหรียญเป็นที่เรียบร้อย สำหรับในประเทศไทย กองทุน ETF อาจจะยังไม่ได้รับความนิยมมากนักเมื่อเทียบกับหุ้นรายตัว (ETFในไทยมีอยู่ไม่ถึง 20 กองทุน เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับรายชื่อหุ้นกว่า 700 บริษัทในตลาดหุ้นไทย) แต่ก็ดูเหมือนว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขี้นเรื่อยๆ

เนื่องจากETF ก็เป็นกองทุนรวมชนิดหนึ่งที่ไม่ต่างอะไรกับกองทุนรวมปกติเท่าไหร่เลย แต่มีความยืดหยุ่นในเรื่องการซื้อขายสูงกว่ามาก ซื้อขายก็ง่าย สับเปลี่ยนก็ง่าย เพราะนักลงทุนซื้อขายกองทุนETF ได้ในราคาตลาดปัจจุบันทันที ไม่ต้องรอราคาปิดตอนสิ้นวันเหมือนกองทุนรวมแบบปกติ

หลากหลายแบบกองทุน

และ ETFก็เหมือนกับกองทุนรวมในแง่ที่ว่ามีสินทรัพย์ให้เลือกหลากหลายประเภท มีทั้งETF ที่ลงทุนในดัชนี SET50 หรือลงทุนในหุ้นกลุ่มการแพทย์ หรือลงทุนในตลาดหุ้นจีนหรือฮ่องกงก็มีเช่นกัน ทำให้นักลงทุนสามารถเลือกสินทรัพย์การลงทุนได้หลากหลาย

ลองนึกดูว่า สมมติเราจะใช้เงิน 10,000 บาทซื้อหุ้นทุกตัวในกลุ่มโรงพยาบาล หุ้นบางตัวในกลุ่มที่มีราคาหลักร้อยก็ไม่สามารถซื้อได้ หรือถ้านักลงทุนอยากจะลงทุนในตลาดหุ้นจีน ด้วยเงิน 10,000 บาทก็ไม่ใช่ว่าจะซื้อหุ้นจีนได้ง่ายนัก แค่เปิดบัญชีหุ้นอย่างเดียวก็อาจใช้เงินหลักแสนแล้ว แต่ด้วยเงิน 10,000 บาท เราสามารถลงทุนได้ในสินทรัพย์หลายๆ ชนิด ผ่านกองทุนที่เรียกว่าETF นี่เอง

แต่ทำไมคนไม่นิยม

น่าเสียดายที่ ETFอาจยังไม่เป็นที่นิยมในไทยมากนัก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะคนมักจะเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมประเภท LTF หรือ RMF มากกว่าเนื่องจากได้ประโยชน์ทางภาษี แม้จะซื้อกองทุนรวมเหล่านี้แล้วขาดทุน ก็ยังได้เงินภาษีคืนเป็นรางวัลปลอบใจ แต่คนที่ซื้อ ETFจะไม่ได้อะไรปลอบใจถ้ามูลค่ากองทุนลดลง

กับข้อเสียอีกประการคือราคาที่สามารถซื้อขายได้ตลอดเวลา แม้จะทำให้นักลงทุนมีความยืดหยุ่นในการซื้อขายสูงขึ้น แต่มองอีกมุมก็เป็นดาบสองคมสำหรับคนที่ต้องการจะ “ลงทุนระยะยาว” กับกองทุนรวม ถ้าเป็นกองทุนตามปกติ การซื้อหรือขายจะมีความลำบากมากกว่า เพราะต้องรอราคาปิดของแต่ละวัน ขณะที่ETF นักลงทุนจะรู้ราคาซื้อขายตอนนั้นทันที พอเวลากองทุนลงหนัก เราอาจเผลอขายทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

สุดท้ายนี้ ETFถือเป็นเครื่องมือทางการเงินตัวหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างยาวนานและเป็นที่นิยมในต่างประเทศ แม้ในประเทศไทยจะยังห่างชั้นกับกองทุนรวมมากนักในแง่ความนิยม แต่ก็นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการกระจายความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ทำไมกองทุนรวมถึงเอาชนะ SET Index ได้ยาก

Related Posts