เมื่อคืนวันที่ 23 มีนาคม ธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟดได้ประกาศที่จะอัดฉีดสภาพคล่องหรือ QE เข้าสู่ระบบโดยไม่จำกัดวงเงิน ซึ่งอาจจะเป็นจุดพลิกที่ผลักดัน ราคาทอง ให้กลับไปทำนิวไฮได้อีกครั้ง
แถลงการณ์ของเฟดระบุว่า “เฟดจะดำเนินโครงการซื้อสินทรัพย์ในวงเงินที่จำเป็นในการสนับสนุนการดำเนินงานของตลาดอย่างราบรื่น และความมีประสิทธิภาพในการส่งผ่านนโยบายทางการเงินไปยังเศรษฐกิจและระบบการเงินในวงกว้าง
ขณะที่ไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั่วสหรัฐและทั่วโลก โดยภารกิจที่สำคัญที่สุดของเราคือการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัส และขณะที่ยังคงมีความไม่แน่นอนจำนวนมาก
ก็เป็นที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจของเราจะเผชิญกับภาวะชะงักงันอย่างรุนแรง ภาครัฐและภาคเอกชนจึงต้องใช้ความพยายามในเชิงรุกเพื่อจำกัดจำนวนคนที่จะตกงาน และรายได้ที่จะหายไป เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว”
เฟดยังระบุว่าจะเข้าซื้อหุ้นกู้ของภาคเอกชนเป็นครั้งแรก โดยจะซื้อหลักทรัพย์ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในขั้นน่าลงทุน ทั้งในและนอกตลาด รวมทั้งจะเข้าซื้อกองทุน ETFs
นอกจากนี้ เฟดจะเพิ่มวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์สำหรับโครงการปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจ และโครงการสินเชื่อที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันที่มีการใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเงิน
เฟดระบุว่าจะทำ QE โดยรวมถึงการเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่มีตราสารจำนองเชิงพาณิชย์ค้ำประกัน ซึ่งจะบ่งชี้ว่าเฟดได้ขยายการทำ QE ให้รวมถึงตราสารเชิงพาณิชย์ในภาคอสังหาริมทรัพย์
การดำเนินการของเฟดในวันนี้ ถือเป็นการดำเนินการแทรกแซงตลาดครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เฟดเคยดำเนินการ
ก่อนหน้านี้ราคาทองคำได้ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกับสินทรัพย์การลงทุนอื่นๆ แม้จะมีการประกาศทำ QE ทำให้เกิดคำถามว่ารอบนี้ทองคำจะเป็นพระเอกได้เหมือนกับรอบที่แล้วหรือไม่??
YLG ได้วิเคราะห์ว่าทองคำน่าจะย่อตัวลงในระยะสั้นเท่านั้นเพราะตลาดหุ้นลงแรงจนเข้าสู่ภาวะขาลงอย่างเป็นทางการ ทำให้นักลงทุนเผชิญกับการถูกเรียกหลักประกันเพิ่ม นักลงทุนจึงจำเป็นต้องเทขายทองคำออกมา เพื่อนำเงินไปเติมหลักประกัน รวมถึงชดเชยผลขาดทุนในตลาดหุ้นรวมถึงสินทรัพย์อื่นๆทั่วโลก
เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่มีสถาบันการเงินของสหรัฐประกาศปิดตัวในช่วงเดือยก.ย.ปี 2551 ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงอย่างหนัก และทองคำก็ปรับตัวลดลงแรงเช่นกัน
แต่หลังจากที่ภาวะวิกฤตเริ่มคลี่คลายลง ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ออกตัวเป็นขาขึ้นก่อนตลาดหุ้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าวิกฤตโควิด-19 น่าจะผลักดันราคาทองคก่อนตลาดหุ้นเช่นกัน
ขณะที่ บล.หยวนต้า วิเคราะห์ ราคาทอง หลังจากนี้มีโอกาสปรับตัวขึ้นจากเหตุผลต่อไปนี้
(1) ทองคำจะได้ประโยชน์จากสภาพคล่องส่วนเกินจากการอัดฉีดเงินอย่างมหาศาลของธนาคารกลางทั่วโลก
(2) ตลาดหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลกที่ปรับตัวลง ย่อมทำให้ทองคำกลับมาได้รับความน่าสนใจในฐานะ Safe Haven
(3) อิงจากช่วงใกล้ Bottom ของ Subprime ราคาทองคำและ S&P500 ปรับตัวลงพร้อมกัน 3 สัปดาห์ ก่อนจะแยกออกจากกัน โดยราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นนำไปก่อน แล้วหุ้นทั่วโลกค่อยฟื้นตัวขึ้นตาม ซึ่งรอบนี้ปรับตัวลงแรงพร้อมกัน 2 สัปดาห์ติดแล้ว คาดว่าเหลือ Downside อีกไม่เกิน 1-2 สัปดาห์
(4) ปัจจัยทางเทคนิคเริ่มเห็นการย่ำฐานแถว $1,450/Oz ขณะที่ Dollar Index ขึ้นทดสอบ 102-103 จุดที่เป็นแนวต้านสำคัญแล้วพลิกกลับมาทรุดตัวลงเร็ว
โดยกรอบการเคลื่อนไหว ราคาทอง ในช่วง 1 เดือนข้างหน้าที่ 1,430-1,650 เหรียญ
ขณะที่ ดัชนีดาวโจนส์ ได้ลบล้างช่วงบวกที่เคยทำไว้ทั้งหมด นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2559 โดยขณะนี้ดาวโจนส์ปรับตัวต่ำกว่าระดับปิดตลาดในวันที่ 8 พ.ย.2559 ซึ่งเป็นวันที่ปธน.ทรัมป์ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งเหนือนางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต เทากับว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯได้เข้าสู่ภาวะหมีอย่างเต็มตัว
ล่าสุด นางคริสตาลินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า IMF คาดว่า แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะติดลบ โดยอย่างน้อยที่สุดเศรษฐกิจก็จะเข้าสู่ภาวะถดถอยที่เลวร้ายพอๆ กับในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลก หรืออาจะเลวร้ายยิ่งกว่า
เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือการควบคุมและการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบสุขภาพในทุกๆ ประเทศ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะรุนแรง แต่ยิ่งเราหยุดไวรัสได้เร็วเท่าไหร่ เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวแข็งแกร่งและเร็วเท่านั้น
ด้าน โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจฉุดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลกหดตัวลงประมาณ 1% ในปีนี้ เนื่องจากการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของประเทศต่าง ๆ ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางทางเศรษฐกิจ
สำหรับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า GDP ที่แท้จริงของเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้จะหดตัวอย่างมากในไตรมาสสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐ ที่คาดว่าจะร่วงลงถึง 24%
ด้านกราฟเทคนิคจะเห็นได้ว่าราคาทองคำได้เคลื่อนไหวแบบไซด์เวย์มายาวนานกว่า 6 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2013 จนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2019 โดยมีระดับราคา 1,450 เหรียญ เป็นแนวต้านสำคัญที่ทองคำสามารถผ่านไปได้และทำให้พลิกกลับมาเป็นขาขึ้นได้
กราฟทองคำในระยะสั้นจะเห็นว่าระดับ 1,450 เหรียญยังเป็นแนวรับสำคัญที่เคยลงมาทดสอบแล้วหนึ่งครั้งในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วและยืนอยู่ได้และล่าสุดคือเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 16 มีนาคม โดยถูกเทขายอย่างหนักสามวันติดต่อกัน และสามารถยืนอยู่ได้ อาจจะเป็นสัญญาณว่าทองคำได้ฟื้นตัวแล้วและพร้อมที่จะเป็นขาขึ้น
ล่าสุดเช้านี้ (24 มีนาคม) ทองคำยังวิ่งต่อเนื่องเหนือระดับ 1,580 เหรียญ แนวต้านต่อไปตามแนว Fibonacci คือ 1,606 เหรียญ
ราคาทอง จะวิ่งทำจุดสูงสุดใหม่เหนือระดับ 1,900 เหรียญได้หรือไม่นั้น ต้องติดตามกันต่อไป ด้วยปัจจัยต่างๆได้เอื้อหนุน แต่นักลงทุนอย่าได้ประมาทเพราะตลาดการเงินในตอนนี้เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : QE คืออะไร?? กระทบต่อตลาดหุ้น ทองคำ อย่างไร??