ลงทะเบียนว่างงาน

เผยขั้นตอน ลงทะเบียนว่างงาน กับประกันสังคมกรณีได้รับผลกระทบโควิด-19

โดย SM1984

สำนักงานประกันสังคมเปิดเผยมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน กรณีสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงขั้นตอนการ ลงทะเบียนว่างงาน ดังนี้

          1. ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยให้ขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนจากภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ รวมทั้งภัยอื่นๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ หรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยให้

            – ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน อัตราร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน

            – กรณีหน่วยงานภาครัฐ มีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน ร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน

          2. เห็นชอบให้ลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอัตราร้อยละ 4 เป็นระยะเวลา 6 เดือน พร้อมทั้งยังเห็นชอบให้ขยายกำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 สำหรับงวดค่าจ้างเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม 2563 ออกไปอีก 3 เดือน 

โดยงวดค่าจ้างเดือนมีนาคม 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 กรกฎาคม 2563 สำหรับงวดค่าจ้างเดือนเมษายน 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 สิงหาคม 2563 และงวดค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 กันยายน 2563

          3. ในเรื่องการรักษาพยาบาล คณะกรรมการฯ มีมติให้ดูแลรักษาผู้ประกันตน ที่ป่วยจากไวรัสโควิด-19 ให้ดีที่สุดตามมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่กำหนด

          นอกจากนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นไม่ว่าในทางเศรษฐกิจหรือผลกระทบจากปัจจัยอื่นใด คณะกรรมการยังมีมติเห็นชอบให้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มขึ้นแก่ผู้ประกันตน ที่ว่างงานจากกรณีลาออก ร้อยละ 45 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน และจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนที่ว่างงาน จากกรณีเลิกจ้าง ร้อยละ 70 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน 

ทั้งนี้ มาตรการนี้ให้ใช้บังคับเป็นระยะเวลา 2 ปี หลังจากนี้คณะกรรมการฯ จะพิจารณาวิเคราะห์และมีมติพิจารณาอีกครั้ง

ลงทะเบียนว่างงาน ประกันสังคม

ขั้นตอนการ ลงทะเบียนว่างงาน 

ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จนต้องถูกเลิกจ้างงาน และเป็นผู้ส่งเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ขอให้รีบลงทะเบียนใช้สิทธิกรณีว่างงาน ได้ที่นี่ คลิก ภายใน 30 วันหลังจากถูกเลิกจ้าง โดยจะได้รับเงินชดเชย 50% ของค่าจ้างที่เคยได้รับในระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน

สิทธิ์ดังกล่าวเป็นสิทธิประโยชน์ตามปกติ ที่เมื่อผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกจากงานและว่างงาน เพราะรัฐหยุดกิจการ หรือนายจ้างหยุดกิจการ หรือเลิกจ้าง จะได้รับอยู่แล้ว

นอกจากนี้ เมื่อผู้ประกันตนต้องออกจากงาน แต่ยังส่งเงินสมทบโดยสมัครใจ จะกลายเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 รัฐบาลโดยสำนักงานประกันสังคมก็จะดูแลในส่วนนี้ รวมไปถึงผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอิสระหรือแรงงานนอกระบบด้วย

พูดง่ายๆ ก็คือ คนที่จะได้เงินค่าชดเชยดังกล่าวจะต้องเป็น ผู้ประกันตนที่ว่างงานซึ่งจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ว่างงาน และต้องเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบในกรณีว่างงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน

ส่วนจำนวนเงินชดเชยที่ประกันสังคมจะจ่ายให้นั้นอยู่ที่ 50% ของเงินค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 7,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน

สำหรับเอกสารที่ต้องใช้มีดังนี้

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (ถ้ามีจะต้องถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
  • สำเนาสมุดบัญชีธนาคารประเภทออมทรัพย์ (ยกเว้นออมสิน/ธกส./UOB/Land&House)
  • หนังสือรับรองการออกจากงาน หรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส.6-09)(ถ้ามี) กรณีไม่มีสำเนา สปส.6-09 สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้
  • หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากกงาน (ถ้ามี)

ผู้ประกันตนที่ต้องการ ลงทะเบียนว่างงาน ต้องเข้าไปรายงานในเว็บไซต์ตามวันเวลาที่กำหนด โดยค่าชดเชยรายได้จะถูกโอนเข้าบัญชีหลังรายงานตัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ในภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง มาตราการดังกล่าวจากประกันสังคมถือว่ามีส่วนบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง สำหรับผู้ที่ได้ประกันตนควรที่จะใช้สิทธิดังกล่าวหากประสบปัญหาถูกให้ออกจากงานจริงๆ หวังว่าในอีกไม่นานจะมีมาตราการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จากรัฐบาลออกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ถือได้ว่าเข้าขั้นภาวะวิกฤตและทุกระดับชั้นต่างประสบปัญหาทั้งสิ้น เชื่อว่าอีกไม่นานมันจะผ่านพ้นไป

ลงทะเบียนว่างงาน

บทความที่เกี่ยวข้อง : จะมีโอกาสเห็นดอกเบี้ยประเทศไทยติดลบหรือไม่??

Related Posts