ในที่สุดโลกก็ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้งในรอบ 12 ปี หลังจากวิกฤติซับไพร์มในปี 2008 โดยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลทั้งเศรษฐกิจจริงและภาคการเงิน แต่น่าจะเป็นดอกาสแจ้งเกิดของ บิทคอยน์ ?
โดยตลาดหุ้นทั่วโลกต่างตกอยู่ในสภาวะหมี (Bearish) จากการปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดมากกว่า 20% เช่นเดียวกับสินทรัพย์การลงทุนอื่นอย่างเช่นน้ำมันซึ่งเจอสองเด้งจากการที่ซาอุดิอาระเบียทุบราคาน้ำมันด้วย
แม้แต่ทองคำซึ่งเคยถูกมองว่าเป็น Safe Haven ก็ยังถูกเทขายด้วยเช่นกัน โดยเม็ดเงินที่อยู่ในระบบได้ไหลไปกองกันที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ดัชนีความผันผวน (VIX) ที่ปรับตัวขึ้นเท่ากับช่วงวิกฤติซับไพร์มได้บ่งบอกแล้วว่าโควิด-19สร้างปัญหาไปทั่วโลกจริงๆ
ขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัลอย่างบิทคอยน์ซึ่งถูกมองว่าน่าจะมีโอกาสแจ้งเกิดได้ในภาวะวิกฤติกลับถูกเทขายหนักยิ่งกว่าสินทรัพย์อื่นๆเสียอีก โดยปรับตัวลดลงกว่า 50% ลงมาทำโลว์ที่ระดับประมาณ 4,000 เหรียญ จากการวิเคราะห์พบว่าน่าจะเป็นการเทขายของนักลงทุนสถาบันเพราะมีวอลลุ่มเกิดขึ้นมหาศาล
สาเหตุที่ต้องเร่งขายออกมาเพื่อที่จะไปชดเชยผลการขาดทุนจากตลาดหุ้น ทำให้สินทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาอย่างทองคำและ บิทคอยน์ ถูกขายออกมาและน่าจะเป็นเป้าหมายในการกลับเข้าซื้ออีกครั้ง
อย่างไรก็ตามบิทคอยน์มีโอกาสที่จะกลับมาสร้างผลงานได้อย่างดีหากวิกฤติโควิด-19 เริ่มชะลอตัวลงได้ และมีโอกาสที่จะสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้อีกด้วย มาจากเหตุผลหลักคือสหรัฐฯได้ปั้มเงิน QE ออกมาแล้ว
QE สร้างฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ
ผู้ที่คิดค้นเครื่องมือนี้คือนายเบน เบอร์นันเก้ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯในยุคซับไพร์ม โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายที่ FED สามารถพิมพ์เงินใส่เข้าไปในระบบการเงินได้ในทันทีโดยไม่จำเป็นต้องมีทุนสำรองหนุนหลังเหมือนกับประเทศอื่นๆ
ยกตัวอย่างประเทศไทย ทุกครั้งหากจะมีการพิมพ์เงินหรือธนบัตรเข้ามาในระบบมากขึ้นจะต้องใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศมาหนุนหลังไม่ว่าจะเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯหรือทองคำ
แต่ธนาคารกลางใหญ่ของโลกทั้ง FED,ECB,BOJ สามารถพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบได้เองทันที
การเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องรวมถึงนำเงินเข้าไปอุดหนุนสินทรัพย์บางอย่างเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาด
ผลจากการทำ QE นอกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯที่สามารถฟื้นตัวได้แล้ว ยังมีผลทำให้สินทรัพย์อื่นอย่างราคาทองคำปรับตัวขึ้นไสร้างจุดสูงสุดตลอดกาลหรือ All Time High ได้ในที่สุด เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงและสภาพคล่องในระบบที่เหลือล้น
ราคาทองคำเริ่มออกตัวตั้งแต่ระดับ 715 เหรียญต่อออนซ์ในเดือนตุลาคม 2008 หลังจากที่มีการประกาศทำคิวอีครั้งแรกไปทำจุดสูงสุดตลอดกาลที่ระดับ 1920 เหรียญ ในเดือนกันยายน 2011 หรือปรับตัวเป็นขาขึ้นเกือบสามปีเต็ม ก่อนที่จะเป็นขาลงอย่างยาวนานหลังยกเลิกการทำคิวอีครั้งที่สาม โดยลงไปที่ระดับต่ำสุดเกือบ 1,000 เหรียญ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าผลจาการทำคิวอีจะมีแต่ผลดีเท่านั้น เพราะสิ่งที่ตามมาจากการอัดฉีดสภาพคล่องไปทั่วโลกก็คือ “เงิน” ที่มีอยู่ล้นโลก โดยแทบไม่ได้ลงไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงสักเท่าไร และส่วนมากเข้าไปเก็งกำไรในสินทรัพย์ต่างๆเช่นราคาอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมากมายให้กู้
นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่ม “หนี้” ให้เกิดขึ้นจำนวนมหาศาลทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่มีการทำคิวอีอย่างสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น โดยงบดุลของสหรัฐฯเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องจากระดับ 1ล้านล้านเหรียญ พอทำคิวอีทั้งสามครั้งได้พุ่งแตะ 4.5 ล้านล้านเหรียญและยังไม่สามารถลดงบดุลนี้ลงได้ เพราะการทำคิวอีคือการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของตัวเองหรือสร้างหนี้ให้กับตัวเองนั่นเอง
เช่นเดียวกับหนี้สาธารณะของสหรัฐฯที่ก่อนทำคิวอียังมีอยู่เพียง 9 ล้านล้านเหรียญ แต่หลังจากที่ทำคิวอีไปเรื่อยๆได้พุ่งขึ้นแตะ 20 ล้านล้านเหรียญ และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่เกิดหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล
ได้เวลาที่บิทคอยน์จะทะยานหรือยัง??
หลังไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดในสหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐฯหรือ FED ประชุมฉุกเฉินเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม 2563 และมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินลง 1.00% และเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯตอนนี้เหลือเพียง 0-0.25% ถือเป็นระดับต่ำที่สุดหลังจากเคยกดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับดังกล่าวในช่วงซับไพร์ม
การอัดฉีดสภาพคล่องและกดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำจะมีผลโดยตรงทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯด้อยค่าลงและยังสร้างปัญหาให้ภาคเศรษฐกิจอีกด้วยเพราะงบดุลของรัฐ หนี้สาธารณะ เพิ่มสูงขึ้นจากการซื้อหนี้ของตัวเอง แม้สหรัฐฯจะเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายมาในช่วงสี่ห้าปีก่อนหน้านี้และดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบไปแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถลดหนี้ส่วนนี้ได้
แล้วการด้อยค่าของของเงินดอลลาร์จึงอาจเป็นโอกาสของบิทคอยน์??
คำตอบคือ..ก็อาจจะเป็นไปได้เช่นกัน เพราะธรรมชาติของเงินย่อมไหลไปหาแหล่งที่ให้ผลตอบแทนสูง ยิ่งตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงเพราะ ไวรัสโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก
ขณะที่ราคาน้ำมันก็ถูกกดดันโดยซาอุดิอาระเบียที่ยังคงทำสงครามกดราคาเอาไว้ สินทรัพย์ที่ถูกมองว่าจะเป็นพระเอกก็คือทองคำจากการที่ถูกมองเป็น Safe Haven ในภาวะวิกฤต ถ้าหากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจะผลักดันให้ทองคำพุ่งไปได้ไกล
บิทคอยน์ อาจจะได้รับอานิสงจากสภาพคล่องส่วนเกินที่ถูกอัดฉีดออกมาประกอบกับสตอรี่ของการ Harlving ที่จะเกิดขึ้น ราคาล่าสุดที่สามารถกลับมายืนเหนือระดับ 6,000 เหรียญได้ โดยไม่ลงไปต่ำกว่าโลว์เก่าที่ 3,200 เหรียญ ทำให้สมมุติฐานของการเตรียมตัวเข้าเวฟสามตามทฤษฎี Elliot Wave ยังเป็นไปได้อยู่ ในแง่มุมการลงทุนก็อาจทำให้นักลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบันแห่เข้ามาดันราคาบิทคอยน์ได้เช่นกัน
หากเงินดอลลาร์จะสูญเสียมูลค่าไปจากการทำ QE รอบนี้ มีโอกาสที่จะเกิด Bitcoin Standard ขึ้นได้เช่นกัน เพราะทองคำยังมีความคล่องตัวในการเป็นสกุลเงินที่น้อยกว่าบิทคอยน์ แม้จะมีความเป็นที่เก็บมูลค่า (Store Of Value) ในตัวเอง แต่ลองคิดดูว่าคงจะนำทองคำมาใช้แทนเงินจริงๆคงลำบาก
ขณะที่บิทคอยน์เกิดมารองรับกับกระแส Cashless Society อยู่แล้วเพราะทำงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหมด และถ้าจำกันได้หลังวิกฤตซับไพร์มที่มีการทำ QE นี่ล่ะที่เป็นการแจ้งเกิดให้บิทคอยน์อย่างแท้จริง
บิทคอยน์ยังต้องพิสูจน์ตัวเองอีก
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางกราฟเทคนิค,การเกิด Harlving,สภาพคล่องส่วนเกินจาก QE อาจหนุนราคาบิทคอยน์ได้ แต่อย่างไรบิทคอยน์จะต้องพิสูจน์ตัวเองในการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นสกุลเงินใหม่ของโลก ทั้งในเรื่องของการยอมรับจากทางการ ปริมาณการใช้จ่ายจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งในแง่ของทางฝั่ง Supply ถือว่าพิสูจน์ได้แล้วจากการจำกัดจำนวนเพียง 21 ล้านหน่วย
ส่วนฝั่งดีมานด์ต้องติดตามกันว่า บิทคอยน์ จะได้รับการยอมรับในการเป็นสกุลเงินที่มีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงสินทรัพย์การเก็งกำไรเท่านั้น ท่ามกลางวิกฤตจะเป็นคำตอบ
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : รีวิว Bitazza โบรกเกอร์สินทรัพย์ดิจิทัลน้องใหม่ที่ไม่ธรรมดา!!