ในที่สุดอัตรา ดอกเบี้ย แท้จริงของไทยก็เข้าสู่แดนลบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลัง กนง.มีมติด่วนให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เหลือ 0.75% ถือเป็นการสร้างสถิติใหม่อีกครั้งที่ดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% คำถามคือมีโอกาสมากน้อยเพียงใดที่ประเทศไทยจะมีดอกเบี้ยนโยบายติดลบเช่นเดียวกับประเทศในยุโรป
จากการที่ วันที่ 20 มีนาคม 2563 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการประชุมนัดพิเศษเพื่อประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและกลไกการทำงานของตลาดการเงินของประเทศ โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยให้มีผลในวันที่ 23 มีนาคม 2563
เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ บรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ออกมาแล้วและจะออกมาเพิ่มเติม
ผลจากการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้เหลือ 0.75% ส่งผลให้ดอกเบี้ยแท้จริงของไทยติดลบเพิ่มเป็น -0.30% หากอ้างอิงจากรายงานอัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค. 63 ซึ่งอยู่ที่ 1.05% ของกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับล่าสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ทั้งนี้ประเทศไทยเคยอยู่ในภาวะ ดอกเบี้ยแท้จริง ติดลบมาแล้วในช่วงปี 2553-2554 ที่ระดับ -1.22%
ทั้งนี้สูตรการคิดอัตราดอกเบี้ยแท้จริงต้องนำดอกเบี้ยเงินฝากหักเงินเฟ้อออกไป เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก 1% แต่มีอัตราเงินเฟ้อ 1.5% เท่ากับว่าดอกเบี้ยแท้จริงเท่ากับ -0.5%
การที่ดอกเบี้ยแท้จริงติดลบหมายความว่าผู้ที่ฝากเงินอยู่แทบจะไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆเพราะถูกเงินเฟ้อที่สูงกว่ากดเอาไว้ พูดง่ายๆคือผลตอบแทนที่ได้ต่ำกว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ดอกเบี้ยแท้จริงติดลบใครที่เสียหาย?? และดอกเบี้ยนโยบายไทยจะติดลบได้หรือไม่??
แน่นอนว่าผู้ที่ฝากเงินในธนาคารหรือลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจะได้รับผลกระทบเนื่องจากผลตอบแทนที่ได้จะลดลงรวมถึงผู้ที่ลงทุนในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคมรวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่พอร์ตส่วนใหญ่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่จะต้องมีผลตอบแทนลดลงไปด้วย
หลังจากดอกเบี้ยแท้จริงติดลบไปแล้วสิ่งที่จับตาต่อไปคือดอกเบี้ยนโยบายของเราจะมีโอกาสติดลบด้วยหรือไม่??
ปัจจุบันมีธนาคารกลางยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และญี่ปุ่น ที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ แม้ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ของประเทศเหล่านี้จะไม่ปล่อยให้ ดอกเบี้ย เงินฝากติดลบไปด้วยเพราะจะกระทบต่อผู้ฝากเงินและฐานเงินทุนของธนาคาร
แต่ปลายปีที่ผ่านมาธนาคารในเดนมาร์กและสวิตเซอร์แลนด์ประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบแล้ว โดยจะเริ่มใช้กับลูกค้าที่มีเงินฝากจำนวนมากก่อน โดยผู้ฝากจะต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมในการฝากเงินให้กับธนาคาร
ข้อสังเกตุของประเทศที่ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบคืออัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงเงินฝืดแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่คงอัตราดอกเบี้ยต่ำมายาวนานและยังไม่สามารถทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้เลยตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา
ขณะที่ประเทศไทยแม้อาจไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะถึงขั้นใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบหรือไม่ แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจกำลังบีบให้ไปในทิศทางนั้น!!
เริ่มจากแนวโน้มเงินเฟ้อหลังจากนี้คาดว่ายากที่จะปรับตัวขึ้นเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ถูกหยุดชะงักจำนวนมาก ประกอบกับราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญไม่น่าที่จะอยู่ในระดับสูงนักจากสงครามราคาน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย
ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยแม้ว่าจะลดลงมากต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์แล้ว แต่ต้องบอกว่ายังมีช่องว่างให้ลดลงได้อีกถึงสองครั้งๆละ 0.25% ซึ่งจะไปหยุดที่ระดับ 0.25% แต่หากดูเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในเอเชีย ยังไม่เห็นประเทศใดที่จะเกิดอัตราดอกเบี้ยติดลบ
สรุปคือโอกาสที่ประเทศไทยจะเผชิญกับ ดอกเบี้ย แท้จริงติดลบน่าจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่จะได้เห็นดอกเบี้ยนโยบายติดลบหรือไม่นั่นต้องติดตามกันต่อไป
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : QE คืออะไร?? กระทบต่อตลาดหุ้น ทองคำ อย่างไร??