หลังจากที่มีการงัดมาตราการผ่อนคลายทางการเงินหรือ QE ขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรกในปี 2008 และดำเนินการใช้อย่างยาวนานมากว่า 5 ปีถึงจะยุติในปี 2013 ในที่สุดธนาคารกลางสหรัฐฯหรือ FED ได้มีการนำมาตราการ QE กลับมาใช้อีกครั้งเพื่อหวังทุเลาผลกระทบจากวิกฤตครั้งใหม่นั่นคือไวรัสโควิด19 แต่อย่าลืมว่าทุกครั้งที่เกิดการอัดฉีดสภาพคล่อง จะต้องมีทั้งผู้ได้และเสียประโยชน์ รวมถึงผลกระทบที่จะตามมาต่อเศรษฐกิจโลก
ถือเป็นเซอร์ไพร์สครั้งใหญ่ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯหรือ FED ประชุมฉุกเฉินเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม 2563 และมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินลง 1.00% และเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯตอนนี้เหลือเพียง 0-0.25% ถือเป็นระดับต่ำที่สุดหลังจากเคยกดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับดังกล่าวในช่วงซับไพร์มไครซิส
นอกจากนี้ยังเป็นการลดดอกเบี้ยรวดเดียวกว่า 1.5% ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ หลังก่อนหน้านี้ FED เพิ่งลดดอกเบี้ยไป 0.5% ในวันเดียว เป็นครั้งแรกในรอบสิบปีหลังพบว่าไวรัสโควิด19ได้แพร่ระบาดในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว
แต่ที่เซอร์ไพร์สยิ่งกว่าคือการประกาศนำนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องหรือว่า QE (Quantitative Easing) กลับมาใช้อีกครั้งหลังจากที่ FED เป็นผู้เริ่มใช้เครื่องมือนี้เพื่อสะกัดปัญหาวิกฤตซับไพร์มไม่ให้บานปลาย ต่อมาธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ก็ดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน
ผู้ที่คิดค้นเครื่องมือนี้คือนายเบน เบอร์นันเก้ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯในยุคซับไพร์ม โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายที่ FED สามารถพิมพ์เงินใส่เข้าไปในระบบการเงินได้ในทันทีโดยไม่จำเป็นต้องมีทุนสำรองหนุนหลังเหมือนกับประเทศอื่นๆ
ยกตัวอย่างประเทศไทย ทุกครั้งหากจะมีการพิมพ์เงินหรือธนบัตรเข้ามาในระบบมากขึ้นจะต้องใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศมาหนุนหลังไม่ว่าจะเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯหรือทองคำ
แต่ธนาคารกลางใหญ่ของโลกทั้ง FED,ECB,BOJ สามารถพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบได้เองทันที!!
การเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องรวมถึงนำเงินเข้าไปอุดหนุนสินทรัพย์บางอย่าง เช่น ครั้งล่าสุดนี้จะเข้าซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันที่ออกโดยหน่วยงานรัฐ จำนวน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และซื้อพันธบัตรรัฐบาล อีก 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
Sub Prime Crisis วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลกนับตั้งแต่ปี 1930
อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำช่วงที่ อลัน กรีนสแปน เป็นประธานเฟด สินเชื่อซับไพรม์ หรือ สินเชื่อชั้นรอง ที่ปล่อยให้แก่ผู้กู้ยืมซึ่งไม่มีคุณสมบัติครบถ้วน เปิดโอกาสให้คนอเมริกันซื้อบ้านได้แบบไม่มีเงินดาวน์และด้วยดอกเบี้ยที่น่าดึงดูดใจในระยะสั้น จนดันให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟู มูลค่าบ้านเพิ่มขึ้น คนอเมริกันใช้จ่ายกันอย่างเพลิดเพลิน หุ้นพุ่งขึ้นไป 102% ช่วงเดือนต.ค.2545-2550
จนกระทั่งเมื่อราคาบ้านเริ่มลดลง ผู้กู้ยืมจำนวนมากเริ่มผิดนัดชำระหนี้ วาณิชธนกิจอย่างแบร์สเติร์น กับเลห์แมนบราเธอร์ส ที่มีหนี้ซับไพรม์ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่ จึงขาดทุนมหาศาลและล้มครืน เหตุการณ์นี้นำไปสู่วิกฤติการเงินและภาวะถดถอยที่รุนแรงที่สุด นับจากภาวะถดถอยครั้งใหญ่ (Great Depression)
ย้อนรอยการทำ QE 3 ครั้งที่ผ่านมา
หลังจากเกิดวิกฤตซับไพร์มซึ่งมีต้นเหตุมาจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงจากผลขาดทุนตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อสังหาริมทรัพย์หนุนหลังหรือ CDS ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯต้องงัดมาตรการแรกออกมาคือการลดดอกเบี้ยให้เหลือ 0% ในเดือนธันวาคม ปี 2008 และคงอัตราดอกเบี้ยต่ำยาวนานจนถึงปี 2015
QEครั้งนี้ที่ 1 วงเงิน 600,000 ล้านเหรียญ
หลังจากดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลงกว่า 46% เดือนพฤศจิกายน 2008 ธนาคารกลางสหรัฐฯได้อัดฉีด QE ครั้งแรกวงเงิน 600,000 ล้านเหรียญ โดยเข้าซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อเงินกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ (Mortgage Back Securities:MBS) ผลคือตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวขึ้น 37%
QEครั้งนี้ที่ 1 ส่วนขยายวงเงิน1.25 ล้านล้านเหรียญ
มีนาคม 2009 ธนาคารกลางสหรัฐฯได้ประกาศเพิ่มวงเงินการทำ QE อีกรอบโดยยังคงเป็นสินทรัพย์ประเภท MBS เพื่อพยุงตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ผลจากการอัดฉีดครั้งนั้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯบวกได้ถึง 51%
QEครั้งนี้ที่ 2 วงเงิน 600,000 ล้านเหรียญ
พฤศจิกายน 2010 เบน เบอร์นันเก้เริ่มออกมาใบ้ว่าจะใช้นโยบายQEอีกรอบทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวขึ้นมาก่อน 18% พอประกาศใช้อย่างเป็นทางการก็บวกขึ้นอีก 11% โดยเป็นการเข้าซื้อพันบัตรระยะยาวเดือนละ 75,000 ล้านเหรียญ โดยสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2011
ปฎิบัติการ Operation Twist
เป็นเครื่องมือเสริมจาการทำQEโดยเป็นการปรับสัดส่วนการถือครองพันธบัตรของเฟดให้เป็นตราสารระยะยาวมากขึ้น และลดการถือครองตราสารระยะสั้น หรือก็คือการยืดอายุการชำระหนี้ออกไป โดยมีเป้าหมายเพื่อกดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น เลี่ยงการเก็งกำไร และกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเริ่มขึ้นในเดือนกันยายน 2011 ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯบวกไป 33%
QEครั้งนี้ที่ 3 วงเงิน 40,000 ล้านเหรียญ
กันยายน 2012 ธนาคารกลางสหรัฐฯได้ประกาศการทำคิวอีในครั้งที่สามโดยกลับเข้ามาซื้อตราสารที่มีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หนุนหลังอีกครั้งในวงเงินเดือนละ 40,000 เหรียญ จุดประสงค์เพื่อดันให้ตลาดแรงงานกลับมาฟื้นตัวให้ได้ ก่อนจะมีการขยายไปซื้อพันธบัตรระยะยาวเพิ่มเติม
ธันวาคม 2013 หลังจากดำเนินนโยบาย QE มายาวนานกว่า 5 ปีในที่สุดธนาคารกลางสหรัฐฯก็ได้ทำการดูดสภาพคล่องในตลาดคืนหรือยกเลิกการทำคิวอีแล้วนั่นเอง โดยมีการดูดซับคืนเดือนละ 10,000 ล้านเหรียญ จนกระทั่งสิ้นสุดในเดือนตุลาคม 2014
เดือนธันวาคม 2015 ธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2006 ถือเป็นการยุติการอัดฉีดสภาพคล่องที่กินระยะเวลานานมากว่า 7 ปี และทำให้แนวโน้มดอกเบี้ยของโลกกลับมาเป็นขาขึ้น
ทองคำพุ่งทำนิวไฮหุ้นไทยแตะ 1,000 จุด
ผลจากการทำQEนอกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯที่สามารถฟื้นตัวได้แล้ว ยังมีผลทำให้สินทรัพย์อื่นอย่างราคาทองคำปรับตัวขึ้นไสร้างจุดสูงสุดตลอดกาลหรือ All Time High ได้ในที่สุด เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงและสภาพคล่องในระบบที่เหลือล้น
ราคาทองคำ เริ่มออกตัวตั้งแต่ระดับ 715 เหรียญต่อออนซ์ในเดือนตุลาคม 2008 หยังจากที่มีการประกาศทำคิวอีครั้งแรกไปทำจุดสูงสุดตลอดกาลที่ระดับ 1920 เหรียญ ในเดือนกันยายน 2011 หรือปรับตัวเป็นขาขึ้นเกือบสามปีเต็ม ก่อนที่จะเป็นขาลงอย่างยาวนานหลังยกเลิกการทำคิวอีครั้งที่สาม โดยลงไปที่ระดับต่ำสุดเกือบ 1,000 เหรียญ ก่อนจะค่อยๆฟื้นตัวในเวลาต่อมา
ขณะที่ดัชนี SET Index ของไทยหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตซับไพร์มจนทำให้ดัชนีลงไปแตะระดับต่ำสุด 383 จุดในเดือนตุลาคม 2008 จากจุดสูงสุด 910 จุด หรือลดลงไปเกือบสามเท่า แต่หลังจากที่ได้เม็ดเงินจากการทำQEเข้ามาทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็นขาขึ้นยาวนานเกือบ 5 ปีและขึ้นไปแตะระดับ 1600 จุดในเดือนพฤษภาคมปี 2013 ก่อนจะเคลื่อนไหวออกข้างไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาลหรือ All Time High ในเดือนมกราคม 2018 ที่ระดับ 1,857 จุด ก่อนจะเป็นขาลงมาตลอดสองปีจนถึงปัจจุบัน
ซาตานที่แฝงอยู่ใน QE
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าผลจาการทำคิวอีจะมีแต่ผลดีเท่านั้น เพราะสิ่งที่ตามมาจากการอัดฉีดสภาพคล่องไปทั่วโลกก็คือ “เงิน” ที่มีอยู่ล้นโลก โดยแทบไม่ได้ลงไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงสักเท่าไร และส่วนมากเข้าไปเก็งกำไรในสินทรัพย์ต่างๆเช่นราคาอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมากมายให้กู้
นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่ม “หนี้” ให้เกิดขึ้นจำนวนมหาศาลทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่มีการทำคิวอีอย่างสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น โดยงบดุลของสหรัฐฯเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องจากระดับ 1ล้านล้านเหรียญ พอทำคิวอีทั้งสามครั้งได้พุ่งแตะ 4.5 ล้านล้านเหรียญและยังไม่สามารถลดงบดุลนี้ลงได้ เพราะการทำคิวอีคือการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของตัวเองหรือสร้างหนี้ให้กับตัวเองนั่นเอง
เช่นเดียวกับหนี้สาธารณะของสหรัฐฯที่ก่อนทำคิวอียังมีอยู่เพียง 9 ล้านล้านเหรียญ แต่หลังจากที่ทำคิวอีไปเรื่อยๆได้พุ่งขึ้นแตะ 20 ล้านล้านเหรียญ และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่เกิดหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล
นอกจากนี้ยังทำให้ยุโรปและญี่ปุ่นติดกับดักดอกเบี้ยต่ำ เพราะตั้งแต่เริ่มต้นทำคิวอีตามหลังสหรัฐฯมา อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปก็ไม่สามารถที่จะปรับตัวขึ้นได้อีกเลย โดยปัจจุบันยังอยู่ในระดับใกล้เคียง 0% ขณะที่บางประเทศให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่ติดลบ ส่วนญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้จนถึงวันนี้และยังคงมีอัตราดอกเบี้ยติดลบ
ต้องจับตาต่อไปว่าการทำคิวอีในยุค 2.0 นี้จะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯและของโลกฟื้นตัวได้จากวิกฤตไวรัสโควิด19หรือไม่หรือจะเป็นเพียงการกลับมาปั่นฟองสบู่ครั้งใหญ่อีกครั้ง
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : หุ้นปันผล ทางเลือกลงทุนในภาวะดอกเบี้ยต่ำ