กองทุนพยุงหุ้น

กองทุนพยุงหุ้น จำเป็นมากน้อยเพียงใดและทำได้จริงหรือไม่

โดย SM1984

ท่ามกลางภาวะตลาดการลงทุนที่ผันผวนอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ดัชนี SET Index ปรับตัวลดลงในระดับที่สูงติดอันดับต้นๆของโลก ทำให้ภาครัฐนำโดยดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายหรัฐมนตรีได้มีความเห็นที่จะจัดตั้ง กองทุนพยุงหุ้น ขึ้นเพื่อประคองตลาดหุ้นไม่ให้ลดลงมากกว่านี้ 

แต่ในความเป็นจริงกองทุนดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ในเชิงปฎิบัติมากน้อยเพียงใด?

สัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index ของไทยจำเป็นต้องงัดมาตราการระงับการซื้อขายชั่วคราวหรือ Circuit Breaker ออกมาใช้ถึงสองครั้งคือวันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคมและศุกร์ที่ 13 มีนาคม โดยตลาดหลักทรัพย์ปิดทำการซื้อขายสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ 14.00 จุด หรือ +1.26% มูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์สูงถึง 119,659.78 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากนับอัตราผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีของ SET Index พบว่าติดลบลงมาถึง 28.7% ในระดับใกล้เคียงกับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด19 อย่างอิตาลี สเปน

ทั้งนี้ในอดีตประเทศไทยเคยมีการจัดตั้ง กองทุนพยุงหุ้น มาแล้วสี่ครั้งในช่วงภาวะวิกฤตคือ

เหตุการณ์ Black Monday 1987 วงเงิน 1,000 ล้านบาท

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 1992 วงเงิน 10,000 ล้านบาท

เหตุการณ์วิกฤตต้มยำกุ้ง 1998 วงเงิน 30,000 ล้านบาท

เหตุการณ์ถล่มตึกเวิล์ดเทรดเซนเตอร์ 2001 วงเงิน 10,000 ล้านบาท

นักการเงินออกโรงติงไม่เหมาะสม

ดร.สันติ กีระนันท์ อดีตรองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น เนื่องจากตลาดหุ้นไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก รัฐต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการตั้งกองทุน

“ลองคิดดูเร็ว ๆ ครับว่า เมื่อปี 2540 ในคราวที่มีวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้น ขนาดของตลาดหลักทรัพย์ในขณะนั้นที่วัดด้วยมูลค่าหลักทรัพย์รวมทั้งตลาดประมาณ 1.13 ล้านล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันนี้ ขนาดของตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 14.42 ล้านล้านบาท หรือโตขึ้นมาประมาณ 12.76 เท่า ดังนั้น ถ้าในอดีตเคยตั้งกองทุนมีขนาดประมาณ 30,000 ล้านบาท ปัจจุบันจะต้องตั้งเท่าไร”

ขณะที่ ศ.ดร.สุชาติ​ ธา​ดา​ธำร​ง​เวช อดีต​รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง​ ได้แสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กองทุนพยุงหุ้น โดยให้เหตุผลว่าไม่มีรัฐบาลใดในโลกสามารถอุ้มตลาดหุ้นได้และยังเป็นการนำเอาภาษีของประชาชนไปลงทุนซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์คือนายทุนเท่านั้น ที่สำคัญ หุ้นเป็นทรัพย์สิน​ไม่ใช่​การผลิต ที่จ้างงาน​และสร้างรายได้​ รวมถึงนักลงทุนต้องรับความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดให้ได้

... อนุมัติเกณฑ์ใหม่กอง SSF ลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติม

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2563 ได้ลงนามในประกาศ ก.ล.ต. เรื่องรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม เพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund หรือ SSF) ที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเรียบร้อยแล้ว

พร้อมกับประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งและการจดทะเบียนของกองทุนดังกล่าวให้กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) โดยจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

“สำหรับ บลจ. ที่ประสงค์จะจัดตั้งกองทุน SSF ดังกล่าว สามารถส่งร่างเอกสารจัดตั้งกองทุนให้ ก.ล.ต. พิจารณาล่วงหน้าได้ และสำหรับกองทุนที่มีลักษณะไม่ซับซ้อนจะพิจารณาอนุมัติการจัดตั้งแบบอัตโนมัติ (auto-approval)” นางสาวรื่นวดี กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 มีมติให้ประชาชนทั่วไปหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุน SSF ที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท

โดยแยกจากวงเงินหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF กรณีปกติ และไม่อยู่ภายใต้เพดานวงเงินหักลดหย่อนรวมในกองทุนเพื่อการเกษียณทั้งหมด โดยต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี

กรณีศึกษารัฐบาลญี่ปุ่นสั่งกองทุนบำเหน็จบำนาญเพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้น

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตซับไพร์มในปี 2008 ไม่มีปรากฎว่ามีรัฐบาลใดที่ตั้ง กองทุนพยุงหุ้น เพื่อมาช้อนซื้อหุ้นในภาวะที่ตลาดตกต่ำ มีเพียงรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีคำสั่งให้กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (Pension Fund) เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นในประเทศมากขึ้นและนโยบายดังกล่าวยังคงมาถึงปัจจุบัน

รวมถึงออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้นสำหรับนักลงทุนบุคคล เช่นยกเว้นค่าธรรมเนียมซื้อขายรวมถึงแพกเกจค่าธรรมเนียมแบบเหมาจ่ายเพื่อกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เข้ามาลงทุนมากขึ้น ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นมาได้

กองทุนพยุงหุ้น จึงเป็นคำถามสำคัญว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ที่จะนำเงินภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งมีเพียงไม่ถึง 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะการเข้าไปช่วยส่งเสริมความมั่งคั่งของนายทุนผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีความร่ำรวยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : หุ้นปันผล ทางเลือกลงทุนในภาวะดอกเบี้ยต่ำ

ทำไมตลาดหุ้นไทยถึงติดลบถึง 30% YTD หนักที่สุดในโลก!!

Related Posts