ในที่สุด SET Index ของไทย ก็ต้องงัดมาตราการ Circuit Breaker หรือระงับการซื้อขายชั่วคราวออกมาใช้เป็นครั้งที่สี่ในประวัติศาสตร์ หลังเปิดตลาดภาคบ่าย ของวันพฤหัสฯที่ 12 มีนาคม ดัชนีติดลบเท่ากับ 10% นอกจากตลาดหุ้นไทย ยังมีตลาดหุ้นฟิลิปปินส์อีกแห่งที่ต้องพักการซื้อขาย หลังจากเมื่อคืนก่อน ดัชนี Dow Jones ต้องพักการซื้อขายเช่นกันหลังลดลงกว่า 7%
ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่าดัชนี SET Index ของไทยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาปรับตัวลดลงมาแล้วประมาณ 30% ลดลงมากที่สุดในโลก!!
หากนับวันปิดตลาดถึงวันที่ 12 มีนาคม 2563 รองลงมาจากตลาดหุ้นไทยที่ติดลบมากที่สุดรองลงมาคือตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลบลงมา 27%,อันดับสามคือตลาดหุ้นเยอรมันนีลบลง 25%,ตลาดหุ้นญี่ปุ่นลบลง 21% เช่นเดียวกับเวียดนามที่ลบ 21%
ทำไมตลาดหุ้นไทยถึงติดลบมากที่สุดในโลก?? ทั้งที่การระบาดของไวรัสโควิด19 (เท่าที่มีการรายงาน) ไม่ได้สูงไปกว่าประเทศอื่นมากนัก
1. เม็ดเงินลงทุนต่างชาติออกจากประเทศไทยหลายปีแล้ว
Bloomberg ระบุว่าตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยติดอยู่ในอันดับที่สองของประเทศที่มีเม็ดเงินฟันด์โฟลว์ของต่างชาติไหลออกมากที่สุด โดยไหลออกกว่า 64,327.7 ล้านบาท เป็นรองเกาหลีใต้ที่มีเม็ดเงินไหลออก 210,824.7 ล้านบาท
ขณะที่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2558 ถึงวันที่ 10 มีนาคม 2563 มียอดรวมอยู่ที่ 499,205 ล้านบาทเข้าไปแล้ว โดยมียอดฟันด์โฟลว์ติดลบทุกปียกเว้นปี 2559 เห็นได้ชัดว่านักลงทุนต่างชาติออกจากตลาดหุ้นไทยไปจำนวนมาก ทำให้ไม่มีแรงซื้อมาช่วยพยุงตลาด
2. หุ้นไทยไม่ได้ถูกแม้จะลงมาเยอะแล้วก็ตาม
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่ระดับ 14.1 เท่า และ 15.7 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.6 เท่า และ 14.8 เท่าตามลำดับ หมายความว่าก่อนหน้านี้ ตลาดหุ้นไทย “ไม่ได้ถูก” แม้จะปรับตัวลดลงมาเยอะแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ หลังปิดตลาดวันพฤหัสฯที่ 12 มีนาคม 2563 ดัชนี SET Index มีการซื้อขายที่ค่า P/E 12.84 เท่า ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่อยู่ระดับ 12-14 เท่า แม้จะไม่แพง แต่ภายในสองไตรมาสข้างหน้ามีแนวโน้มสูงที่ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยจะปรับตัวลดลงอีกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ จึงมีแนวโน้มที่ค่า P/E จะถูกปรับให้แพงขึ้นอีก
3. โดนวิกฤตราคาน้ำมันอัดซ้ำ
วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างหนักจากการที่ราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลงกว่า 30% ภายในเวลาแค่สองวันทำการ ทำให้หุ้นพลังงานอย่างกลุ่มปตท.ถูกเทขายอย่างหนัก โดยเฉพาะ PTTEP ที่ติดลบหนักร่วงติดฟลอร์เป็นครั้งแรก
การที่หุ้นกลุ่มพลังงานมีสัดส่วนในตลาดหุ้นไทยกว่า 20% เมื่อปรับตัวลงแรงทำให้ฉุดทั้งตลาดลงแรงไปด้วย
4. หุ้นโรงไฟฟ้า–ไฟแนนซ์เอาไม่อยู่
ปี 2562 ที่ผ่านมาแม้ว่าผลตอบแทนทั้งปีของ SET Index จะยังให้รีเทิร์นเป็นบวก (1%) แต่หุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่ม SET100 ที่ช่วยพยุงตลาดมีเพียงแค่กลุ่มโรงไฟฟ้าอย่าง GULF,BGRIM,GPSC,EGCO รวมถึงกลุ่มไฟแนนซ์อย่าง KTC TISCO และหุ้นอาหารบางตัวอย่าง OSP ประกอบกับหุ้นไอพีโอขนาดใหญ่อย่าง AWC ที่เข้าซื้อขาย การให้ผลตอบแทนบวก 1% ของหุ้นไทยปีที่แล้วจึงถือว่าไม่สมดุล เพราะหุ้นขนาดใหญ่อื่นๆอย่างค้าปลีก เทเลคอม อสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารที่มีมารเกตแคปอันดับสอง ต่างสร้างผลตอบแทนได้ไม่ดีนัก
5. Blocktrade และการใช้วงเงิน Margin
ตลาดหุ้นไทยมีการปล่อยเงินกู้ให้เทรดแบบใช้มาร์จินเป็นจำนวนมากรวมถึงการทำธุรกรรม Blocktrade เมื่อราคาหุ้นตกลงอย่างรวดเร็ว โบรกเกอร์จะเร่งบังคับขายออกมาเป็นต้นเหตุทำให้ราคาหุ้นร่วงเร็วมากขึ้น ข้อสังเกตคือหุ้นที่ขึ้นมาเยอะๆอย่างกลุ่มโรงไฟฟ้าและไฟแนนซ์ ถูกเทขายอย่างหนักกว่ากลุ่มอื่นๆในวันที่มีการใช้ Circuit Breaker
อย่างไรก็ตามยังพอมีเรื่องดีคือจากสถิย้อนหลังระบุว่าหลังจาก Circuit Breaker ถูกนำมาใช้ ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นได้หลังจากนั้น
บริษัทหลักทรัพย์เอเชียพลัส ออกบทวิเคราะห์สถิติเก่าหลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์นำมาตราการ Circuit Breaker มาใช้ ดัชนี SET Index จะมีการฟื้นตัวขึ้นแรงทุกครั้ง โดยหากย้อนไปในปีที่มีการใช้มาตราการระงับการซื้อขายชั่วคราวดังกล่าว 1 สัปดาห์ให้หลังจะมีสถิติการปรับตัวขึ้นของ SET Index ดังนี้
ครั้งที่ 1 เดือนธันวาคม 2549 ปรับตัวขึ้น 10.7%
ครั้งที่ 2 ต้นเดือนตุลาค 2551 ปรับตัวขึ้น 4.3%
ครั้งที่ 3 ปลายเดือนตุลาคม 2551 ปรับตัวขึ้น 15.9%
แต่นี่เป็นเพียงสถิติย้อนหลังเท่านั้นไม่ได้หมายความว่าการปรับตัวลงรอบนี้จะเป็นไปตามสถิติเก่าเสมอไป เพราะจากตัวเลขต่างๆได้บอกว่าตลาดหุ้นไทยไม่ได้เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติเลย
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : หุ้นปันผล ทางเลือกลงทุนในภาวะดอกเบี้ยต่ำ