หากพูดถึงประเด็นการลงทุนในช่วงนี้ คงไม่มีข่าวใดที่จะกระทบกับ Sentiment นักลงทุน มากเท่ากับเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ซึ่งในขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก และการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็วในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้กระทบต่อตลาดการเงิน การลงทุนอย่างหนัก ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผลตอบแทนของสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้นในภูมิภาคต่างๆ ปรับลดลงอย่างมาก ขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ และพันธบัตรกลับปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยสำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ได้ปรับลดลงมากถึง -8.41% และภายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ( 21-28 กุมภาพันธ์.) ก็ปรับตัวลดลงแรงถึง -11.49% ถือว่าเป็นการปรับตัวลดลงแรงในช่วง 1 สัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่ Hamburger Crisis ช่วงปี 2008
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจับตามองไม่แพ้กันคือการ เลือกตั้งสหรัฐฯ เริ่มจากศึกการเลือกผู้แทนของพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกัน หรือที่เรียกว่าการเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Election) เพื่อสรรหาตัวแทนผู้ลงคะแนน (Delegates) เพื่อเลือกตัวแทนพรรคในวันประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรค (Party National Convention) ในเดือนกรกฎาคมนี้ ทางด้านพรรครีพับลิกัน ผู้ชนะต้องได้รับคะแนนเสียงทั้งหมด 1,276 เสียง จากทั้งหมด 2,550 เสียง โดยมีผู้สมัครที่ต้องจับตามองอยู่ 2 คน
คนแรกก็คือประธานาธิบดีคนปัจจุบัน Donald Trump และคนที่สองคือ Bill Weld อดีตนายกรัฐมนตรีรัฐแมสซาซูเส็ตส์ ช่วงปี 1991 – 1997 แต่จากผลของการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้น คะแนนของ Donald Trump ได้รับทั้งหมด 144 เสียง ทิ้งห่าง Bill Weld ที่ได้คะแนนเพียง 1 เสียง สะท้อนให้เห็นแล้วว่าตัวแทนพรรคครั้งนี้ ฟันธงได้เลยว่าหนีไม่พ้นแชมป์เก่าอย่าง Donald Trump ที่ชูนโยบาย Keep America Great เหมือนเดิมอย่างแน่นอน
ด้านพรรคเดโมแครตนั้น ตรงกันข้ามยังไม่มีผู้สมัครที่สามารถบอกได้แน่นอนว่า คู่แข่งศึกการ เลือกตั้งสหรัฐฯ ในครั้งนี้จะเป็นใคร โดยมีผู้สมัครที่เป็นตัวเต็งจำนวนมาก เช่น Bernie Sanders และ Elizabeth Warren ที่ค่อนข้างเป็นฝั่งซ้ายแบบสุดโต่ง (Left Wing) หรือ Joe Biden ที่เป็นฝั่งซ้ายแบบปานกลาง (Moderate) รวมทั้ง Michael Bloomberg นักธุรกิจชื่อดังที่เป็นม้ามืดซึ่งมีนโยบายไม่รุนแรงเท่าผู้สมัครคนอื่น
- Bernie Sanders เน้นไปที่การสร้างความเท่าเทียมในสังคมและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ โดยมีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มุ่งเน้นการเก็บภาษีคนรวย (Wealth Taxes) และเก็บภาษีกำไรที่ได้รับจากตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น สนับสนุน นโยบาย “Medicare For All” ที่เป็นการใช้ระบบประกันสุขภาพจากรัฐบาลแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงแผนการลดราคายาและเวชภัณฑ์ มีการนำเสนอยกเลิกผลประโยชน์ด้านภาษีกับบริษัทที่ทำการจดทะเบียนนอกประเทศ (Offshore) และปฎิรูปการเงิน (Wall Street Reform) ในกลุ่มธุรกิจการเงินเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ Too big to fail
โดยปัจจุบันเป็นหนึ่งในตัวเต็งที่มีคะแนนเสียงและความนิยมอยู่ในอันดับต้นๆ ของตัวแทนพรรคเดโมแครต ซึ่งหากได้รับเลือกจะต้องส่งผลลบต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มการเงิน และ Health Care อย่างแน่นอน
- Elizabeth Warren มีนโยบายค่อนข้างแข็งกร้าวคล้ายกับ Sanders โดยมุ่งเน้นการเก็บภาษีคนรวย ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ใน Wall Street อีกทั้งมีนโยบายที่ชื่อว่า “Break up big tech” ลดการผู้ขาดของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่าง Facebook และ Amazon สนับสนุน Medicare for all ควบคุมราคายา อีกทั้งมีแผนให้มีโรงงานผลิตยาที่เป็นของรัฐ นโยบายทางการค้ายังคงใช้วิธีกำแพงภาษีและไม่สนับสนุนข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) ซึ่งนโยบายดังกล่าวนอกจากจะส่งผลลบต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในกลุ่มการเงินและ Health care ยังกระทบกับกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีในตลาด NASDAQ อย่างเห็นได้ชัด
- Joe Biden อดีตรองประธานาธิบดียุค Obama ในช่วงปี 2009-2017 มีนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง และปรับเพดานภาษีของบริษัทเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่จะไม่สูงถึง 35% ทางด้านนโยบายระบบสาธารณสุขก็จะใช้นโยบาย Affordable Care Act หรือที่รู้จักในนามว่า “Obama care” กลับมาอีกครั้ง ทางด้านนโยบายการค้าจะยกเลิกวิธีการใช้กำแพงภาษีกับคู่ค้าและสนับสนุนความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ส่งเสริมการค้าแบบเสรี (Free Trade) ในภาพรวมแล้วนโยบายจะทำให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นจะเหมือนยุคของ Obama ซึ่งส่งผลกระทบต่อหุ้นสหรัฐฯ พอสมควร โดยเฉพาะกลุ่ม Healthcare จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด
- Michael Bloomberg เจ้าของบริษัท Bloomberg ซึ่งเป็นสื่อทางการเงินชั้นนำ มีนโยบายที่ชื่อว่า All-in Economy ที่เป็นการปรับค่าแรงขั้นต่ำ สนับสนุนการลงทุนใน R&D ในสหรัฐฯ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ปรับปรุงระบบเครดิตภาษีเงินได้จากการทำงาน (EITC) ให้กับผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางและจ่ายเป็นรายเดือน ปรับเพดานภาษีบุคคลเพิ่มจาก 37% เป็น 39.6% เก็บภาษีคนรวย (Wealth tax) และเพิ่มภาษีกำไรจากการขายหุ้น ด้านสาธารณสุขจะแก้ไขให้รัฐบาลเจรจาต่อรองราคายาในระบบ Medicare ได้ ให้สิทธิบัตรยาเฉพาะลดลงจาก 20 ปีเหลือเพียง 12-14 ปี เพื่อให้เป็นยาทั่วไปที่มีราคาถูกได้รวดเร็วขึ้น
เรามองว่าเป็นผู้สมัครทางฝั่งพรรคเดโมแครตเพียงคนเดียวที่ไม่ส่งผลต่อหุ้นสหรัฐฯฯ เท่าใดนัก ด้วยความที่เป็นนักธุรกิจจึงมีนโยบายที่ค่อนข้างประณีประณอม ไม่บังคับบริษัทมากเกินไป และแต่ละนโยบายใช้งบประมาณไม่สูงเหมือนผู้สมัครรายอื่น
ทั้งนี้ การตัดสินตัวแทนพรรคเดโมแครตนั้น ผู้ชนะจะต้องได้รับ 1,991 เสียงจากทั้งหมด 3,979 เสียง โดยในช่วง Super Tuesday เดือนมีนาคมนี้จะมีการเลือกตั้งในหลายรัฐพร้อมกัน ซึ่งผู้ชนะในรัฐที่สำคัญอย่าง California และ Texas จะมีผลอย่างมาก โดยในเบื้องต้นประมาณช่วงเดือนเมษายน จะทราบผลการเลือกตัวแทนพรรคแล้วประมาณ 80% ทำให้พอทราบว่าใครที่จะได้คะแนนเสียงมาก
แต่อย่างไรก็ตามก็จะต้องรอผลประกาศเป็นทางการจาก วันประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรคเดโมแครต ที่จัดในช่วงวันที่ 13-16 กรกฎาคม จากนั้นจึงเป็นการเปิดศึกใหญ่ระหว่างตัวแทนของสองพรรคใหญ่ในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้
โดยเรามองว่านาย Bernie Sanders มีโอกาสสูงสุดในการที่จะได้รับเลือกผู้แทนของพรรคเดโมแครต จากการที่มีนโยบายที่ชัดเจน และเป็นคู่แข่งที่น่าจะต่อกรกับ Donald Trump ได้ โดยบางผลสำรวจระบุว่าทาง Sanders ได้รับความนิยมมากกว่า Donald Trump อีกด้วย แต่ตลาดปัจจุบันยังมองว่า Trump จะชนะและได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง
เนื่องจาก หากตลาดมองว่าพรรคเดโมแครตชนะการ เลือกตั้งสหรัฐฯ ตลาดหุ้นควรปรับตัวลดลงสะท้อนนโยบายของทางพรรค อีกทั้งนโยบายของฝั่งเดโมแครตนั้นจำเป็นต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทางด้าน Medicare for all ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงชะลอตัว และหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในระดับสูงเกินกว่า 100% ทำให้เป็นไปได้ยากที่นโยบายของทางฝั่งเดโมแครตจะสามารถปฎิบัติจริงได้
SCB CIO มีมุมมองว่านาย Bernie Sanders จะชนะการเลือกตั้งเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต แต่ทั้งนี้ไม่ว่าใครจะถูกเลือกเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ก็ส่งผลลบต่อตลาดหุ้นได้ค่อนข้างมาก เนื่องจาก นโยบายผู้สมัครทุกคนของพรรคเดโมแครต ล้วนเน้นการลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน โดยการเก็บภาษีคนรวย และปรับเพิ่มภาษีนิติบุคคล
แนวโน้มความผันผวนของตลาดหุ้นจะปรากฏในช่วงไตรมาส 2/2020 ที่เริ่มมีการนับคะแนนของตัวแทนพรรคผู้ลงคะแนนไปมากกว่า 60% แล้ว โดยจะเห็นความผันผวนสูงในบางกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่ม Healthcare กลุ่มธุรกิจการเงินใน Wall Street และกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี เป็นต้น
โดยเหตุการณ์ที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดคือการที่ Donald Trump ชนะการ เลือกตั้งสหรัฐฯ และทางรีพับลิกันจะได้ครองเสียงสภาบนหรือวุฒิสภา (Senate) แต่ทางฝั่งเดโมแครตจะได้ครองเสียงสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ (House of Representatives) ซึ่งจะส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสเป็นไปได้ยาก
ส่งผลให้นโยบายและข้อกฎหมายมีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นเช่นเดิม
ดังนั้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จึงยังมีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น จากทั้งประเด็นการเลือกตั้งและปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเข้าลงทุนในช่วงนี้ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก แม้ว่าในระยะยาวเรายังเห็นว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจการลงทุนก็ตาม
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : พลิกวิกฤตหาโอกาสลงทุนตลาดหุ้นจีน