เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมเวลาที่เราไปทำธุรกรรมการเงินต่างๆกับสถาบันการเงินที่ต่างกันหรือแม้แต่ธนาคารเดียวกันแต่ต่างสาขาก็ยังต้องกรอกใบสมัครใหม่ทุกครั้ง และต้องใช้เอกสารที่เป็นกระดาษจำนวนมาก ความจุกจิกเหล่านี้กำลังจะหายไปเพราะในไตรมาสสี่นี้ ประเทศไทยกำลังจะมี National Digital ID หรือกระบวนการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแห่งชาติ เกิดขึ้นแล้ว และสิ่งนี้จะช่วยให้ชีวิตคนไทยดีขึ้นได้อย่างไรไปดูกัน
1 National Digital ID (NDID) เกิดขึ้นมาทำไม?
อดีตที่ผ่านมาและปัจจุบัน การทำธุรกรรมทางการเงินรวมถึงการขอเอกสารทางราชการถูกแยกส่วนออกจากกัน กล่าวคือหากเรามีบัญชีธนาคารอยู่แล้วและจะไปขอเปิดบัญชีใหม่กับธนาคารอื่น เราต้องทำการกรอกใบสมัครใหม่ทุกครั้ง และส่วนมากเป็นเอกสารกระดาษซึ่งมีความยุ่งยากในการจัดเก็บ
แต่ NDID จะช่วยให้สถาบันการเงินเกือบทุกแห่งในประเทศไทยที่เข้าร่วมอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องทำธุรกรรมซ้ำซ้อนอีกต่อไป
2 อธิบายให้เห็นภาพอีกนิด
นาย ก เคยเปิดบัญชีและผ่านการยืนยันตัวตนกับธนาคารเอแล้ว ต่อมาต้องการเปิดบัญชีกับธนาคารบี นาย ก ไม่จำเป็นต้องไปยืนยันตัวตนอีกครั้งหรือต้องสมัครใหม่ซ้ำซ้อน แต่ใช้แอปพลิเคชันของธนาคารบีว่าตนเองให้ความยินยอมให้ธนาคารเอส่งข้อมูลตัวตนที่ยืนยันแล้วมาแทน
3 สถาบันการเงินใดบ้างที่เข้าร่วม
ธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการกองทุนรวม บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันการเงินของรัฐ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด รวมมากกว่า 60 บริษัท
4 ใครเป็นผู้ดำเนินการโครงการนี้
บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด เป็นองค์กรที่มีผู้ถือหุ้นเป็นสมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการ โดยมี สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA และบริษัท เครดิตบูโร จำกัด รวมถึง ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้จัดตั้ง
5 มีขั้นตอนการทำงานอย่างไรบ้าง
ประกอบไปด้วยการพิสูจน์ตัวตน (Identification) เพื่อยืนยันว่า ID บนแพลตฟอร์มกับตัวตนจริงๆเป็นคนเดียวกัน เมื่อบันทึกข้อมูลลงไปแล้วต่อไปเมื่อทำธุรกรรมจะเป็นขั้นตอนของการพิสูจน์ตัวตน (Authentication)
6 NDID แบบของไทยมีความแตกต่างจากประเทศอื่นอย่างไร
ระบบ NDID ของไทยจะไม่นำข้อมูลของผู้ใช้งานมารวมศูนย์อยู่ด้วยกันซึ่งจะเกิดความเสี่ยงหากมีผู้ไม่หวังดีต้องการจะแฮ็คข้อมูล ต่างจากสิงคโปร์ อินเดีย และจีนที่ข้อมูลต่างๆจะถูกรวมศูนย์ที่จุดเดียว
7 มีความน่าเชื่อถือเพียงใด?
NDID มีการนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาจัดการกับข้อมูลมหาศาลระดับ Big Data ทำให้ไม่มีรายใดแม้แต่บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี เองก็ไม่สามารถควบคุมข้อมูลที่มีอยู่ได้ การจัดการจึงโปร่งใสและตรวจสอบได้
8 NDID เป็นมากกว่าแค่บริการทางการเงิน
แม้จุดประสงค์หลักของ NDID ก็คือการอำนวยความสะดวกในเรื่องของธุรกรรมการเงิน แต่อนาคตการบริการจะขยายต่อไปยังธุรกรรมอื่นๆเช่น บริการสาธารณสุข โทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเทอร์เนต รวมถึงงานด้านยุติธรรม
9 ประเทศไทยได้อะไรจากโครงการนี้
โครงการนี้จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินของประเทศในภาพรวมลง รวมถึงเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยให้เข้มแข็ง
10 คนไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร
เตรียมบัตรประจำตัวประชาชนรุ่นที่มี Chipcard ในตัวเอาไว้ เพราะขั้นตอนแรกของการเข้าร่วมโครงการจะต้องนำบัตรประชาชนมาใช้ประกอบการยืนยันตัวเองในครั้งแรกที่สาขาของสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการ หลังจากที่ยืนยันตัวเองผ่านก็สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ทันที
11 เฟสแรกจะมีใครให้บริการบ้าง
ธนาคารพาณิชย์ 9 แห่งที่อยู่ในโครงการทดลอง หรือ Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มจากบริการเปิดบัญชีและการให้สินเชื่อ เฟสที่สองจะเริ่มให้บริการเปิดพอร์ตซื้อขายหุ้น กองทุนรวม ประกันภัย รวมถึงเปิดรับผู้ใช้งานต่างชาติและนิติบุคคล
12 ใครที่อาจลำบากจากการเกิด NDID
บริษัทขนาดเล็ก บริษัทสตาร์ทอัพหรือฟินเทค อาจได้รับผลกระทบจากการเกิดขึ้นของ NDID ในกรณีที่ต้องการเป็นสมาชิกของบริษัทฯจะมีต้นทุนในการทำธุรกรรมพิสูจน์ตัวเองกับยืนยันตัวเองกับลูกค้าที่ค่อนข้างสูง
การเกิดขึ้นของ NDID จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมการเงินไทยทำให้บริการทางการเงินเข้าถึงประชาชนทั่วไปมากขึ้นด้วยความสะดวกรวดเร็วในการใช้งานและต้นทุนที่ลดลง
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : Wealthtech กับความมั่งคั่งของคนยุคดิจิทัล