เฮดจ์ฟันด์

เฮดจ์ฟันด์กับ 7 กลยุทธ์การลงทุน

โดย SM1984

หลังจากที่เราทำความรู้จักกับข้อมูลทั่วๆไปของ เฮดจ์ฟันด์ กันมาแล้ว บทความนี้เราจะพาไปดูกันว่า เฮดจ์ฟันด์ มีทั้งหมดกี่ประเภท แล้วแต่ละประเภทนั้นเป็นอย่างไร และมีกลยุทธ์ในการลงทุนอย่างไรกันบ้าง

1. Macro Fund

Macro Funds จะเป็นกองทุนที่เน้นการลงทุนโดยมองภาพรวมของเศรษฐกิจ (เศรษฐกิจมหภาค) หรือภาพรวมตลาด เป็นหลัก (Top-Down Approach) มากกว่าที่จะวิเคราะห์ในสินทรัพย์รายตัว ซึ่งกองทุนประเภทนี้ มักจะมีการลงทุนในสินทรัพย์ หรือตราสารทางการเงินหลากหลายประเภท เช่น หุ้น ฟิวเจอร์ ออปชัน อัตราแลกเปลี่ยน หรือ สินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น

กลยุทธ์ของผู้จัดการกองทุนประเภทนี้ มักจะใช้การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (fundamental analysis) เป็นหลัก หรือที่เรียกว่า discretionary trading ผู้จัดการกองทุน จะพยายามทำกำไรจากความไม่มีประสิทธิภาพ (inefficiencies)ในสินทรัพย์ กลุ่มอุตสาหกรรม หรือในประเทศนั้นๆ และจะแสวงหาโอกาสในการทำ Arbitrage ในทุกรูปแบบในทุกตลาด (ทั้ง Long และ Short) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ค่อนข้างเปิดสำหรับผู้จัดการกองทุน ค่อนข้างมาก ต่างจากกลยุทธ์อื่นๆ

นอกจากนี้ จุดเด่นหนึ่งของกองทุนประเภทนี้ คือจะมีสภาพคล่องมากกว่ากองทุนประเภทอื่นๆ และยังสามารถสร้างจนเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ได้

2. Managed Futures

เฮดจ์ฟันด์ ประเภทนี้ จะคล้ายกับกองทุนประเภท Macro ในเรื่องการมองที่ภาพรวมเศรษฐกิจ แต่จะแตกต่างกันตรงที่ Manage futures fund มักจะใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค (technical analysis) เป็นส่วนใหญ่ และจะเก็งกำไรในตลาดตราสารล่วงหน้า (Futures) โดยจะใช้ Financial Models เรียกว่า systematic trading หรือ black box trading ในการตัดสินลงทุนต่างๆ ทำให้ผู้จัดการกองทุนและทีมงานของกองทุนประเภทนี้จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านค่อนข้างสูง

3. Equity Fund

เฮดจ์ฟันด์ ประเภทนี้มักจะมีขนาดเล็ก แต่มีจำนวนมากที่สุดในตลาด โดยมีประมาณ 30% ของ Hedge Fund ทั้งหมด ซึ่งกองทุนประเภทนี้มีหลักการและกลยุทธ์การลงทุนที่ไม่ได้มีความซับซ้อนมากนัก และเป็นกองทุนที่มีสภาพคล่องสูง เนื่องจากลงทุนเฉพาะ ตราสารทุนที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะมีกลยุทธ์แบบ Directional or Tactical Strategies ซึ่งจะแบ่ง sub-strategy ได้ดังนี้

A) Equity Long/Short : กลยุทธ์ประเภทนี้ จะมีการชดเชยความเสี่ยงในการลงทุน จากการถือสถานะ Long และ Short ในหลักทรัพย์นั้น โดยกองทุนเหล่านี้มักจะมี positive net exposure ต่อตลาดหุ้น เนื่องจากมี long positions มากกว่า short positions

B) Equity Market Neutral : กลยุทธ์นี้ถือเป็นกลยุทธ์ที่ค่อนข้างคลาสสิก โดยจะมีการเจาะจงไปเลยว่าจะ Long หรือ Short ในสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ใด กองทุนประเภทนี้พยายามที่จะให้ผลตอบแทนการลงทุนไม่ขึ้นอยู่กับตลาด(ไม่อ้างอิงดัชนี) แต่ขึ้นอยู่กับการเลือกสินทรัพย์ล้วนๆ ทั้งทาง long และ short (Beta = 0 and Positive Alpha) ซึ่งกลยุทธ์นี้มีความเชื่อมโยงกับ Alpha(ผลตอบแทนของสินทรัพย์) ของพอร์ตลงทุน

ดังนั้น การใช้กลยุทธ์นี้จะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ต้องเลือกในการเทรดด้วย และต้องตัดสินใจลงทุนในสัดส่วนเหมาะสม มีความ Balance ตามน้ำหนักของสภาวะตลาด โดยเป้าหมายของการลงทุนนั้น จะต้องทำให้ผลตอบแทนของกองทุนเป็นบวก ไม่ว่าดัชนีที่อ้างอิงจะติดลบหรือไม่

การจะทำ Equity Market Neutral ทำได้ 4 วิธี ได้แก่

– Dollar Neutrality : หรือเป็นกลางด้านเม็ดเงิน เช่น หากมีเงินอยู่ 100,000 บาท ก็จะแบ่งเงินไป Long 50,000 บาท และ Short 50,000 บาท

– Beta Neatrality : เป็นการแบ่งตามเบต้าในพอร์ตการลงทุน เช่น Long เบต้า และ Short เบต้า อย่างละ 50% หรือสัดส่วนเท่าๆกัน ทำให้ได้กำไรเสมอไม่ว่าตลาดจะขึ้นหรือลง

– Sector Neutrality : เป็นกลยุทธ์ที่ Long และ Short หุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกัน

– Factor Neutrality : เป็นกลยุทธ์ที่มีความซับซ้อน และใช้วิธีทางคณิตศาสตร์มาก จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านค่อนข้างสูง

C) Short-bias Equity : กลยุทธ์นี้จะเน้น short มากกว่า long และจะได้ผลตอบแทนดีในช่วงตลาดซบเซาหรือตลาดเป็นขาลง และใช้ได้ดีในหลักทรัพย์ที่มีราคาสูงเกินความเป็นจริง แต่กลยุทธ์การลงทุนในลักษณะนี้ ก็จะมีความเสี่ยงที่สูงตามมาเช่นกัน

4. Event-driven

ผู้จัดการกองทุนประเภทนี้ มักจะตัดสินใจลงทุนจากข่าวหรือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น หรือคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะพยายามที่จะทำกำไรส่วนต่างจากเหตุการณ์พิเศษที่จะเกิดขึ้น (catalyst ) ในตลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียน เช่น การควบรวมกิจการ การปรับโครงสร้างบริษัท การเพิ่มทุน การซื้อหุ้นคืน การประกาศขายสินทรัพย์ การแยกฝ่าธุรกิจออกเป็นบริษัทต่างหาก (Spin-offs) หรือหลักทรัพย์ที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นตามปัจจัยพื้นฐานมากๆ เป็นต้น โดยจะลงทุนเมื่อราคาสินทรัพย์ในตลาดนั้น ยังไม่ปรับมูลค่า หรือยังไม่แสดงมูลค่าแท้จริง ตามเหตุการณ์นั้น

ผู้จัดการกองทุนประเภทนี้มักจะเน้นการวิเคราะห์สินทรัพย์เป็นรายตัว (bottom-up approach) ซึ่งต้องใช้ความสามารถในการหาข้อมูล การวิเคราะห์ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลยุทธ์ประเภท Even Driven Multi Strategies

สำหรับกลยุทธ์ประเภทนี้ สามารถแบ่งเป็น sub-strategy ได้แก่

A) Activist : เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ย่อยของ Event-Driven ผู้จัดการกองทุนประเภทนี้ค่อนข้างมีความ proactive มากกว่าผู้จัดการกองทุนประเภทอื่นๆ เมื่อผู้จัดการกองทุมเห็นว่า ผู้บริหารของบริษัทนั้น ไม่มีคุณธรรม หรือไม่มีความสามารถที่จะบริหารบริษัทนั้นอีกต่อไป ก็จะเข้าซื้อหุ้นบริษัทนั้น และอาจทำการกดดันผู้บริหารในลักษณะที่เป็นสาธารณะ เช่น การออกข่าวหรือออกสื่อต่างๆ เพื่อ ให้ผู้บริหารทำในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับบริษัท

ผู้จัดการกองทุนต้องการที่จะมีอำนาจในการตัดสินใจในบริษัทที่ตนไปลงทุน เพราะรู้ว่ามูลค่าที่แท้จริงของบริษัทควรจะสูงมากกว่านี้ แล้วจะผลักดันให้บริษัทเหล่านั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะ Long หุ้นตัวนั้นไว้ เมื่อบริษัทดีขึ้นหรือเติบโตขึ้น ราคาหุ้นขึ้นมาตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็จะขายออก ผู้จัดการกองทุนประเภทนี้ ส่วนมากจะใช้สื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างผลลัพธ์ทางการลงทุนที่ตัวเองต้องการ

B) Distressed Fund : ผู้จัดการกองทุนประเภทนี้ จะพยายามทำกำไรจากการที่บริษัทหรือตลาดนั้นขาดประสิทธิภาพ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเน้นการลงทุนในบริษัทที่ประสบปัญหา กำลังเผชิญกับเหตุการณ์ที่ยากลำบาก และคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และบริษัทมีความสามารถในการฟื้นตัวกลับมา (turnaround) หรือการจัดการทางด้านหนี้สินที่ดีขึ้น กองทุนประเภทนี้มักจะมีสภาพคล่องต่ำ เนื่องจากระยะเวลาในการลงทุนและเข้าช่วยเหลือบริษัทที่ประสบปัญหา เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 12-18 เดือน บางกองทุนจะใช้กลยุทธ์นี้ในการลงทุนกับบริษัทบางกลุ่ม เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มสื่อสาร ขณะที่บางกองทุนก็จะใช้กับทั้งตลาดเลย

C) Merger Arbitrage : เป็นการทำกำไรจากการควบรวมกิจการ ของบริษัทในตลาด ทั้งในแง่ของการควบรวมแล้วทำให้ราคาปรับตัวขึ้น หรือการควบรวมแล้วทำให้ราคาปรับตัวลง ผู้จัดการกองทุนประเภทนี้จะเน้นการลงทุนในการรวมตัวของบริษัทโดยการ ซื้อหุ้นที่เป็นเป้าหมายเสนอซื้อ (Target Company) และ short หุ้นบริษัทที่เข้าไปทำการเสนอซื้อ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคามักจะตก เพราะมีโอกาสในการทำไม่สำเร็จ หรือเสนอซื้อราคาแพงเกินไปก็ได้ แต่หาก spread แคบลงก็จะได้กำไร ซึ่งกองทุนประเภทนี้มักจะมีกำไรในตลาดขาขึ้น และมักขาดทุนในตลาดขาลง

5. Relative Value

เฮดจ์ฟันด์ ประเภทนี้ ต้องใช้ความสามารถในการวิเคราะห์ ความได้เปรียบจากความเหลื่อมล้ำของราคาตลาด ที่ตลาดรับรู้กับตัวเลขผลประกอบการ และอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นการวิเคราะห์ระยะยาว จะสร้าง alpha (ผลตอบของสิทนทรัพย์ที่เราลงทุน) โดยจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวน (Volatility) ต่ำ และ มีความสัมพันธ์กับตลาดน้อย (จึงแทบจะไม่ต้องสนใจและไม่ต้องคาดเดาตลาดเลย) เลือกสินทรัพย์มีความเสี่ยงคล้ายๆกัน แต่ราคาต่างกัน

โดยจะทำการซื้อสินทรัพย์ที่มีราคาถูกกว่ามูลค่าแท้จริง หรือ long undervalued securities และ ทำการ ขายสินทรัพย์ที่มีราคาแพงกว่ามูลค่าแท้จริง หรือ short overvalued securities โดยสามารถทำกำไรได้จากส่วนต่างของอัตราผลตอบแทน (Spread) ที่แคบลง จึงไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงมาก

เนื่องจากการถือสินทรัพย์ที่ long and short ส่งผลให้ spread ที่ได้จากกการเทรดไม่สูงมากนัก (use leverage to enhance return) ทำให้กองทุนประเภทนี้จะกู้ยืมเงินเพื่อมาลงทุนสูง

กองทุนประเภทนี้จะให้ผลตอบแทนดีในตลาดที่มีการผันผวนต่ำ แต่หากผลลงทุนไม่เป็นตามที่คาดการณ์ไว้ อาจส่งผลให้เกิดการขาดทุนจำนวนมาก จากการใช้ leverage สูงได้ เฮดจ์ฟันด์ ประเภทนี้ยังสามารถแบ่งเป็น กลยุทธ์ย่อยๆได้อีกตามสินทรัพย์ที่ผู้จัดการกองทุนลงทุน เช่น Convertible bond arbitrage, Volatility arbitrage และ Fixed income arbitrage เป็นต้น

6. Multi-strategy and Funds of Funds

เฮดจ์ฟันด์ ประเภทนี้ จะมีผู้จัดการกองทุนหลายคน บางกองทุนอาจมีผู้จัดการกองทุนถึง 100-200 คนเลยทีเดียว แต่จะบริหารจัดการโดยบริษัทจัดการลงทุนเพียง 1 แห่ง มีการใช้กลยุทธ์การลงทุนหลากหลายแบบ ซึ่งรูปแบบการลงทุนมักจะแบ่งตาม กลยุทธ์, sector หรือ ภูมิภาค ซึ่งในการลงทุนจะมีการกระจายความเสี่ยงและการบริหารจัดการ risk budget สามารถ ‘ยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาวะตลาด’ จึงทำให้ ในระยะยาวกองทุนประเภทนี้ให้ผลตอบแทนดีกว่ากองทุนประเภทอื่นๆ ทำให้ได้รับความนิยม และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18% ของ เฮดจ์ฟันด์ ทั้งหมดเลยทีเดียว

7.Fund of Hedge Funds

กองทุนประเภทนี้ ผู้จัดการกองทุนจะไปเลือกลงทุนใน เฮดจ์ฟันด์ อื่นหลายกองอีกทีและมีการบริหารโดยหลายบริษัทจัดการ โดยอาจจะมีการลงทุนทั้งแบบ ‘Single Strategy’ หรือแบบ’Multi-Strategy’ ก็ได้ ซึ่งมีกลยุทธ์บางส่วนคล้ายคลึงกับ Multi-strategy Hedge Fund ในเรื่องการกระจายความเสี่ยง

กองทุนประเภทนี้จะมีวัตถุประสงค์คือ ต้องการหา ‘ผลตอบแทนสุทธิที่เป็นบวก (Absolute Return)’ มีผลตอบแทนที่มั่นคง สม่ำเสมอ และต้องมีความผันผวนต่ำ และยังมีมาตรการในการควบคุมความเสี่ยงในการลงทุนที่รอบคอบอีกด้วย

เฮดจ์ฟันด์ ประเภทนี้ เนื่องจากมีข้อกำหนดเรื่องวงเงินลงทุนขั้นต่ำที่ค่อนข้างต่ำกว่า เฮดจ์ฟันด์ ประเภทอื่นๆ หรืออาจจะไม่สามารถลงทุนใน Hedge Fund ระดับต้นๆของวงการได้นั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีส่วนแบ่งตลาดในรูปของเม็ดเงินลงทุนที่ใหญ่ที่สุดใน เฮดจ์ฟันด์ ทั้งหมดอีกด้วย แต่นักลงทุนจะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ผู้จัดการกองทุนถึง 2 ขั้น (extra layer of fees) ได้แก่ management fee และ incentive fee

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : เฮดจ์ฟันด์ คืออะไร? มีกลไกทำงานอย่างไร

ขอบคุณข้อมูล : https://en.wikipedia.org/wiki/Hedge_fund

Related Posts