ปีที่ผ่านมาอาจจะเป็นปีที่แย่สำหรับตลาดหุ้นไทย แต่ผู้ที่กระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่นๆ อย่าง กองทุนรวม ที่ลงทุนในต่างประเทศยังพอที่จะดีใจได้บ้างด้วยผลตอบแทนที่ทำได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว MorningStar ประเทศไทยยังได้รวบรวมสถิติของ กองทุนรวม ไทยในปีที่ผ่านมาไว้ดังนี้
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย ณ สิ้นปี 2019 อยู่ที่ 5.4 ล้านล้านบาท โดยเป็นการรวมมูลค่ากองทุนประเภทต่าง ๆ ทั้งกองทุนเปิด กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองรีท เป็นต้น โดยมีการเติบโต 6.6% จากปี 2018 กองทุนรวมตราสารหนี้ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดราว 48% รองลงมาเป็นกลุ่มกองทุนรวมตราสารทุนมีส่วนแบ่งตลาด 28%
ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนกองทุนรวมปี 2019 อยู่ที่ 8.4%
ในปี 2019 มีจำนวนกองทุนเปิดใหม่ทั้งสิ้น 633 กอง ประเภททรัพย์สินที่มีกองทุนเปิดใหม่สูงสุดคือกองทุนตราสารหนี้จำนวน 442 กอง กลุ่มที่มีจำนวนกองทุนใหม่สูงสุดคือกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศแบบ term fund หรือ Foreign Investment Bond Fix Term จำนวน 361 กองซึ่ง บลจ. ขนาดใหญ่นิยมออกกองทุนประเภทนี้และได้รับความสนใจจากนักลงทุนโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก
กลุ่ม Equity Large-Cap เป็นกลุ่มที่มีกองทุนเปิดใหม่มากที่สุดเป็นอันดับที่สองจำนวน 30 กองทุน โดยมีการเปิดกองทุนใหม่ตลอดทั้งปี ซึ่งมีทั้งกองทุนเปิดใหม่ กองทุนที่เปิดเพื่อรองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุน LTF RMF รวมมูลค่าเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ที่เปิดใหม่จำนวน 30 กองทุนนี้เป็นเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท
ปี 2019 มีมูลค่าเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนรวม 2.1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับปกติของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย หากดูที่ปริมาณเงินไหลเข้าในแต่ละช่วงของปีพบว่าในไตรมาสที่ 4 เป็นช่วงที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดรวม 1.3 แสนล้านบาท โดยเกิดจากเงินไหลเข้าปริมาณมากทั้งจากกองทุนตราสารหนี้และกองทุนตราสารทุนที่ 7.3 หมื่นล้านบาทและ 5.2 หมื่นล้านบาทตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้ากลุ่มกองทุนขนาดใหญ่เช่น Short Term Bond, Mid-Long Term Bond และ Equity Large-Cap
Morningstar ยังเปิดเผยข้อมูลอุตสาหกรรม กองทุนรวม ไทยมีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนปี 2019 ที่ 8.4% หากดูในรายกลุ่มกองทุนจะพบว่ากองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่ากองทุนที่ลงทุนในประเทศ โดยกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 3 อันดับแรกในรอบปีได้แก่กลุ่ม Global Technology 26.8%, Europe Equity 26.3%, Global Sector Focus Equity 24.8%
ขณะที่กองทุนไทยเช่นกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) มีผลตอบแทนเฉลี่ย 2.5% ใกล้เคียงกับกลุ่มตราสารหนี้ระยะสั้น (Short Term Bond) ที่เฉลี่ย 2.5% มีกลุ่มกองทุนเพียง 2 กลุ่มที่ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบคือ ASEAN Equity และ Equity Fix Term ที่ -0.3% และ -1.3% ตามลำดับ
มูลค่าทรัพย์สินของกองทุน LTF ที่ถึงแม้ว่าปีใหม่นี้จะไม่ได้รับความสนใจอย่างในอดีตเนื่องจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่หมดไป และแทนที่ด้วยกองทุน Super Savings Fund (SSF) ณ สิ้นปี 2019 กองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 4.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2018 ราว 6.3% และมีเงินไหลเข้าสุทธิเกือบ 2.0 หมื่นล้านบาท โดยในเดือนธันวาคมยังคงมีเงินไหลเข้า 2.3 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับในอดีต
ขณะที่ผลตอบแทนกองทุนรวมที่สร้างผลตอบแทนดีที่สุดในปี 2019 ได้แก่
1.กรุงศรีไชน่าเอแชร์อิควิตี้ ชนิดสะสมมูลค่า 48.10%
2.ไทยพาณิชย์หุ้นยุโรปสมอลแคป 39.92%
3.ไทยพาณิชย์ หุ้นยุโรปสมอลแคป 37.82%
4.ทหารไทย China Opportunity RMF 37.66%
5.ทหารไทย China Opportunity 37.66%
6.กรุงศรียุโรปอิควิตี้เฮดจ์ 36.90%
7.บัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยี 36.14%
8.เค ไชน่า คอนโทรล โวลาติลิตี้ 36.07%
9.เค ยูโรเปียน หุ้นทุน 35.61%
10.เค ยูโรเปียน หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ 35.26%
หมายเหตุ : ข้อมูลจาก Morning Star Thailand