อ่านชื่อบทความแล้ว หลายๆคนคงสงสัยว่าทำไมต้อง เก็บเงิน ให้ปลอดภัยจากตัวเราเอง ทั้งที่เงินอยู่กับเราก็ต้องปลอดภัยอยู่แล้วสิ ซึ่งแต่ก่อนใครที่ต้องการเก็บเงินก็มักจะนำเงินไปฝากธนาคาร เนื่องจากเงินจะอยู่ห่างจากมือเรา ยากต่อการนำออกมาใช้จ่าย
แต่ปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่ยุคแห่งสังคมไร้เงินสด การใช้จ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชั่น หรือ Internet Banking ต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น และสะดวกขึ้นกว่าการใช้จ่ายด้วยเงินสดจริงๆ ซะอีก ทำให้การ เก็บเงิน ไว้ในบัญชีธนาคารนั้นอาจไม่ปลอดภัยการใช้จ่ายของเราได้อีกต่อไป แล้วต้องเก็บเงินอย่างไรให้ปลอดภัยจากเราและยังทำให้เงินเก็บเราเติบโตขึ้นได้อีกด้วย
1. บัญชีฝากประจำ
วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นออมเงิน และคิดว่าตัวเองยังไม่มีความรู้ในการลงทุนมากนัก เพราะเป็นวิธีที่มีสภาพคล่องสูงกว่า ความเสี่ยงต่ำที่สุด แต่ผลตอบแทนก็ต่ำด้วยเช่นกัน จึงขอแนะนำให้ใช้วิธีนี้เป็นวิธีแรก เพื่อสร้างวินัยโดยการตัดบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ (บัญชีเงินเดือน) เข้าบัญชีฝากประจำทุกๆเดือน
แนะนำให้เปิดเป็นบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี เพราะจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% เหมือนเงินฝากประจำทั่วๆไป หากทำตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยสะสมไปเรื่อยๆ สบายๆครับ โดยระหว่างที่ฝากประจำ อาจศึกษาการลงทุนอื่นๆควบคู่กันไปด้วย เพื่อหาโอกาสโยกย้ายเงินไปยังแหล่งที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นครับ
2. กองทุนรวมตราสารหนี้
วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้ด้านการลงทุนขึ้นมาในระดับหนึ่ง โดยกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีกำหนดชำระเงินต้นเมื่อทวงถาม หรือมีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี ส่วนกองทุนรวมตราสารหนี้ (General Fixed Income Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ประเภทต่างๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง หุ้นกู้ของภาคเอกชน ฯลฯ เป็นต้น
การลงทุนประเภทนี้มีความเสี่ยงที่ต่ำมาก และมีอัตราผลตอบแทนคาดหวังสูงกว่าการฝากประจำครับ หากใครสนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารใกล้บ้าน และสามารถขอคำแนะนำในการเลือกกองทุนให้เหมาะสมเป้าหมายผลตอบแทนและความเสี่ยงของเราได้เลยครับ
3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
สำหรับมนุษย์เงินเดือนอยากจะแนะนำวิธีนี้อย่างมาก โดยเฉพาะที่ทำงานใครมีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับเอกชน หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราช (กบข.) สำหรับข้าราชการ ไว้ให้พนักงานสร้างวินัยในการออมเงินและลงทุนระยะยาว เก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ นอกจากนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF) ยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
ปกติแล้วมนุษย์เงินเดือนสามารถเลือกสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ตั้งแต่ 2-15% (แนะนำว่าใครที่ไหวให้ใช้เต็มสิทธิ์ที่ 15% ไปเลยรับรองคุ้ม) และบางแห่งยังได้รับสมทบจากนายจ้างอีกด้วย ที่สำคัญเงินก้อนที่จะลงทุนนี้ควรเป็นเงินเย็นหรือเงินก้อนที่ไม่ได้ใช้แน่ๆ (เพราะเงินก้อนนี้จะถูกตัดก่อนที่จะเข้าบัญชีเราครับ) และควรเลือกแผนการลงทุนในกองทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เราต้องการด้วยครับ
4. กองทุนรวมหุ้น
หลังจากที่เราพูดถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มาแล้ว ในข้อนี้จะพูดถึงกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนคาดหวังสูงขึ้น เรียกได้ว่าเป็นก้าวแรกสำหรับมือใหม่ที่สนใจเริ่มต้นลงทุนในหุ้นเลยก็ว่าได้ ซึ่งจะเหมาะสำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น
โดยกองทุนประเภทนี้มีข้อดีคือ ใช้เงินลงทุนน้อย มีคนที่ชำนาญเรื่องการลงทุนมาช่วยทำให้เงินของเราเติบโต ช่วยให้เราประหยัดเวลาในการติดตาม แล้วยังกระจายความเสี่ยงอีกด้วย
ผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษี อยากแนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แต่ผู้ที่ไม่ได้ต้องการสิทธิประโยชน์ทางภาษี ก็อยากแนะนำการลงทุนในกองทุนรวมปกติ เนื่องจากจะให้อัตราผลตอบแทนคาดหวังที่สูงกว่าครับ โดยอาจซื้อเป็นเงินก้อนทีเดียว หรือแบ่งซื้อรายเดือนก็ได้ครับ
แต่อยากแนะนำให้แบ่งซื้อเป็นรายเดือนไปเลย เพื่อสร้างวินัยในการออมเงินและลงทุนระยะยาว สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด หรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารใกล้บ้านท่านครับ
5. หุ้นสามัญ
วิธีสุดท้ายเป็นการลงทุนและมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก แต่อัตราผลตอบแทนคาดหวังก็มากเช่นกัน เหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้และมีประสบการณ์ด้านการลงทุนมาในระดับหนึ่งแล้ว ไม่แนะนำสำหรับมือใหม่ครับ หลักการ คือการเลือกออมหุ้นรายตัว โดยจะตัดบัญชีซื้อหุ้นตามจำนวนเงินที่เรากำหนดในทุกๆเดือน เช่น ซื้อหุ้น AAA จำนวน 1,000 บาท ทุกวันที่ 5 ของทุกเดือน
จุดสำคัญคือ การเลือกหุ้นให้ดี แนะนำให้เลือกหุ้นที่มีกิจการที่ดี มั่นคง มีอนาคต มองเห็นการเติบโต และสามารถลงทุนได้ในระยะยาว นอกจากนี้ควรมีการกระจายความเสี่ยงไปในหุ้นหลายตัว หลายอุตสาหกรรมด้วยครับ แนะนำให้เลือกหุ้นที่ดีประมาณ 3-5 ต่างอุตสาหกรรมกัน โดยทยอยสะสมไปเรื่อยๆ เติบโตไปกับหุ้นเหล่านั้น โดยจะได้รับปันผลในระหว่างทาง
เป้าหมายของการออมหุ้นควรตั้งเป้าระยะยาวเกิน 10 ปีขึ้นไปจะเห็นผลมาก แต่ควรจะตรวจสอบพอร์ตการลงทุนในทุกเดือนหรือทุกไตรมาส หากพื้นฐานหุ้นเปลี่ยนแปลงในทางแย่ หรือมีเหตุการณ์อะไรที่กระทบต่อพื้นฐานในระยะยาว ก็ค่อยๆปรับพอร์ท แก้ไขจัดการกันต่อไปครับ
5 วิธีที่แนะนำมานี้ ช่วยทำให้เราสามารถ เก็บเงิน ได้ปลอดภัยจากตัวเราเอง และยังเป็นการฝึกวินัยในการวางแผนการลงทุนและออมเงินได้อย่างมีระบบ อีกทั้งในบางวิธียังสร้างกระแสเงินสดให้เราได้อีกด้วย แต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสีย ความเสี่ยง และผลตอบแทนต่างกันไป ไม่มีวิธีไหนดีที่สุด มีแต่วิธีที่เหมาะสมกับแต่ละคน
การเก็บเงิน ออมเงิน ให้เป็นถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความมั่งคั่ง เพราะการลงทุนให้ผลตอบแทนงอกเงยจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าเรายังไม่สามารถบริหารเงินและเก็บเงินไว้กับตัวให้เป็นก่อน อีกทั้งยังนำไปสู่การใช้จ่าย ก่อหนี้ ที่เกินตัว ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกด้วย สำหรับนักศึกษา คนวัยเริ่มต้นทำงาน จึงควรเก็บเงินให้เป็น
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกท่านพบวิธีการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง มีเงินออมและเงินลงทุนได้เติบโตมากขึ้น และเพียงพอต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขครับ
———-
บทความโดย คลินิกการลงทุน
ติดตามเราได้ที่
>> https://www.facebook.com/WealthInvestmentClinic/
>> https://wealthinvestmentclinic.wordpress.com
>> https://www.blockdit.com/articles/5cd7ab145d021b0ff14c1b26