5 สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจยังคงเสียงแตกว่า กนง. จะมีทิศทางอย่างไรกับดอกเบี้ยนโยบายปี 63 โดยอีไอซี, ธนาคารกสิกรและซีไอเอ็มบีคาดว่ากนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบาย 1.25% ตลอดปี 63 ส่วนทีเอ็มบีและธนาคารกรุงศรีชี้ว่าปี 63 มีความเป็นไปได้ที่กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบายจากตัวลขเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัว
ภาวะเศรษฐกิจโลกปี 62 ถือว่าอยู่ในโหมดชะลอตัวและเติบโตช้า เนื่องจากได้รับผลกระทบเชิงลบหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ลากยาวมาตั้งแต่ช่วงปี 61 ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้ รวมถึงความไม่แน่นอนของสหราชอาณาจักรกับกรณี Brexit
ปัญหาดังกล่าว ล้วนเป็นปัจจัยหลักฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 62 ให้อ่อนแอเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันตั้งแต่ช่วงต้นปี 62 นักวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายสำนักต่างพากันปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกกันเป็นว่าเล่น โดย นายเดวิดมัลพาส ประธานธนาคารโลก หรือ World Bank ระบุว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 62 ชะลอตัวลงอ่อนแอกว่าที่ธนาคารโลกคาดการณ์ไว้ 2.6%
ส่วน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็มีการปรับลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 62 ถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกในช่วงเดือน ม.ค.62 IMF ปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจโลกลงเหลือ 3.5% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 3.7% จากนั้นในเดือน ก.ค.62 ก็มีการปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจลงเหลือ 3.2% และรอบล่าสุดในเดือน ต.ค.62 ปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจโลกเหลือ 3.0%
หากดูจากการปรับลดประมาณการเติบโตเศรษฐกิจโลกปี 62 ของ IMF ทั้ง 3 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะเติบโตชะลอตัว และอาจเข้าสู่วิกฤตก็เป็นได้
ทว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่จับตาดูสถานการณ์มาอย่างใกล้ชิดโดยตลอด ก็กระโดดเข้ามาอุ้มเศรษฐกิจโลกได้อย่างทันท่วงที โดย FED ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯลง 0.25% ในช่วงเดือน ส.ค.62 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ลงมาอยู่ในระดับ 2% ถึง 2.5% นอกจากนี้ยังเป็นการลดดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 51 อีกด้วย
ถัดจากนั้นได้เพียงไม่กี่สัปดาห์ เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือน ก.ย.62 FED ยังได้ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อีกครั้งในระดับ 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.75% ถึง 2% นับเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ
สำหรับ FED ที่ออกมาประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในช่วงเดือน ส.ค.62 ทำให้ธนาคารกลางสำคัญของโลกไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางยุโรป (ECB) หรือธนาคารกลางจากประเทศสำคัญต่างพากันลดดอกเบี้ยนโยบายของประเทศตัวเอง ตามสหรัฐฯด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งที่ประเทศไทยก็มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งในปี 62 ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารกลางทั่วโลกจะพร้อมใจกันปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของประเทศตัวเองลง ก็ยังไม่ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกปี 62 ดีขึ้นได้มากนัก เนื่องจากทุกฝ่ายยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าของสหรัฐฯ และจีน ที่ยังไม่ยุติลง
แม้ว่าการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนรอบล่าสุดจะมีทิศทางดีขึ้น แต่หลายฝ่ายก็ยังไม่มีความเชื่อมั่นอยู่ดี เนื่องจากภาวะสงครามการค้าสามารถพลิกจากดีเป็นร้ายได้เพียงชั่วข้ามคืน ด้วยการทวิตข้อความของประธานาธิบดีสหรัฐฯโดนัลด์ทรัมป์
ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่ปี 63 นักวิเคราะห์หลายสำนักในไทยต่างให้ความเห็นเกี่ยวกับภาวะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนไปในทิศทางเดียวกันว่ามีโอกาสเจรจาเป็นผลบวกมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงเดือน พ.ย.63 ทำให้คาดว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ จะประนีประนอมกับจีนมากขึ้น เนื่องจากต้องการให้ภาพลักษณ์ของตนเองดูดีก่อนช่วงเลือกตั้งเพื่อให้ได้รับเสียงสนับสนุนจากชาวอเมริกันให้เลือกเขากลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรับฯสมัยที่ 2
เมื่อคาดการณ์ว่าภาวะสงครามการค้าในปี 63 จะผ่อนคลายขึ้น ยิ่งเป็นปัจจัยบวกกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปี 62 ยิ่งไปกว่านั้นนักวิเคราะห์หลายสำนักต่างพากันคาดการณ์อีกว่าในปี 63 FED จะมีการลดดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯลงอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งจะทำให้ประเทศอื่น ๆ ต้องพากันลดดอกเบี้ยนโยบายตามด้วยเช่นกัน
ขณะที่ ประเทศไทยช่วงเดือน ส.ค.62 และ พ.ย.62 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายของไทยลง 0.25% ทั้ง 2 ครั้ง โดยลดครั้งแรกมาอยู่ที่ 1.50% จากระดับ 1.75% และครั้งล่าสุดลดดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ระดับ 1.25% โดยเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุดนับแต่ดำเนินนโยบายการเงินมาอีกด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ปี 63 หลายฝ่ายยังคงจับตามองว่ากนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกไหม
ด้าน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) คาดว่าในช่วงปี 63 กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับ 1.25% ทั้งปี จากความเสี่ยงด้านต่ำในต่างประเทศที่ปรับลดลงและต้องการรักษา policy space เพื่อรองรับความเสี่ยงในระยะต่อไป โดยหากเกิดปัจจัยลบก็สามารถลดดอกเบี้ยนโยบายพยุงเศรษฐกิจของประเทศได้ทันที
สำหรับ ธนาคารกสิกรไทย ประเมินว่าปี 63 กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับ 1.25% ทั้งปี เนื่องจากระดับดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 1.25% เป็นระดับต่ำสุดแล้วตั้งแต่ดำเนินนโยบายการเงินมา ทำให้เมื่อมองในเชิงเศรษฐศาสตร์นั้น กนง. ไม่สามารถลดดอกเบี้ยนโยบายลงให้ต่ำกว่านี้ได้อีกแล้ว
การลดดอกเบี้ยนโยบายของกนง. 2 ครั้งที่ผ่านมา ปัจจัยหลัก 1 อย่างนั่นคือกนง. ต้องการแก้ไขค่าเงินบาทให้ลดลง แต่พบว่าการลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาทเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ประเทศไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และมีเงินต่างชาติไหลเข้ามาเก็งกำไรในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น
ขณะที่ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ประเมินว่า ดอกเบี้ยนโยบายไม่น่าจะลดลงไปมากกว่านี้แล้ว เพราะแม้จะปรับลดลงไปอีกก็คงไม่สามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัว เป็นผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยช่วงเศรษฐกิจไม่ดีเช่นนี้ธนาคารพาณิชย์มักชะลอการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นแม้ดอกเบี้ยจะลดลงไปมากกว่านี้ ก็คงไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังระมัดระวังการลงทุนท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวด้วย
ธนาคารทีไอเอ็มบี คาดว่ากนง. ต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 4/62 ที่จะออกมาในช่วงเดือน ก.พ.63 ประกอบการตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายในปี 63 โดยหากตัวเลขเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น และการส่งออกยังคงชะลอตัว ก็มีความเป็นไปได้ที่กนง. จะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปี 63 ของรอบประชุมเดือน มี.ค.63
ส่วน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่ามีโอกาสที่ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายปี 63 ลงอีกครั้งในช่วงไตรมาส 1/63 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวลงค่อนข้างแรง นอกจากนี้การขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยปี 63 คงมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ โครงการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งคาดว่าเม็ดเงินจะเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปี 63 และการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาเที่ยวไทยอีกครั้ง แต่การท่องเที่ยวยังมีความไม่แน่นอน และยังเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมอีกด้วย