หนึ่งในเทคโนโลยีที่มาแรงของโลกนั่นคือ บล็อกเชน แม้ภาพของคนส่วนใหญ่จะมองว่าเกี่ยวข้องกับเงินดิจิตอลหรือบิทคอยน์ แต่ความจริงแล้วบล็อกเชนถูกนำมาใช้งานในภาคเศรษฐกิจจริงอย่างแพร่หลายมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางการเงิน
เหตุผลที่ บล็อกเชน จะเข้ามาปฎิวัติธุรกิจการเงินมีดังนี้
หนึ่ง..ลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินไม่จำเป็นต้องจ้างพนักงานจำนวนมากมาทำธุรกรรมอีกต่อไป
สอง..ลดต้นทุนให้กับลูกค้า หลังจากที่สถาบันการเงินมีต้นทุนดำเนินการที่ถูกลงแล้ว ภาระที่ผลักไปให้กับลูกค้าก็จะลดลงตามไปด้วย อีกทั้งเทคโนดลยีใหม่ๆจะช่วยลดขั้นตอนการบริการและกำจัดตัวกลางต่างๆออกไปทำให้ค่าธรรมเนียมการบริการลดลง
สาม..มีความรวดเร็วมากขึ้นเทคโนโลยีที่สดใหม่และยังตัดตัวกลางออกไปอีกอย่างบล็อกเชนจะช่วยให้การทำธุรกรรมการเงินเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น
สี่..สามารถพัฒนา Smart Contract ได้หลากหลายจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการทำธุรกรรมการเงินมีความหลากหลายและรวดเร็ว ช่วยให้เกิดการพัฒนาบริการใหม่ๆมาให้กับลูกค้า
ห้า..มีความโปร่งใสในการตรวจสอบ ด้วยคอนเซบท์ของบล็อกเชนที่กำจัดผู้ที่ทำหน้าที่ตัวกลางออกไปทำให้ลูกค้าสามารตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมต่างๆได้ด้วยตัวเอง หมดปัญหาความไม่โปร่งใส
จุดเด่นที่ว่ามาทำให้สถาบันการเงินทั่วโลกหันมาพัฒนาเทคโนโลยี บล็อกเชน ของตัวเองหรือพัฒนาร่วมกับฟินเทคเพื่อนำมาให้บริการกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นฝั่งธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ หรือ โบรกเกอร์หุ้น โดยมีบริการต่างๆเกิดขึ้นดังนี้
นำมาใช้โอนเงินระหว่างประเทศ
เป็นบริการที่นิยมใช้บล็อกเชนอย่างแพร่หลายมากที่สุด เนื่องจากช่วยลดต้นทุนลงไปได้อย่างมากจากเดิมที่การโอนเงินระหว่างประเทศจะต้องผ่านตัวกลางอย่าง SWIFT หากนำบล็อกเชนมาใช้ก็จะสามารถโอนเงินตรงจากธนาคารอีกประเทศหนึ่งไปถึงธนาคารปลายทางได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องอาสัยตัวกลางหรือแลกเปลี่ยนสองสกุลเงินด้วยเงินดอลลาร์อีกต่อไป บริการโอนเงินนี้มีตั้งแต่ระดับลูกค้ารายย่อยไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่
นำมาใช้กับธุรกรรม Trade Finance
หรือธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ เช่นการเปิดหนังสือค่ำประกันส่งออกนำเข้า (L/C) จากเดิมที่ใช้เอกสารกระดาษซึ่งมีความยุ่งยาก หากเปลี่ยนมาใช้บล็อกเชนจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับทั้งธนาคารและลูกค้านำเข้าส่งออกทั้งสองฝ่าย ขณะเดียวกันยังสามารถใช้บล็อกเชนพิสูจน์สินค้าที่นำเข้าส่งออกได้อีกด้วยว่าเป็นของแท้หรือไม่
บล็อกเชนกับการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จำเป็นต้องมีตัวกลางอย่างโบรกเกอร์ในการช่วยจับคู่ซื้อขาย แต่หากนำบล็อกเชนมาใช้ หน้าที่ของตัวกลางจะหายไป นักลงทุนจะสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์กันได้ด้วยตัวเองโดยมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลงและมีความรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นบริษัทขนาดเล็ก
บล็อกเชนกับการซื้อขายตราสารทางการเงิน
บล็อกเชน ยังสามารถนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายตราสารทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตร ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ที่ถูกนำมาแปลงในรูปแบบของ Tokenize แล้วทำให้สภาพคล่องในการซื้อขายมีมากขึ้นและยังมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง อย่างเช่น ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ที่เริ่มนำบล็อกเชนมาใช้กับการซื้อขายพันธบัตรที่มีมูลค่าสูงให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงได้
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ บล็อกเชน ที่นำมาปฎิวัติรูปแบบการให้บริการทางการเงิน อนาคตบล็อกเชนจะยิ่งมีอิทธิพลมากยิ่งขึ้นไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมทางการเงินแต่รวมถึงภาคธุรกิจทั้งหมด
ธนาคารไทยมุ่งนำบล็อกเชนบริการลูกค้า
อุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทย เดินหน้านำบล็อกเชนมาให้บริการกับลูกค้าทั้งรายบุคคลและลูกค้าธุรกิจ โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดต้นทุน เพิ่มความเร็วในการให้บริการ
ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เข้าลงทุนในบริษัท Ripple ซึ่งเป็นฟินเทคสัญชาติสหรัฐฯผู้พัฒนาระบบการชำระเงินโดยใช้บล็อกเชนและยังเป็นผู้พัฒนาเงินดิจิตอล XRP ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิตอลที่มีการซื้อขายติดห้าอันดับแรกของโลก
คุณสมบัติของเหรียญ XRP สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงินระหว่างประเทศโดยมีต้นทุนต่ำกว่าการโอนเงินในรูปแบบเดิม โดยทำงานอยู่บนบล็อกเชนแบบ Private ไม่ได้อยู่บน Public Blockchain เหมือนกับเงินดิจิตอลอื่นๆ
โดยธนาคารไทยพาณิชย์ได้เปิดให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านแอปพลิเคชั่น SCB Easy โดยใช้เทคโนโลยี XCurrenct ของ Ripple ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการให้บริการที่ต่ำลง โดยก่อนหน้านี้ได้เปิดให้บริการโอนเงินจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยโดยใช้เวลาเพียง 20 นาที โดยมีความร่วมมือกับ SBI Remit สถาบันการเงินชั้นนำของญี่ปุ่น
ด้านธนาคารกสิกรไทย ได้นำบล็อกเชนมาใช้กับธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศโดยให้บริการหนังสือค้ำประกันนำเข้าส่งออกอีเล็กทรอกนิกส์ผ่านบล็อกเชน โดยลูกค้าสามารถขอออกหนังสือค้ำประกัน ต่ออายุ รวมถึงธุรกรรมอื่นๆได้ทางออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยากทางด้านเอกสารและมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง
ปัจจุบันมีลูกค้ารายใหญ่ที่ใช้บริการคือ บริษัท เอสซีจี,ไออาร์พีซี และจีซี มาร์เกตติ้ง ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้งานหนังสือค้ำประกันนำเข้าส่งออกอีเล็กทรอกนิกส์เพิ่มเป็น 50% ของธุรกรรมทั้งหมด จากปัจจุบันอยู่ที่ 38%
ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้นำบล็อกเชนมาให้บริการกับลูกค้าโดยให้บริการ Krungsri Blockchain Interledger โอนเงินจาก สปป.ลาว มายังประเทศไทยแบบเรียลไทม์ทั้งสกุลเงินดอลลาร์และเงินบาท โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีจากเดิมที่ต้องใช้เวลา 1-3 วันทำการ โดยใช้เทคโนโลยีของบริษัท Ripple ก่อนหน้านี้ยังมีการทดลองบริการโอนเงินจากประเทศไทยไปยังสิงคโปร์ผ่านบล็อกเชนโดยใช้เทคโนโลยี RippleNet
ขณะที่ลูกค้าธุรกิจ ได้นำบล็อกเชนกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และ Deep Learning มาให้บริการด้านบริหาร Supply Chain ให้กับบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงไทย รองรับการซื้อขายระหว่างเครือข่ายผู้จัดจำหน่าย เครือข่ายร้านค้าและลูกค้ารวมถึงการออกเอกสารรูปแบบต่างๆ ช่วยในการลดต้นทุนทางการเงินและระยะเวลาในการทำธุรกรรม
ขณะที่ธนาคารธนชาตได้ให้บริการหนังสือค้ำประกันนำเข้าส่งออกบนบล็อกเชนให้กับบริษัทในเครือปตท. ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ปตท.,ไออาร์พีซี,ไทยออยล์ และ พีทีที โกลบอล เคมีคอล
ทั้งนี้ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทยและรัฐวิสาหกิจและองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ 7 แห่ง ได้รวมตัวกันจัดตั้ง Thailand Blockchain Community Initative เพื่อมุ่งนำบล็อกเชนมาใช้ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย เริ่มต้นที่ธุรกรรมนำเข้าส่งออก
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งเสริมให้สถาบันการเงินในประเทศพัฒนาบริการและเทคโนโลยีการชำระเงินให้สอดคล้องกับความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันภายใต้ชื่อ ASEAN Payment Connectivity ตามกรอบความร่วมมือของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมุ่งใช้เทคโนโลยีในการชำระเงินระหว่างประเทศอาเซียนมีความสะดวกมากขึ้นรองรับการค้าขายระหว่างกัน
มูลค่าตลาดบล็อกเชนทั่วโลกเติบโตเฉลี่ยปีละ 51% นับจากปี 2016-2022 คาดปี 2022 จะมีมูลค่าตลาดแตะ 26,000 ล้านเหรียญ
บล็อกเชนจะสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้ 300 ล้านล้านเหรียญในปี 2573
ข้อมูล: Reuter
สัดส่วนการใช้งานบล็อกเชนในแต่ละอุตสาหกรรม
การเงิน 46% อุตสาหกรรมและการผลิต 12% พลังงาน 12%สุขภาพ 11% ภาครัฐ 8% ค้าปลีก 4% บันเทิง 1%
ข้อมูล: PWC Global Blockchain Survey 2018